xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตปัญหาขยะและสภาวะโลกร้อน! ประเทศไทยแก้ไขตรงจุดแค่ไหน เกาถูกที่คันหรือยัง!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปัญหาขยะ สาเหตุสำคัญของสภาวะโลกร้อน
พูดถึงแนวปฏิบัติ วิธีการจัดการขยะเพื่อแก้ปัญหาขยะ ไม่ว่าขยะบนบก ขยะทะเล สาเหตุสำคัญของสภาวะโลกร้อนโดยน้ำมือมนุษย์ ไม่เพียงทำให้สภาพดินฟ้าอากาศทุกวันนี้ผิดเพี้ยน แต่กำลังเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ย้อนกลับมาสร้างผลกระทบรุนแรงขึ้นต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่


“วิกฤตขยะ” จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของโลก เช่นเดียวกับประเทศไทย พยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่า ปริมาณขยะยังไม่ได้ลดน้อยลง

เมื่อเร็วๆ นี้ หัวข้อบนเวทีเสวนาเกี่ยวกับ “วิกฤตปัญหาขยะและสภาวะโลกร้อน” ในงานเทศกาลความยั่งยืน ณ อุทยานการเรียนรู้ 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีตัวแทนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาชน ออกมาให้แนวทางการแก้ปัญหาไว้น่าสนใจ ว่าแต่ละภาคส่วนควรลงมือจัดการขยะแบบไหน โดยเฉพาะการคลำทางถูกที่ว่าต้องทำตั้งแต่ต้นทางผลิต แต่ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องแค่ไหน ได้แก้กันตรงที่คันหรือยัง




#จัดการตั้งแต่ต้นทางการผลิต

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป กล่าวว่า คนมักเข้าใจกันว่าการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางนั้นคือการแยกขยะที่บ้าน แต่ความจริงแล้ว ต้องเริ่มจากผู้ผลิตที่ควรทำผลิตภัณฑ์ของตนให้รีไซเคิลได้ง่าย ยกตัวอย่าง บรรจุภัณฑ์พลาสติกมักมีผู้ผลิตที่ระบุผิดประเภท เป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการรีไซเคิลเพราะทำให้เกิดการปะปนกันและยากต่อการคัดแยก ฉลากขวด PVC ก็รีไซเคิลไม่ได้ แต่กลับมีขยะ PVC ทั้งประเทศมากถึงกว่า 200 ตันต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีขวดพลาสติกใสผสมสีซึ่งร้านรับซื้อของเก่าไม่รับซื้อแม้รีไซเคิลได้ พลาสติกที่ไม่เข้าสู่วงจรรีไซเคิลก็ล้วนต้องเดินทางไปสู่หลุมฝังกลบขยะ เปรียบเหมือนการเดินทางไปสร้างโลกให้เป็นนรก

ขณะที่ขยะบางอย่างแม้รีไซเคิลได้ก็จริง ก็ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะการรีไซเคิลต้องใช้พลังงานไฟฟ้าและแรงคนซึ่งมีต้นทุนสูง เช่น ขวดน้ำเกลือในโรงพยาบาล หากติดสติกเกอร์ PVC ลงไปก็จะทำให้ร้านของเก่ารับซื้อในราคาต่ำลงจาก 20 บาทเหลือเพียง 1 บาททันที หรือซองรีฟิลต่างๆ ซึ่งคนเข้าใจว่าดีกว่าใช้แบบขวด แม้มีเทคโนโลยีรีไซเคิลได้ก็ไม่คุ้มค่าจึงไม่มีที่รับซื้อ และถูกพบเป็นขยะลอยอยู่ในทะเลมากที่สุด
ดร.สมไทย ยกตัวอย่าง น้ำดื่ม ThaiSmile ว่าเป็นตัวอย่างที่น่ายกย่อง เพราะใช้การปั๊มนูนแทนฉลากและยังมีฝาที่เป็นพลาสติกชนิดเดียวกับตัวขวด

เขาบอกว่า หน่วยงานภาครัฐควรออกกฎหมายรีไซเคิล ให้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดต้องผ่านการตรวจสอบว่าออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (eco design) แล้วหรือไม่ มีการคำนึงถึงการหมุนเวียนตลอดวัฏจักร (life cycle assessment) เร็วหรือช้า เพราะไม่เพียงลดปัญหาขยะ แต่ในเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ขยะรีไซเคิลมีค่าดั่งทอง ผลิตภัณฑ์ใดยิ่งหมุนเวียนได้เร็วก็ยิ่งกระตุ้นการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ ทำให้เงินสะพัดและลดปัญหาความยากจนได้ด้วย

