xs
xsm
sm
md
lg

โควิดเป็นเหตุ! งานรักษาสัตว์ป่าล้นมือ ในรพ.สัตว์ป่า สหราชอาณาจักร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ลูกเม่นกำพร้าถูกเลี้ยงที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ Secret World เมือง Somerset เครดิตภาพ: Nature Picture Library / Alamy
เดอะการ์เดียน รายงานว่า โรงพยาบาลสัตว์ป่าในสหราชอาณาจักร ในรอบปี 2020 กลายเป็น"ปีที่คึกคักที่สุดเท่าที่เคยมีมา" เนื่องจากล็อกดาวน์ การปิดตัวของเมืองจากโรคระบาดไวรัสโคโรนา ทำให้คนหันมาสนใจ ใส่ใจต่อธรรมชาติ และสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บมากขึ้น

โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลรุนแรงไปทั่วโลก ทำให้งบประมาณในการจัดจ้างอาสาสมัครสำหรับทำงานอนุรักษ์ลดลง แต่สิ่งที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือมนุษย์เราหันมาใส่ใจกับธรรมชาติ และมีสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บ ถูกส่งมาโรงพยาบาลสัตว์ป่ามากขึ้น

โรงพยาบาลสัตว์ป่าในสหราชอาณาจักรรายงานว่า ปี 2020 กลายเป็นปีที่เจ้าหน้าที่สาละวนกับ ตัวเม่น นกพิราบ ค้างคาว นก และสัตว์ที่เป็นเหยื่อหลายชนิด ที่เข้ามาเป็นคนไข้หน้าใหม่ของโรงพยาบาลไม่เว้นแต่ละวัน

จำนวนเคสของสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บที่ถูกส่งมารักษายังศูนย์พยาบาลต่างๆที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คนเราเริ่มตระหนักถึงชีวิตน้อยๆ ที่อาศัยตามธรรมชาติ และการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยไปเพราะการขยายตัวของสังคมเมือง และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายก็เห็นตรงกันว่า การล็อคดาวน์จากช่วงเวลา COVID-19 แพร่ระบาดนั้น เป็นปัจจัยหลัก มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มทำอะไรช้าลงและเริ่มมองเห็นความเคลื่อนไหวของธรรมชาติรอบตัว หลายคนที่เมื่อพ้นจากช่วงเวลากักตัวก็ถือโอกาสออกไปนอกบ้าน และใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากขึ้น

ศูนย์พักพิงสัตว์ป่า Vale Wildlife ใกล้กับกลอสเตอร์ไชร์ ระบุว่าในปี 2020 นี้เป็นปีที่ยุ่งที่สุดนับตั้งแต่เปิดศุนย์ฯ มากว่า 36 ปี

“ปี 2019 มีกรณีการรักษาทั้งหมด 7,000 เคส และเกือบจะสิ้นปี 2020 จำนวนสัตว์ที่เข้ามารับการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นแซงปีก่อนหน้าไปแล้ว”แคโรไลน์ โกลด์ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลกล่าว

เธอยังบอกอีกว่า การล็อคดาวน์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญ แต่การเพิ่มขึ้นของสัตว์ที่เจ็บป่วยก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี “ส่วนใหญ่สัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บนั้นก็มักจะมาจากการกระทำของมนุษย์ แม้จะไม่ได้ตั้งใจ หรือจงใจ แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนเราเอง มีผลกระทบต่อโลกของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย และที่แย่ไปกว่านั้น มนุษย์เราไม่ค่อยจะสนใจ หรือตระหนักว่า พวกเราเองนั้นแหละที่เป็นส่วนสร้างปัญหาให้กับสัตว์ป่า และไม่ค่อยมีใครอยากเข้ามาดูแลแก้ปัญหาเหล่านี้”
ปัจจุบันในสหราชอาณาจักร ระบบนิเวศกำลังเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว และเงินสนับสนุนโครงการเพื่อการอนุรักษ์ลดลงถึง 33% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา บรรดาองค์กรอนุรักษ์สัตว์ หรือศูนย์พักพิงสัตว์ไม่ได้มีอาสาสมัครที่จะมาทำงานที่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยปฏิบัติการทหารต่างๆ

ปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่หน่วยงานช่วยเหลือสัตว์ทะเลในอังกฤษเปิดสำนักงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน และฝึกอบรมอาสาสมัครไปแล้วกว่า 2,000 คน และในบางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องรับรักษากรณีสัตว์เจ็บป่วยที่ยากๆ อาทิ ฉลามบาสก์ นอกจากนั้นก็จะเป็นแมวน้ำ ที่คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 90%
.
“ปีนี้มีสายด่วนที่ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 24-30% นับตั้งแต่ปี 2016”แดน จาร์วิส พนักงานด้านสวัสดิการ และการสนับสนุนของศูนย์ฯ กล่าว และบอกว่า “เรากำลังจะทำสถิติทุบ 2,000 สายด่วนในอีกไม่กี่วันนี้” จาร์วิสบอกอีกว่า การที่มีคนโทรเข้ามายังศูนย์เพิ่มมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม และในรอบทศวรรษที่ผ่านมาเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการอนุรักษ์ที่คู่ขนานไปกับการท่องเที่ยวด้วย

โรงพยาบาลสัตว์หลายแห่งกำลังต้องขยายพื้นที่เนื่องจากสาธารณูปโภคเดิมๆ เริ่มเก่า และมีความต้องการในการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ในกลอสเตอร์ไชร์ โรงพยาบาลศูนย์ช่วยเหลือเม่น เป็นที่รู้จักกันดีว่าสามารถให้ความช้วยเหลือเม่นจิ๋วๆ ได้อย่างเร่งด่วนและทันท่วงทีที่สุด ผู้บริหารของโรงพยาบาลบอกว่า ปีนี้สามารถระดมทุนได้อีกกว่า 7,000 ปอนด์ เพื่อใช้ในการขยายโรงพยาบาล

“มีเม่นถูกส่งเข้ามารักษามากขึ้นทุกปี” แอนนี่ พาร์ฟิต ผู้ก่อตั้งกองทุนการกุศลกล่าว “แต่การล็อคดาวน์ปีนี้ช่วยได้มาก เพราะเม่นตายน้อยลงจากการที่พาหนะบนถนนน้อยลงไปมาก”

ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และยาวนานเกือบจะครบ 1 ปี และสถานการณ์ในหลายๆ ประเทศยังไม่ได้ดีขึ้น แต่ก็ทำให้มนุษย์ได้เข้าใจ และมองหาสมดุลในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

ข้อมูลอ้างอิง theguardian ,WWF-Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น