xs
xsm
sm
md
lg

'หมอธีระวัฒน์'ยันไวรัสโควิด-19 ไม่ได้แพร่จากไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก
“ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha”ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้แพร่จากประเทศไทย 24/2/64 ต้นตอของโควิด-19 ความจริงเป็นที่ระแคะระคายว่าจะเกิดตัวใหม่นี้ตั้งแต่ประมาณปี 2003 และ 2004 โดยนักวิทยาศาสตร์ประเทศจีนเข้าไปสำรวจค้างคาวที่แพร่เชื้อซาร์ส ปรากฏว่า ค้างคาวเหล่านี้ มีไวรัสหน้าตาคล้ายซาร์ส อยู่หลายตัว และเป็นที่กริ่งเกรงว่าน่าจะมีการควบรวมประกอบร่างกลายเป็นตัวใหม่ขึ้นมาอีก


การศึกษาในประเทศเขมร โดยนักวิทยาศาสตร์สถาบันปาสเตอร์ โดยดูเชื้อไวรัสจากค้างคาวมงกุฎ (Rhinolophus) ที่สะสมได้ในปี 2010 พบว่า ค้างคาว R.shameli ก็มีเชื้อไวรัสที่มีลักษณะเป็นแม่พิมพ์หรือจะเรียกว่าเป็นตัวปั๊มของ โควิด-19 และรายงานนี้ตีพิมพ์ในปี 2020
ในปี 2012 ในประเทศจีนมีคนงานในเหมืองทองแดงเสียชีวิตด้วยปอดบวมสามราย ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร แต่คณะนักวิทยาศาสตร์เข้าไปสำรวจแล้วพบว่ามูลของค้างตาวที่ชื่อ R.affinis มีเชื้อคล้ายคลึงกับ โควิด-19 มากที่สุดโดยมีส่วนที่สามารถจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ได้ ไวรัสตัวนี้ จะเรียกเป็นตัวแม่ของโควิด-19 ก็ว่าได้ และตั้งชื่อเป็น RaTG13 ตามชื่อสายพันธุ์ของค้างคาว และตามสถานที่เมืองที่พบ (Tongquan) ตามด้วยเวลา

เช่นกัน ตัวอย่างที่ได้จากสัตว์ต่างๆ และมูลค้างคาวที่เก็บในช่วงปี 2013 ถึง 2014 และได้ตีพิมพ์ในปี 2020 จากการสำรวจ 70 แห่งทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามพบไวรัสโคโรนา ที่ไม่ใช่ โควิด-19 แต่เป็นไวรัสทั้งในกลุ่มอัลฟ่า เบต้าและแกมมา โดยพบได้ 58 จาก 70 แห่ง

ทั้งนี้ในที่มีการขายหนูเป็นอาหารครบทั้ง 24 แห่งที่ตรวจและในสถานที่ที่เลี้ยงสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ จะพบ 17 ใน 28 แห่งและในที่ๆ มีค้างคาวและเก็บมูลมาทำปุ๋ยครบ 16 ใน 17 แห่ง


ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่ามีไวรัสโคโรนาที่แม้ไม่ใช่ โควิด-19 แต่เตรียมพร้อมที่จะรับไวรัสโคโรนาที่เป็นแม่พิมพ์จากค้างคาว เข้ามาผสมควบรวมประกอบร่างใหม่ได้
และในปี 2020 ในประเทศจีนก็ยืนยันว่ามีไวรัสที่เป็นแม่พิมพ์หรือตัวปั๊มในค้างคาวมงกุฎ R malayanus และตั้งชื่อว่า RmYN02 จากมณฑลยูนนาน


นอกจากนั้น พบว่าไวรัสในตัวลิ่นหรือตัวนิ่ม ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับไวรัสที่พบในค้าวคาว


ในขณะเดียวกันก็ยังพบเชื้อไวรัสที่คล้ายคลึงใกล้เคียงกับ โควิด-19 มากที่สุดโดยมีท่อนที่สามารถจับกับตัวรับและเข้ามาติดเชื้อในมนุษย์ได้คือ RmTG13
และในปี 2020 รายงานจากญี่ปุ่นเอง ก็พบไวรัสที่เหมือน YN02 จากค้างคาว R.cornatus

ในประเทศไทยโดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่-กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่วมกับ Duke-NUS ของสิงคโปร์ ก็พบเชื้อไวรัสหน้าตาคล้าย เกีอบเหมือน YN02 ในค้างคาวมงกุฎ R.acuminatus ที่ฉะเชิงเทรา (Nature communication 2021) ตั้งชื่อเป็น RacCS203