#จัดการขยะแนวพุทธ

พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง ซึ่งเป็นวัดตัวอย่างในการจัดการขยะ นำพลาสติกมารีไซเคิลเป็นจีวรพระ กล่าวว่าในมุมมองพุทธศาสนามีการพูดเรื่องขยะอยู่อยู่แล้ว เช่น ตามพระวินัย หากพระสงฆ์ไม่ทำความสะอาดที่อยู่ของตนเองก็ต้องอาบัติเพราะที่อยู่ที่รกรุงรังย่อมเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติ ในพระสูตร หากพระทิ้งขยะลงตามแหล่งน้ำก็จะป่วยเป็นโรคผิวหนัง แต่หากรักษาความสะอาดจะได้อานิสงส์คือ มนุษย์รักใคร่ เทวดารักใคร่ มีความสุขใจ ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอน และสุดท้ายเป็นการสร้างวิมานให้แก่ตนเอง อีกทั้งการใช้ผ้าบังสุกุลนั้นก็คือการทำเรื่องรีไซเคิลมากว่า 2,000 ปีแล้ว
ส่วนในชีวิตประจำวัน พระสงฆ์จะต้องทำปะฏิสังขาโย (พิจารณาปัจจัย 4) ก่อนใช้สิ่งต่างๆ ว่ามีประโยชน์มากหรือน้อยและถ้ากลายเป็นขยะจะจัดการอย่างไร ในการจัดการขยะของวัดจากแดงมีทั้งการลดการบริโภค (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) และรีไซเคิล เช่น ถุงพลาสติกนำไปนึ่งทำน้ำมัน ขวดน้ำก็นำไปทำเป็นจีวรใหม่ โดยจีวรผืนหนึ่งใช้ขวด 1.5 ลิตร 15 ใบ และใช้ 65 ใบสำหรับไตรจีวรและยังทำเสื้อผ้าทั่วไปสำหรับประชาชน รวมทั้งหน้ากากอนามัยสำหรับช่วงโควิด-19 ขยะโฟมนำไปทำกาว โฟมซีเมนต์ และกระถางต้นไม้ สำหรับขยะเศษอาหารก็นำไปทำปุ๋ยอินทรีย์แจกจ่ายให้ประชาชน ซึ่งล้วนแต่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะได้ทั้งทางโลก ทางธรรม ทางสิ่งแวดล้อม และทางจิตใจ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านแยกขยะเพราะถือเป็นการทำบุญทางหนึ่ง

#ขยะกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

จงรักษ์ ฐินะกุล ผู้แทนกองส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่แค่ปัญหา แต่เรียกว่าเป็นวิกฤตแล้ว ในปี 2016 ทั่วโลกผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกว่า 48,000 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้จีนผลิตไป 11,600 ตัน สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งถ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตันมีขนาดเทียบได้กับรถบัส 2 ชั้น 1 คัน ก็จะเห็นว่ามีปริมาณมหาศาล ด้านประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 20 คิดเป็น 0.8% ของทั้งหมด

เธอเล่าว่า ปัจจุบันมีแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งมุ่งเน้นสร้างความสมดุลใน 3 มิติ ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าทั้ง 3 มิตินี้สมดุลกันก็ยิ่งนำไปสู่ความยั่งยืน แต่ปัจจุบัน การขาดสมดุลทำให้เกิดระบบนิเวศที่ไม่ดี แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็กำลังมุ่งไปสู่การผลิตขยะเป็นศูนย์และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลย คือทุกสิ่งสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้หมด มีทั้งการปรับปรุงข้อกฎหมายและนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคนในประเทศเหล่านี้ค่อยๆ พัฒนานโยบายเกี่ยวกับขยะมานาน เช่น ญี่ปุ่น

#ผลสำเร็จนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของไทย


วานิช สาวาโย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงข้อตกลงปารีสว่า เมื่อปี 2559 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีร่วมควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ขึ้นไปเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม จึงต้องมีแผนในการจัดการก๊าซเรือนกระจกของไทย โดยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แถลงผลการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถลดลงได้ถึงร้อยละ 7-20 เมื่อเทียบกับปี 2548 และขณะนี้อยู่ในเป้าหมายระยะที่ 2 ที่จะต้องลดลงให้ได้ร้อยละ 20-25 โดยปัจจัยความสำเร็จมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในประเทศ และล่าสุด สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมาเป็นกลไกขยายการจัดเก็บข้อมูลไปถึงภาคเอกชนด้วย

กรมควบคุมมลพิษมีคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ มีหน่วยงานมากมายเข้าร่วมให้ข้อมูลในการจัดการของเสียชุมชนซึ่งประกอบด้วยน้ำเสียและขยะมูลฝอยเพื่อนำมาประกอบเป็นภาพรวมของประเทศ และขับเคลื่อนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้โดยวิธีการต่างๆ เช่น การลดปริมาณขยะก่อนเข้าสู่สถานที่กำจัด การนำก๊าซจากบ่อฝังกลบไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น การผลิตไฟฟ้า การฝังกลบแบบกึ่งใช้อากาศ การนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก ฯลฯ

