เหอเฝย, 7 ม.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์จีนได้สร้างเครือข่ายการส่งข้อมูลผ่านอนุภาคควอนตัมด้วยดาวเทียมแบบบูรณาการ อันประกอบด้วยสายใยแก้ว 700 เส้นและจุดเชื่อมต่อจากภาคพื้นดินสู่ดาวเทียมจำนวน 2 แห่ง ซึ่งสามารถทำการกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม (Quantum Key Distribution: QKD) ระหว่างผู้ใช้มากกว่า 150 รายในระยะทางรวม 4,600 กิโลเมตร
งานวิจัยดังกล่าวดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นำทีมโดยพานเจี้ยนเหว่ย นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ออนไลน์
เครือข่ายดังกล่าว ประกอบด้วยเครือข่ายควอนตัมในพื้นที่เมืองใหญ่ หรือ คิวแมน (QMAN) จำนวน 4 เครือข่าย ได้แก่ ปักกิ่ง จี่หนาน เหอเฝย และเซี่ยงไฮ้ สายใยแก้วซึ่งเป็นเส้นทางรับส่งหลักความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตรหนึ่งเส้น และจุดเชื่อมต่อภาคพื้นดิน-ดาวเทียม 2 แห่ง ที่เชื่อมระหว่างสถานีภาคพื้นดินซิงหลงในปักกิ่งกับสถานีภาคพื้นดินหนานซานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน ซึ่งตั้งอยู่ไกลกัน 2,600 กิโลเมตร โดยสถานีซิงหลงยังเชื่อมต่อกับเครือข่ายคิวแมนของปักกิ่งผ่านสายใยแก้วอีกด้วย
กฎฟิสิกส์ควอนตัมระบุว่า การสื่อสารด้วยควอนตัมมีความปลอดภัยสูงเป็นพิเศษ เพราะไม่สามารถถูกดักฟัง สกัดกั้น หรือเจาะข้อมูลได้ เนื่องจากสภาวะควอนตัม (quantum state) ของโฟตอนที่ส่งข้อมูลไปตามใยแก้วนำแสงจะ “ถูกทำลาย” ทันทีที่ถูกดักฟัง
เครือข่ายการส่งข้อมูลผ่านอนุภาคควอนตัมสามารถใช้กับบริการต่างๆ ได้ เช่น การสนทนาทางวิดีโอ การสนทนาด้วยเสียง แฟกซ์ การส่งข้อความ และการส่งไฟล์ ด้วยการตรวจสอบทางเทคโนโลยีและการสาธิตใช้ในโลกจริง นอกจากนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังคาดว่าจะสามารถใช้งานเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้
รายงานระบุว่าเครือข่ายควอนตัมทั่วโลกสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการเชื่อมต่อเครือข่ายควอนตัมของประเทศต่างๆ ผ่านการเชื่อมต่อบนภาคพื้นดินหรือการเชื่อมโยงจากภาคพื้นดินสู่ดาวเทียม
พานกล่าวว่า ในอนาคตการสื่อสารด้วยอนุภาคควอนตัมจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ทั้งด้านการเงิน การเมืองและการป้องกันประเทศ ซึ่งท้ายที่สุด มนุษย์จะสามารถสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมรวมและอินเทอร์เน็ตผ่านควอนตัมที่มีความปลอดภัยอย่างแท้จริงได้