xs
xsm
sm
md
lg

ทีมเชี่ยวชาญ WHO ระบุไม่น่าจะใช่เลย ไวรัสโควิด ‘หลุด’ จากห้องแล็บเมืองอู่ฮั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติของ WHO ที่เดินทางไปตรวจสอบในจีน ระบุ ไม่น่าเป็นไปได้เป็นอย่างยิ่งที่ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำให้ป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะหลุดมาจากห้องแล็บในเมืองอู่ฮั่น นอกจากนั้น พวกเขาพบว่า ในเมืองนี้ไม่ได้พบการระบาดก่อนเดือนธันวาคม 2019 ถึงแม้ยังไม่สามารถระบุสัตว์ที่เป็นพาหะของไวรัสโคโรนาได้ ขณะเดียวกัน WHO ยืนยันว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกายังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 หลังจากแอฟริกาใต้ประกาศเลื่อนการเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชน

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่าโรค โควิด-19 ที่ล่าสุดทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 106 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 2.3 ล้านคนนั้น มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว และอาจมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกชนิดหนึ่งเป็นพาหะถ่ายทอดจากค้างคาวต่อมายังมนุษย์

เหลียง วานเหนียน หัวหน้าทีมตรวจสอบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในจีน แถลงเมื่อวันอังคาร (9 ก.พ.) ว่า แม้แนวคิดดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นไปได้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุโฮสต์กักตุน (reservoir host  สัตว์ที่เป็นแหล่งกักตุนเชื้อโรคตามธรรมชาติและสามารถแพร่เชื้อโรคไปยังสัตว์อื่นๆ และคน) ได้

เขาเสริมด้วยว่า ในอีกด้านหนึ่ง ผลศึกษาหลายฉบับแสดงให้เห็นว่า ไวรัสสามารถแพร่เชื้อไปไกลผ่านสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งเท่ากับมีความเป็นไปได้ว่า ไวรัสโคโรนาอาจมาจากประเทศอื่น ทั้งนี้ ทฤษฎีนี้เป็นที่แพร่หลายอย่างมากในจีนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

เหลียง สำทับว่า ไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่า มีการระบาดของโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่พบไวรัสมรณะนี้ ก่อนเดือนธันวาคม 2018 ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มแรกอย่างเป็นทางการ

ทางด้าน ปีเตอร์ เบน เอ็มบาเรค ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติของ WHO ที่เคยประจำอยู่ในปักกิ่งนาน 2 ปี นับจากปี 2009 และเป็นหัวหน้าของทีมผู้เชี่ยวชาญทีมนี้ สนับสนุนสมมติฐานดังกล่าว และเสริมว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มีการระบาดครั้งใหญ่ในอู่ฮั่นก่อนหน้านั้น

ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO ใช้เวลาในจีน 1 เดือน โดย 2 สัปดาห์แรกเป็นช่วงกักตัวหลังเดินทางถึง และอีกสองสัปดาห์จึงเป็นการทำงานภาคสนาม

ทีมผู้เชี่ยวชาญใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ในตลาดอาหารทะเลที่พบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนระลอกแรก และดูเหมือนประชุมกับเจ้าหน้าที่จีนอยู่ภายในโรงแรมหลายวันโดยไม่ได้เดินทางไปยังสถานที่ใด อย่างไรก็ดี ทีมงานนี้ใช้เวลาถึงเกือบ 4 ชั่วโมงในสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น และได้พบนักวิจัยจีนหลายคน ซึ่งรวมถึงสือ เจิ้งลี่ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของจีนด้านไวรัสโคโรนาในค้างคาว และเป็นรองผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการอู่ฮั่น

นักวิจัยในห้องปฏิบัติการอู่ฮั่นได้ทำการวิจัยโรคอันตรายที่สุดบางอย่างของโลก ซึ่งรวมถึงไวรัสโคโรนาในค้างคาว อันเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับโควิด-19

อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยอวดอ้างทฤษฎีว่า ห้องปฏิบัติการดังกล่าวอาจเป็นต้นทางที่ปล่อยไวรัสโคโรนาออกมา

ทว่า เอ็มบาเรค กล่าวในการแถลงข่าวคราวนี้ สิ่งที่คณะของเขาค้นพบคราวนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า สมมติฐานเรื่องห้องปฏิบัติการที่อู่ฮั่น “ไม่น่าเป็นไปได้อย่างที่สุดที่จะอธิบายถึงการที่ไวรัสแพร่เข้าสู่ประชากรมนุษย์” และจึงจะไม่ได้รับการเสนอแนะให้เป็นเส้นทางหนึ่งสำหรับการศึกษาต่อไปในอนาคต

ในอีกด้านหนึ่ง ระหว่างการแถลงข่าวทุก 2 สัปดาห์ ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ในนครเจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันจันทร์ (8) WHO ยังกล่าวถึงวัคซีนของแอสตราเซเนกา/มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยยืนยันว่า วัคซีนนี้ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 ทั้งนี้ หลังจากแอฟริกาใต้ประกาศเลื่อนการเริ่มฉีดวัคซีนตัวนี้ให้ประชาชน เนื่องจากกังวลกับประสิทธิภาพของมันในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยจะขอรอข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทแห่งนี้ก่อน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการทดลองของมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ ในเมืองโยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ได้ข้อสรุปว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาสามารถป้องกันได้น้อยมาก สำหรับการเกิดอาการป่วยระดับเล็กน้อยจนถึงปานกลาง จากโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่พบหนแรกในแอฟริกาใต้

ทว่า ริชาร์ด แฮตแชตต์ ผู้อำนวยการของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (เซปี) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวของ WHO คราวนี้ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะทิ้งวัคซีนของแอสตราเซเนกา

ด้านโฆษกแอสตราเซเนกาออกมาแสดงความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันว่า วัคซีนของบริษัทสามารถป้องกันอาการรุนแรงจากโควิด-19 ได้และเสริมว่า นักวิจัยได้เริ่มปรับปรุงวัคซีนเพื่อยกระดับการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วทั่วโลกในขณะนี้แล้ว

(ที่มา: เอพี, เอเอฟพี, รอยเตอร์)




กำลังโหลดความคิดเห็น