เมื่อไม่นานนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบไมโครพลาสติกอยู่ในรกของหญิงตั้งครรภ์ ถึงแม้ยังไม่ทราบผลกระทบที่แน่ชัด แต่ก็เป็นการค้นพบที่น่าวิตกกังวลมาก
เพราะอนุภาคเล็กๆ ของไมโครพลาสติกอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในระยะยาว เช่นอาจไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของทารกในครรภ์ ไม่ว่าคนเป็นแม่บริโภคหรือหายใจเข้าไปก็ตาม
จากการศึกษาพบอนุภาคไมโครพลาสติกในหญิงตั้งครรภ์ทั้ง 4 คนที่ตั้งครรภ์และคลอดลูกตามปกติ โดยพบอนุภาคในรกของทั้งฝั่งเด็ก และคุณแม่ รวมถึงพังผืดที่พัฒนาตัวเด็กตอนยังอยู่ในครรภ์
ด้วยขนาดของไมโครพลาสติกที่เล็กเพียง 10 ไมครอน หรือเท่ากับ 0.01 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้มันสามารถแทรกซึม และไหลเวียนไปกับกระแสเลือดของมนุษย์เราได้
จากงานวิจัยที่พบไมโครพลาสติกนั้น นักวิจัยทำการศึกษาไปเพียง 4% ของแต่ละรกเท่านั้น แต่คาดว่าจำนวนไมโครพลาสติกทั้งหมดอาจะอยู่ในปริมาณที่สูงกว่านั้น
ข้อสรุปจากงานวิจัยล่าสุด กล่าวว่า "เนื่องจากรกมีความสำคัญต่อการพัฒนาของทารกขณะตั้งครรภ์ และยังทำหน้าที่เชื่อมต่อทารกกับสิ่งเเวดล้อมภายนอก การค้นพบอนุภาคไมโครพลาสติกนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างมาก แต่ยังจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ว่าไมโครพลาสติกจะส่งผลต่อระบบร่างกาย หรือเป็นอันตรายอย่างไร"
ปีที่ผ่านมา งานวิจัย No Plastic in Nature: Assessing Plastic Ingestion from Nature to People ที่ WWF ร่วมทำกับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย พบว่า :
"มนุษย์บริโภคพลาสติกขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ คิดเป็นปริมาณพลาสติกกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 21 กรัมต่อเดือน หรือ 250 กรัมต่อปี"
ปัจจุบัน ชีวิตประจำวันของเรานั้นรายล้อมไปด้วยผลิตภัณฑ์พลาสติก เราบริโภค และหายใจเอาอนุภาคเล็กๆ ของไมโครพลาสติกเข้าร่างกายโดยไม่รู้ตัว นอกจากการช่วยกันลดใช้พลาสติกแล้ว การกำจัดและรีไซเคิลพลาสติกหลังใช้งานอย่างถูกต้องก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
ข้อมูลและรูปภาพอ้างอิง
https://www.theguardian.com/environment/2020/dec/22/microplastics-revealed-in-placentas-unborn-babies
https://science.slashdot.org/story/20/12/23/1441212/microplastics-revealed-in-the-placentas-of-unborn-babies
Credit Clip HillPark1