องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกแสดงความคิดเห็นต่อสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เริ่มขยับร่างมาตรฐานปางช้าง แต่ยังมีความกังวลเรื่องที่ร่างดังกล่าวยังระบุให้ช้างเป็น “สินค้าเกษตร” และยังอนุญาตให้ฝึกช้างเพื่อแสดงโชว์ ซึ่งเป็นการสร้างความทุกข์ทรมานต่อช้างและเข้าข่ายเป็นการค้าสัตว์ป่ารูปแบบหนึ่ง
นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ระบุว่าเมื่อไม่นานมานี้ มกอช. ได้จัดทำร่าง “มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง” โดยมีเป้าหมายเพื่อการปรับปรุง การเลี้ยงช้างให้เหมาะสม เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ แก้ไขปัญหาการทารุณกรรมช้าง และยกระดับมาตรฐาน ปางช้างไทย โดยทางองค์กรฯ ชื่นชมความก้าวหน้าด้านนโยบายที่มีการนำแนวคิดอิสรภาพห้าประการ (Five Freedoms) ของสัตว์มาประยุกต์ใช้ เพราะเป็นหนึ่งในเรื่องที่พยายามผลักดันเชิงนโยบายมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์เนื้อหาในร่างมาตรฐานดังกล่าว องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังมีข้อกังวลหลายด้านโดยเฉพาะการที่ร่างดังกล่าวกำหนดให้ช้างเป็น “สินค้าเกษตร” ซึ่งถือเป็นการค้าสัตว์ป่ารูปแบบหนึ่ง อีกทั้งการยังอนุญาตให้มีการฝึกช้างด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณเพื่อนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ ตลอดจนยังขาดมาตรการยุติหรือจำกัดการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านจริยธรรม เศรษฐกิจ และความปลอดภัยตามมาได้ในอนาคต
นายปัญจเดช เปิดเผยว่า “ช้างเป็นสัตว์ป่าและสัญลักษณ์ของประเทศไทย แต่ร่างฉบับนี้กลับมองช้าง เป็นเพียงสินค้าเกษตรเท่านั้น ซึ่งการที่ยังอนุญาตให้มีการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์อย่างเสรี ตลอดจนการนำช้างเหล่านี้มาผ่านกระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณมากมายนั้นมีปัญหาอย่างมาก ตั้งแต่การขัดอนุสัญญาว่าด้วยการ ค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) การส่องออกช้างไทยไปต่างประเทศ”
“เรามองว่ากระบวนการของ มกอช. ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์ จะเห็นว่าสัดส่วนของคณะกรรมการร่างมาตรฐานฉบับนี้ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมรวมอยู่ด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้เนื้อหาโดยรวมขาดมุมมองหรือข้อคิดเห็นด้านวิชาการที่รอบด้านอย่างเหมาะสมและเพียงพอ” นายปัญจเดช กล่าว
ด้านนายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยว่าการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ป่าไม่เพียงเป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีกระแสการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น
“ผลการสำรวจของเราพบว่านักท่องเที่ยวเริ่มใส่ใจประเด็นสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ และตระหนักถึงกิจกรรมที่สร้างความโหดร้ายทารุณอย่างโชว์ช้างและขี่ช้างน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าหากภาครัฐและภาคเอกชนยังเพิกเฉย ไม่เร่งปรับปรุงมาตรฐานปางช้างให้เป็นไปตามหลักสากลโดยเร็ว ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยก็อาจจะตกต่ำลงในสายตาชาวโลกหรือแย่ไปกว่านั้น อาจถึงขั้นโดนนานาชาติไม่พอใจพร้อมไม่ให้การสนับสนุนได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาลิงเก็บมะพร้าวในอุตสาหกรรมกะทิและปัญหาสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมง”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้ภาครัฐและเอกชนไทยยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ และหันมาดูแลช้างที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างมีสวัสดิภาพผ่านรูปแบบ “ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง” ซึ่งให้ช้างใช้ชีวิตอิสระ มีโอกาสแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ ไม่มีโชว์ช้าง ขี่ช้าง หรือกิจกรรมที่บังคับให้ช้างต้องปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยว ปัจจุบัน ทำได้จริงแล้วในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย