กรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีสื่อต่างชาติรายงาน“จตุจักร” อาจเป็นต้นกำเนิดเชื้อโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่น ไม่เป็นความจริง ย้ำประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ อย่างเข้มข้น และผลการสำรวจเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ พบว่า เชื้อไวรัสโคโรนาเป็นคนละสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าค้างคาวมงกุฎ แพร่เชื้อโควิด-19 ในไทย
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีที่มีสื่อต่างประเทศ รายงานข่าวว่า “ตลาดนัดสวนจตุจักร” อาจเป็นต้นกำเนิดของเชื้อโควิด-19 ก่อนมีการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน นั้น กรมควบคุมโรค ขอชี้แจงว่าในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่าเชื้อติดต่อจากค้างคาวไปสู่คน ทั้งนี้ ปัจจุบันไม่พบการจำหน่ายค้างคาวในตลาดนัดสวนจตุจักรแต่อย่างใด สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยร่วมกัน ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่อง โรคจากค้างคาว เพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ มาอย่างต่อเนื่อง ผลการวิจัยเบื้องต้น พบว่า ค้างคาวมงกุฎที่อาศัยในถ้ำเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด มีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด 19 ร้อยละ 91.5 แต่ไม่สามารถติดต่อไปสู่คน ทั้งนี้ การไม่กิน ไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาวนับเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินโครงการควบคุมป้องกันโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาเชื้อโรคที่แอบแฝง รวมถึงหารือแผนปฏิบัติการป้องกันกำจัดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตลาดค้าสัตว์ป่า โดยกำหนดให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่า และตลาดค้าสัตว์เลี้ยง 5 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ตลาดจตุจักร ตลาดมีนบุรี ตลาดพุทธมณฑล เป็นประจำ
นอกจากนี้ ได้มีสำรวจและเก็บตัวอย่างโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่มในตลาดนัดสวนจตุจักร เช่น กระรอก แมว สุนัข หนู กระต่าย และสัตว์จากต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ เป็นต้น เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 พบว่า เชื้อไวรัสโคโรนาเป็นคนละสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพของประชน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสกับสัตว์ พร้อมทั้งสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรค หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422