ทั้งนี้ เป็นการวิเคราะห์ทั้งไวรัสที่ได้จากการป้ายเก็บเชื้อจากทวาร รวมทั้งมีการเก็บเลือดหาลักษณะของการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสด้วย และที่น่าแปลกก็คือถึงแม้ว่าลักษณะของไวรัสนั้นจะขาดท่อนที่จับติดกับมนุษย์หรือ ส่วนที่เรียกว่า receptor binding domain (RBD) ก็ตาม แต่เลือดของค้างคาว ก็สามารถยับยั้งไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม โควิด-19 ได้ที่มีส่วนของ RBD
การที่พบเชื้อไวรัสตัวแม่พิมพ์หรือตัวปั๊มแบบนี้ อย่าเข้าใจผิดว่า เชื้อไวรัส โควิด-19 มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศไทย ทั้งนี้เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยของค้างคาว สายพันธุ์นี้กว้างขวางไปหมดทั้งประเทศจีนและเอเชียกลาง พม่า ลาว เขมร เวียดนามฟิลิปปินส์เลยไปถึงอินโดนีเซีย


แต่ถิ่นของค้างคาว ที่ครองเชื้อคล้าย โควิด-19 นี้จะแตกต่างกับถิ่นของค้างคาวที่ครองเชื้อคล้ายซาร์ส (รูปภาพประกอบใน
วารสาร Nature communications)
การพบเชื้อในลักษณะนี้เป็นการตอกย้ำว่าในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีการควบรวมประกอบร่างของไวรัสที่เป็นตัวปั๊มหรือแม่พิมพ์ที่พร้อมจะผสมรวมกับไวรัสอื่นที่อยู่ในตระกูลโคโรนาในสัตว์อื่นๆ และทั้งนี้แม้ตัวโควิด-19 เองก็ตามก็มีศักยภาพและความสามารถที่จะแพร่เข้าไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นทั้งหมา แมว เสือ ลิง ชะนีและมิ้งค์ ดังที่มีการฆ่าไปหลายล้านตัว และการที่จะเข้าไปในสัตว์อื่นนั้น ไวรัสจากคนเองต้องปรับเปลี่ยนหน้าตาเพื่อให้อยู่กับสัตว์ชนิดใหม่ได้ และยิ่งไปกว่านั้น ไวรัสที่อยู่กับสัตว์เหล่านี้มีรายงานทยอยตามกันมาว่าสามารถกลับเข้ามาติดมนุษย์ใหม่ได้


สิ่งที่มนุษย์โลกต้องเผชิญต่อจากนี้ เป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่างเชื้อโรคกับคนทั้งนี้ การหาไวรัสในสัตว์ต่าง ๆ นั้น อาจเป็นเรื่องรองแล้ว


ทั้งนี้จากการที่เราสำรวจไวรัสในสัตว์ป่ารวมทั้งค้าวคาวมา 20ปีแล้ว พิสูจน์ยืนยันชัดเจนว่าไวรัสมีความสามารถในการผ่องถ่ายตัวเองจากสัตว์อมโรคโอยสัตว์ไม่มีอาการมายังสัตว์ชนิดอื่น และในที่สุดมาเข้าคนแล้วจากนั้นมีการติดต่อจากคนสู่คนด้วยกัน


สิ่งที่ต้องทำโดยรีบด่วนคือต้องมีความสามารถในการตอบโจทย์ว่า คนที่มีการติดเชื้อนั้น ติดเชื้อจากอะไร เชื้อที่ติดนั้น เป็นเชื้อที่เรารู้กันอยู่แล้ว หรือเป็นเชื้อที่หน้าตาเปลี่ยนไป เช่นกลุ่มวาเรียนท์ของโควิด19 หรือจะเป็นโควิดหน้าตาใหม่เอี่ยม ที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมกระทั่งถึงไวรัสในกลุ่มครอบครัวอื่นๆ ทั้ง 24 ครอบครัวเป็นต้น ซึ่งในที่สุดก็จะดาหน้าเข้ามาติดเชื้อในมนุษย์
และวิธีการตรวจนั้นต้องสามารถเข้าถึงได้ ตรวจได้รวดเร็ว จำนวนมากและแน่นอนราคาจับต้องได้ และเมื่อทราบว่าเป็นเชื้ออะไร จะได้รักษาถูกป้องกันได้ทันท่วงทีจนกระทั่งถึงพัฒนายาและวัคซีนแบบใหม่ขึ้นมาได้ทันกาล 
เมื่อนั้นเราถึงจะเสมอกับเชื้อในสงครามครั้งนี้แต่ยังคงไม่ถึงกับชนะเด็ดขาด