เมื่อปี 2562 ประเทศไทยผลิตขยะทั้งหมด 27.8 ล้านตัน แต่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เพียง 9.1 ล้านตัน ที่เหลือถูกนำไปกำจัดทั้งโดยถูกต้องและไม่ถูกต้อง โดยปัญหาการรีไซเคิลของไทยเกิดจากระดับครัวเรือนที่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะดีพอ โดยเฉพาะการทิ้งปะปนกับขยะอินทรีย์ซึ่งมีมากถึง 64% จึงเกิดปัญหากลิ่นและเชื้อโรคต่างๆ รวมทั้งก่อให้เกิดก๊าซมีเทนปริมาณสูง คุณวานิชกล่าวสรุปว่า หากจะเชื่อมโยงการจัดการขยะมูลฝอยไปถึงการลดก๊าซเรือนกระจก เราจะต้องกำจัดอย่างถูกต้องซึ่งยังต้องช่วยกันหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะก็จริงแต่ยังไม่สามารถจัดการได้ครบวงจร


#การจัดการขยะของการปกครองส่วนท้องถิ่น

ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการคัดแยกขยะที่ดีนัก สำหรับเทศบาลเมืองแสนสุข เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะเก็บขยะที่รีไซเคิลได้ออกไปก่อนแล้วจึงนำไปทิ้งที่บ่อขยะ ทำการฝังกลบอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล แต่ปัญหาคือ ไม่ใช่ทุก อปท. ในประเทศไทยจะมีบ่อขยะของตนเอง หลายที่ใช้บ่อขยะของเอกชนซึ่งมักไม่ได้ฝังกลบอย่างถูกวิธี ทำให้น่ากังวลว่าน้ำจากขยะจะซึมลงปนเปื้อนในชั้นดินมากน้อยเพียงใด แต่สำหรับเทศบาลแสนสุข แม้จะฝังกลบอย่างถูกวิธีก็ยังมองว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างล้าหลัง เพราะแม้จะมีวิสัยทัศน์ว่าต้องมีการบริหารจัดการขยะที่เป็นระบบและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่านี้ได้ แต่กฎหมายที่ควบคุม อปท. กลับทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้อิสระเท่าที่ควร

เขาบอกว่า ใน จ.ชลบุรี มีการบริหารกลุ่มอำเภอที่เรียกว่าคลัสเตอร์ โดยเทศบาลเมืองแสนสุขเป็นประธานคลัสเตอร์ในเขต อ.เมือง แต่ทุกวันนี้ทำมา 4 ปีแล้วยังไม่คืบหน้าเพราะมีเพียงตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ไม่มีอำนาจ เช่น เมื่อมีแนวคิดว่าจะนำเทคโนโลยีไบโอแก๊สที่ทันสมัยเข้ามาใช้และอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ แต่เจ้าของพื้นที่ที่จะตั้งโรงงานซึ่งใช้เทคโนโลยีนี้กลับไม่ยอมเพราะไม่อยากมีปัญหากับชาวบ้าน จึงต้องถอนตัวออกมาจากคลัสเตอร์แล้วทำเฉพาะระบบของท้องถิ่นตนเองไปก่อน

ปัจจุบันเทศบาลเมืองแสนสุขมีการตั้งเทศบาลตัวอย่างเพื่อจัดการขยะชุมชน โดยดึงชุมชนที่มีศักยภาพประมาณ 3 ชุมชนจาก 25 ชุมชน มาเป็นชุมชนต้นแบบ โดยเทศบาลจัดซื้อรถแยกขยะเพื่อให้เห็นชัดเจนว่ามีการเก็บขยะตามประเภท ไม่ได้นำไปรวมกันบนรถอย่างที่มักเข้าใจกัน หากสำเร็จก็จะขยายไปทุกชุมชน ซึ่งปัจจุบันไทยมีชุมชนต้นแบบเรื่องขยะหลากหลายและมีการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนกัน

#งานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของGreenPeace


พิชามญชุ์ รักรอด จากกรีนพีซ ประเทศไทย เล่าว่า กรีนพีซเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานเรื่องพลาสติกมาประมาณ 5 ปี ภาคส่วนที่กรีนพีซมองว่ามีความสำคัญที่สุดในการจัดการกับมลพิษพลาสติกได้แก่ ภาคประชาชน ภาคผู้ผลิต และภาครัฐ ในส่วนของภาคประชาชน การบอกให้ประชาชนลดการบริโภคนั้นไม่เพียงพอเพราะมีพลาสติกผลิตขึ้นมาในโลกทุกวัน กรีนพีซจึงอยากเรียกร้องไปยังผู้ผลิตในฐานะต้นทางของวิกฤตให้มีนโยบายลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน จะนำไปสู่นโยบายของภาครัฐที่จะขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งนำไปสู่การติดตั้งระบบที่ทำให้ผู้ผลิตลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

