xs
xsm
sm
md
lg

“ซ่อมวัฒนธรรมเดิม สร้างวัฒนธรรมใหม่” วาระประเทศไทยในโลกหลังโควิด! / ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้างได้ค่อยๆ บูรณาการวัฒนธรรมอันหลากหลาย ผ่านกระบวนการ “ผนวกรวม” และ “การปรับใช้” 4 วัฒนธรรมฐานราก คือ

1. วัฒนธรรมเกษตรดั้งเดิม
2. วัฒนธรรมอินเดีย
3. วัฒนธรรมจีน
4. วัฒนธรรมตะวันตก (ลิขิต ธีรเวคิน)


ฐานรากทั้ง 4 วัฒนธรรมได้สร้าง "คุณลักษณ์ความเป็นไทย" ที่นำมาสู่การรังสรรค์ในบริบทต่างๆประกอบไปด้วย

1. “ความละเอียดพิถีพิถัน” สะท้อนผ่านงานจิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์และสถาปัตยกรรม
2. “ทักษะฝีมือเชิงช่าง” รังสรรค์ผ่านเครื่องเงินเครื่องทอง เครื่องไม้ เครื่องจักสาน
3. “เปิดรับและประยุกต์” รังสรรค์ผ่านอาหาร วรรณกรรม ดนตรี และการแสดง
4. “ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม” รังสรรค์ผ่านอาหาร เครื่องแต่งกาย และสมุนไพร
5. “วิถีชีวิตเกษตร ใกล้ชิดธรรมชาติ” รังสรรค์ผ่านอาหาร เครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้
6. “ความเชื่อและศาสนา” รังสรรค์ผ่านประติมากรรม วรรณกรรม และพิธีกรรม
7. “ความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา” รังสรรค์ผ่านเทศกาล ประเพณี การละเล่น การแสดง และดนตรี
8. “ความเป็นกันเอง มีน้ำใจ เคารพผู้ใหญ่” รังสรรค์ผ่านงานบริการ การดูแลสุขภาพ สปา โรงแรม
9. “มองโลกในแง่บวก และสร้างสรรค์” รังสรรค์ผ่านงานโฆษณา ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น และงานออกแบบ (เอกวิทย์ ณ ถลาง)

ทั้ง 9 คุณลักษณ์สะท้อน “ความเป็นไทย” ที่โดดเด่น เป็น “คุณค่า” ที่สามารถสร้าง “มูลค่า”ในตัวมันเอง จึงเป็นขุมทรัพย์สำคัญในการสร้างความมั่งคั่งจาก “ระบบเศรษฐกิจเพิ่มมูลค่า” เป็น “ระบบเศรษฐกิจสร้างมูลค่า” ผ่านระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) บนฐานวัฒนธรรม

อย่างไรก็ดี ทั้ง 4 วัฒนธรรมถูกรับเข้ามาในสังคมไทยในลักษณะ “ผสมผสานอย่างหลวมๆ” ไม่ได้มีการสังเคราะห์หรือบูรณาการ เพื่อสร้างเป็นวัฒนธรรมใหม่อย่างจริงจัง บ่อยครั้งที่วัฒนธรรมย่อยดังกล่าวมีความขัดแย้ง ไม่สอดคล้องกัน เป็นต้นว่า ส่วนที่รับจากวัฒนธรรมจีนในเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูง กับส่วนที่รับมาจากวัฒนธรรมตะวันตกที่เน้นความสามารถและการแข่งขัน เวลาจะเอื้อประโยชน์ต่อมิตรสหาย ก็จะเกิดความรู้สึกที่ขัดเขิน หรือบางส่วนจากวัฒนธรรมอินเดีย ที่เน้นพิธีกรรม บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเรียกขวัญกำลังใจ จะขัดกับส่วนของวัฒนธรรมตะวันตกที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผล

