สระบุรี - ชาวไท-ยวน สระบุรี จัดงานประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ที่หนองโน ครั้งที่ 19 โดยมีการจัดขบวนเกวียนโบราณแห่ต้นสลากภัต ขบวนกลองยาว การแสดงวัฒนธรรมไท-ยวน บริเวณสนามหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน
วันนี้ (29 ธ.ค.) นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดงานประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ที่หนองโน บริเวณสนามหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี โดยมีการจัดขบวนเกวียนโบราณแห่ต้นสลากภัต ขบวนกลองยาว การแสดงวัฒนธรรมไท-ยวน พิธีถวายต้นสลากภัต ข้าวหลาม ภัตตาหาร และร่วมตักบาตรข้าวหลามพระสงฆ์
ทั้งนี้ คนหนองโน ส่วนใหญ่มีเชื้อสายไท-ยวน หรือโยนกเดิมที่อพยพมาจากเชียงแสน เมื่อ พ.ศ.2337 หรือ 222 ปีมาแล้ว แต่ยังคงเอกลักษณ์ ภาษาพูด ความเชื่อเรื่องผี วิถีชีวิตเรียบง่าย และประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตลอด เป็นบุญประเพณีของพุทธศาสนิกชนชุมชนไทย-ยวน เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่แม่โพสพ ให้ช่วยคุ้มครองดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉางกองข้าวของตน มิให้สิ่งอื่นใดมารบกวน รวมทั้งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชนในท้องถิ่น โดยจัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 เดือนยี่ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2) ของทุกๆ ปี ก่อนงาน 1 วันซึ่งเป็นวันโกน ฝ่ายชายของแต่ละหมู่บ้านจะจัดหาไม้ข้าวหลาม (อายุประมาณ 1 ปี ไม้ไผ่อ่อนมีเตี้ยหรือเยื่อบาง) ติดอยู่ภายในกระบอกไม้ไผ่ ตัดเป็นท่อนๆ กะดูพองาม
ฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมข้าวเหนียวแช่น้ำ ถั่วดำต้มสุก น้ำตาลทราย เกลือ จากนั้นก็ซาวข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้ใส่ภาชนะผสมกับเครื่องปรุงทั้งหมด ปรุงรสตามความพอใจ แล้วตักใส่กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ปิดฝากระบอกด้วยใบตองพับให้แน่น จากนั้นฝ่ายชายจะนำข้าวหลามไปเผากับราวบนพื้นดินจนสุกทั่วทั้งกระบอก ทิ้งไว้จนเย็นนำมาปอกเปลือกด้านนอกออกให้เหลือแต่เปลือกด้านใน พอรุ่งขึ้นก็นำไปทำบุญตักบาตรที่วัด
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน กล่าวต่อว่า สิ่งที่สร้างความน่าสนใจและน่าชมคือขบวนแห่เกวียนซึ่งในแต่ละปีจะมีเกวียนข้าวของแต่ละหมู่บ้านมาร่วมงานกันครบ เกวียน แต่ละเล่มประดับประดาด้วยธงผ้าและกระดาษแก้วอย่างประณีตสวยงาม โดยเฉพาะต้นสลากภัต จะมีการประดับประดาต้นสลากภัตมีสีสัน สะดุดตา โดยภายในเกวียนแต่ละเล่มจะเป็นเสมือนตัวแทนในการบรรทุกสิ่งของที่จะนำมาตักบาตรถวายพระ ซึ่งในปีนี้ประชาชนมาบางตา เนื่องจากเป็นวันทำงาน และยังมีเชื้อโควิด-19 กำลังระบาด นอกจากนี้ เว้นระยะห่างในการร่วมงาน