xs
xsm
sm
md
lg

WWF Thailand เรียกร้องยุติธุรกิจฟาร์มเสือโคร่ง “หลังกรมอุทยานฯ นำร่องบุกตรวจฟาร์มเสือมุกดา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย หรือ WWF Thailand ออกมาชื่นชมการทำงานของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรณีเข้าไปตรวจสอบกิจการฟาร์มเสือโคร่ง “มุกดาสวนเสือและฟาร์ม” ภายใต้การปฏิบัติการต่อต้านการลักลอบครอบครองสัตว์ป่าในกิจการสวนสัตว์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตในการดำเนินกิจการ

พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) แสดงความชื่นชมต่อปฏิบัติการเชิงรุก และความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการสืบสวนอย่างเข้มข้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพกรณีการเข้าตรวจสอบกิจการฟาร์มเสือโคร่ง “มุกดาสวนเสือและฟาร์ม” เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา กรณีดังกล่าว จะส่งผลดีต่อการทำงานอนุรักษ์เสือโคร่ง สัตว์ป่าคุ้มครองที่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์

“ปัจจัยคุกคามชีวิตของเสือโคร่งไม่ใช่แค่เรื่องของการตัดไม้ทำลายป่า หากแต่อยู่ที่การล่าสัตว์ จากความต้องการบริโภคชิ้นส่วนของเสือโคร่งในท้องตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน เสือโคร่งจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อการล่าเพื่อการค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันเมื่อประชากรเสือโคร่งในป่าลดน้อยลง ประกอบกับมาตรการในการปกป้องสัตว์ป่าและพื้นที่ป่า ทำได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น การล่าก็ทำได้ยากขึ้น ธุรกิจสวนเสือ หรือสวนสัตว์จึงถูกทำให้เข้าใจว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้าชิ้นส่วนของเสือโคร่ง”

พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แถลงความคืบหน้าจากการตรวจสอบกิจการของมุกดาสวนเสือและฟาร์ม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ตรวจยึดเสือโคร่งจำนวน 5 ตัว และได้ตรวจสอบรหัสพันธุกรรมลูกเสือโคร่ง จำนวน 3 ตัว พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับเสือโคร่งที่ถูกแจ้งว่าเป็นพ่อ และ แม่แต่อย่างใด โดยกรณีดังกล่าวทำให้มีการพักใบอนุญาตประกอบกิจการของมุกดาสวนเสือและฟาร์มเบื้องต้น 30 วัน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564

จากกรณีดังกล่าว นำไปสู่การเข้าดำเนินการตรวจสอบกิจการสวนสัตว์มุกดาสวนเสือ ในระยะเวลา 90 วัน ซึ่งพบความเชื่อมโยงในการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน กับความเป็นไปได้ในการลักลอบนำเข้า หรือปลอมแปลงที่มาของเสือโคร่ง เป็นการกระทำความผิดตามประราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ฐาน “มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” และเป็นการถูกพักใบอนุญาตเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 365 วัน นำไปสู่การต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้าน เจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย WWF ประเทศไทย กล่าวว่าขอแสดงความชื่นชมต่อการทำงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยการแถลงข่าวความผิดกรณีสวนเสือมุกดา ถือเป็นก้าวแรกในการตรวจสอบความโปร่งใสของธุรกิจฟาร์มเสือในประเทศไทย และการทำงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

“กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทำงานอย่างหนัก และเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่ดี ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศไทย แต่สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ยังคงมีธุรกิจฟาร์มเสือโคร่ง ชี้ให้เห็นว่าเรื่องของการผสมพันธุ์เสือในกรง ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ด้านธุรกิจ ในส่วนขององค์กรอนุรักษ์ เรามั่นใจว่ากระบวนการตรวจสอบจะเป็นตามขั้นตอน เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต”

ทั้งนี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ทำงานกับเครือข่ายทั่วโลกในการป้องปรามและหยุดยั้งธุรกิจค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รวมทั้งปกป้องเสือโคร่งในป่าที่เหลืออยู่ทั่วโลกเพียง 3,900 ตัว นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้มีการตรวจสอบธุรกิจฟาร์มเสือโคร่งที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีน โดยเชื่อว่าเป็นหนึ่งในช่องทางการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ส่งผลคุกคามต่อชีวิตของเสือโคร่งในป่า และการอนุรักษ์เสือโคร่ง

การมีอยู่ของฟาร์มเสือหรือสวนเสือเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจจากเสืออย่างไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากตามรูปแบบของการดำเนินธุรกิจสวนสัตว์ดังกล่าวจำเป็นต้องทำกำไรให้ได้มากที่สุด ดังนั้น กลุ่มธุรกิจบางส่วนอาจมีการสนับสนุนให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากเสือในกรงในรูปแบบต่างๆ เช่น การลักลอบค้าผลิตภัณฑ์จากเสือ หรือการวางยาเสือเพื่อให้เสือสามารถถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวได้ เป็นต้น

WWF เรียกร้องให้ธุรกิจฟาร์มเสือค่อยๆ ยุติหรือปิดลง เพราะการมีอยู่อาจนำไปสู่อาชญากรรมค้าสัตว์ป่า และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการการใช้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนของเสือโคร่ง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่ภัยคุกคามทำให้เกิดการล่าเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ

“การผสมพันธุ์เสือในกรง ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ อาจมีเป้าหมายในเชิงธุรกิจและการค้า” เจษฎาเสริมอีกว่า “การจัดทำฐานข้อมูลของสัตว์ที่เป็นระบบและมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อความโปร่งใส โดยหากการขยายพันธุ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านการวิจัยทางวิชาการ ก็ควรมีการชี้แจงและทำเอกสารทุกขั้นตอนอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ WWF ยินดีที่จะสนับสนุนกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของเสือโคร่ง 1500 ตัว ในฟาร์มเสือที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 39 แห่ง”

ข้อมูลอ้างอิง https://www.wwf.or.th/our_news/news/


กำลังโหลดความคิดเห็น