ปัญหาของประเทศไทย คือ แม้สภาพแวดล้อมจะแปรเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่วัฒนธรรม ค่านิยม และพฤติกรรมแบบเดิมๆ ก็ยังคงดำรงอยู่ จนเกิดสภาวะ “ความเหลื่อมของวัฒนธรรมกับรูปแบบการพัฒนา” หรือ “Cultural Lag” (ลิขิต ธีรเวคิน)
แน่นอนทีเดียว ทุกวัฒนธรรมมีข้อดีและข้อเสีย มีจุดเด่นและจุดด้อย ในวัฒนธรรมไทยเองก็มีค่านิยมบางประการที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่โลกที่หนึ่ง อย่างน้อยมีค่านิยม 2 ชุดใหญ่ที่จะต้องถูกทบทวนและปรับเปลี่ยนในวัฒนธรรมไทยในลำดับต้นๆ:

1. ระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ชน และ อำนาจนิยม
2. วัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม

*ระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ชน และ อำนาจนิยม
ระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ชน และอำนาจนิยมได้หล่อหลอมนิสัยใจคอ และพฤติกรรมของคนไทย จนกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการสร้างสังคมประชาธิปไตย เช่น นิสัยการทำงานที่ยึดตัวบุคคลมากกว่ายึดหลักการ เรียกร้องแต่สิทธิไม่สนใจหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ คิดเอาตัวรอด ขาดอุดมการณ์เพื่อชาติ มุ่งประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง มองเรื่องส่วนรวมเป็นเรื่องธุระไม่ใช่ ไม่กล้าแสดงออกหรือเสนอข้อขัดแย้ง นิสัยรักสนุก แต่ไม่มีวินัย มุ่งทำงานเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน แสวงหาประโยชน์จากระบบพันธะอุปถัมภ์ จากตำแหน่งราชการ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง จนเกิดปัญหาคอร์รัปชั่นและการประพฤติมิชอบตามมา

พฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้คุณธรรมจริยธรรมในสังคมเสื่อมทรามลง นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากร และผลประโยชน์ของชาติอย่างไม่เป็นธรรม

มิเพียงเท่านั้น ระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ชน และอำนาจนิยมได้แทรกซึมผ่านความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีรัฐราชการเป็นแกนกลาง นั่นคือ ระบบราชการสมัยใหม่ กองทัพประจำการ กฎหมายสมัยใหม่ ระบบศาล และระบบรวมศูนย์อำนาจบริหารไว้ที่ส่วนกลาง ที่รับมาจากโลกตะวันตก หรือแม้แต่แนวคิดประชาธิปไตยในช่วงปี 2475 ซึ่งต่างก็ได้รับผลกระทบ กระทั่งถูกแปรเปลี่ยนรูปลักษณ์ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับโดยระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ชน และอำนาจนิยม กันทั่วหน้า (เสกสรร ประเสริฐกุล)


*วัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม
สังคมไทยได้รับเอา วัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยมในช่วงของการปรับเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรม สู่ สังคมอุตสาหกรรมผ่านระบบทุนนิยม

วัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม เป็นด้านลบของระบบทุนนิยม แต่ในด้านบวกของระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขัน การยึดหลักธรรมาภิบาล การเคารพกฎกติกา กลับไม่ได้ถูกสังคมไทยนำมาใช้อย่างเต็มที่ เพราะถูกอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ชน และอำนาจนิยมเข้าบดบัง

วัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม ถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้นด้วย “คุณค่าที่ยึดรูปแบบที่ไร้เนื้อหา” “ความฉาบฉวยมักง่าย” และ “การแสดงออกที่เกินงาม” ที่ซึมลึกอยู่ในสังคมไทย

มีชาวต่างชาติตั้งข้อสังเกตว่า “สังคมไทยมีความทันสมัย แต่ไม่พัฒนา” กล่าวคือมีรูปแบบ แต่เนื้อหาตื้นเขิน เป็นสังคมผักชีโรยหน้า กระทำการต่างๆเพื่อการประดับประดา เอาหน้า มากกว่าเพื่ออรรถประโยชน์อย่างแท้จริง จึงไม่แปลกใจที่มีคนต่างชาติกล่าวว่า “คนไทยส่วนใหญ่จบการศึกษาสูง แต่ความรู้ยังไม่ได้มาตรฐาน”

การยึดรูปแบบไร้เนื้อหา ไปด้วยกันกับความฉาบฉวยมักง่าย คนไทยส่วนใหญ่เป็น “นักเก็งกำไร” มากกว่า “นักลงทุน” เล็งผลระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ชอบอยู่ในโลกแคบๆที่ปลอดภัย ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ มากกว่าในโลกกว้างที่ท้าทาย
ด้วยการยึดรูปแบบแต่ไร้สาระ และความฉาบฉวยมักง่าย ทำให้ความคิดที่จะ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ถูกแทนที่ด้วยการ “ตีหัวเข้าบ้าน” ความคิดที่จะ “ปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ” ที่ต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมือง สรรพกำลัง ความอดทนและเวลา จึงถูกแทนที่ด้วยนโยบาย “ประชานิยม” ที่ผิวเผินและมักง่าย ดังนั้น แนวคิดว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “การปรับเปลี่ยนสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง” จึงเป็นเพียงลมปาก ไม่ได้อยู่ในสารระบบความคิดของคนไทยและนักการเมืองโดยส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

ทั้งๆที่สังคมไทยเป็นสังคมพุทธที่เน้นความเรียบง่ายในทางสายกลาง แต่การกระทำที่เกินกว่าเหตุ หรือที่เรียกว่า “Over” เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น เช่น การโอ้อวดความมั่งคั่งจนเกินงาม หรือ การคุยโม้ความสามารถจนเกินจริง ความหน้าใหญ่ใจโต สนใจแต่เรื่องของรูปแบบ หน้าตารูปลักษณ์ภายนอก ความมโหฬารอลังการ ไม่ค่อยสนใจและใส่ใจในแก่นแท้สารัตถะ เป็นต้น
การแสดงออกที่เกินงาม จึงไปได้ด้วยดีกับความฉาบฉวยมักง่าย และค่านิยมที่เน้นรูปแบบแต่ไร้สาระ เป็นเรื่องน่าแปลกที่ศาสนาพุทธสอนให้พวกเรายึดทางสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป จึงจะเกิดประโยชน์สุขสูงสุด แต่กลับกลายเป็นว่า คนไทยดีแต่พูด แต่ไม่นำทางสายกลางไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ขาดซึ่ง ”ความพอดี” “ความพอประมาณ” และ “ความลงตัว”

คุณค่าทั้ง 2 ชุด -วัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม กับ -ระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ชน และอำนาจนิยม ยังคงซึมลึกอยู่ในทุกอณู แทรกอยู่ในทุกมิติ ของสังคมไทย เป็น “Counter-Productive Value” ที่นอกจากจะไม่สอดรับกับรูปแบบการพัฒนาและโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในโลกอนาคต ยังเป็นอุปสรรคตัวสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ดังนั้น การปฏิรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง ระบบราชการ หรือเศรษฐกิจ จะไม่มีทางตอบโจทย์ประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หากปราศจากการปรับเปลี่ยนฐานรากวัฒนธรรมและค่านิยม เพื่อทำให้เกิดความสอดคล้องกับธรรมาภิบาลและโครงสร้างในภาคส่วนอื่นๆของสังคม

...ถึงเวลาที่พวกเราต้องมองวัฒนธรรมในเชิง “พลวัต” ไม่ใช่วัฒนธรรมในเชิง “สถิต” ถึงเวลาที่ต้องมาทบทวนวัฒนธรรมไทยอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ หรือ take it for granted อีกต่อไป


...กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถึงเวลาที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกัน “ปฏิรูปวัฒนธรรมไทยครั้งใหญ่” อย่างจริงจังแล้วครับ

บทความโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ 
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น