สำหรับกรีนพีซมีกิจกรรมที่เผยให้ผู้ผลิตและภาครัฐได้เห็นความสำคัญของความรับผิดชอบและการออกนโยบายข้างต้น คือ กิจกรรม Brand Audit สำรวจว่ามียี่ห้อใดบ้างที่ผลิตภัณฑ์ถูกทิ้งเป็นขยะ และมากน้อยเพียงใด จะพบว่าขวดบางชนิดที่กล่าวว่ารีไซเคิลได้ก็ยังเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม อาทิ ขวดพลาสติก PET ทำให้เห็นว่าวัสดุชนิดใดก็ตาม หากทำมาเพื่อใช้ครั้งเดียวก็กลายเป็นขยะได้ทั้งนั้น ซึ่งกรีนพีซก็ได้แจ้งกลับไปยังบริษัทผู้ผลิต

นอกจากนี้ กรีนพีซยังมีข้อเสนอคือ ภาคผู้ผลิตต้องคิดว่าสินค้าของตนไม่ได้จบลงที่ชั้นวาง แต่ไปไกลกว่านั้นคืออยู่ในสิ่งแวดล้อมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคิดตั้งแต่กระบวนการแรกจนสุดท้าย และตระหนักว่าการที่ประชาชนมาร่วมกันเก็บขยะหรือ อปท. มาร่วมจัดการขยะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายทาง

เธอกล่าวถึงหลักการความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Expanded Producer Responsibility - EPR) อย่างง่ายๆ คือ เริ่มจากการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เมื่อจะผลิตสินค้าใหม่ต้องรู้ว่าจะใช้พลาสติกชนิดใดทำบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะดีมากหากใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียวเพราะจะจัดการได้ง่าย และยังอาจต้องใช้อำนาจภาครัฐมาจัดตั้งระบบการจัดเก็บให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและมั่นใจว่าขยะทั้ง 100% ต้องเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้จริง หรือใช้ระบบที่ส่งเสริมการใช้ซ้ำ เช่น ระบบมัดจำที่เมื่อผู้ซื้อนำบรรจุภัณฑ์มาคืนแล้วจะได้เงินคืนส่วนหนึ่ง หรือการเปิดร้านรีฟิล เป็นต้น

มีข้อเสนอให้ภาครัฐตั้ง “ผู้ตรวจการขยะ” เพื่อเปิดเผยว่าขยะของแบรนด์ใดไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมบ้าง
#ปฏิบัติการขยะแก้สภาวะโลกร้อน

ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ผู้ดำเนินการเสวนา ชวนทุกคนยกตัวอย่างปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่นในกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2559 มธ. เริ่มชวนร้านค้าในโรงอาหารทั้งหมดให้เลิกขายน้ำดื่มที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด (แคปซีล) ซึ่งส่งผลให้กรมควบคุมมลพิษเมื่อเห็นตัวอย่างนี้ก็สามารถผลักดันให้ยกเลิกได้ทั้งประเทศในเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้ไปหนึ่งปีครึ่ง และในการประชุมทุกงานของ มธ. จะไม่ใช้ภาชนะพลาสติกเลย

ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการจัดการขยะในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้กฎระเบียบ เพราะการขอความร่วมมือไม่เพียงพอ ในส่วนของเมืองแสนสุข การจัดการขยะทะเลเริ่มจากการทำงานกับผู้ค้าริมชายหาด ดังที่เคยทำเรื่องชายหาดปลอดโฟมสำเร็จมาแล้วโดยหากผู้ค้าคนใดขายอาหารแล้วใช้ภาชนะโฟมก็จะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ชายหาดบางแสนจะเริ่มการเป็นชายหาดปลอดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งมีผลต่อผู้ประกอบการ 1,500 ราย ขณะเดียวกัน ก็บังคับให้ผู้ค้าต้องมีถังดักไขมันด้วยโดยถ้าปฏิบัติตามก็จะลดค่าเก็บขยะให้ เป็นการค่อยๆ ให้ผู้ค้าเปลี่ยนแปลงไปทีละขั้น

วานิช สาวาโย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศ มองว่าการจัดการขยะของประเทศยังค่อนข้างสะเปะสะปะ ที่ผ่านมาเกิดคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ร่วมกันวางโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 โดยมีการกำหนดเป้าหมายแรกเป็นการลดหรือเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้วใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน ซึ่งได้เดินหน้ายกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ และการใช้ไมโครบีดส์ แต่ยังเหลืออีกเรื่องหนึ่งที่ยังมีอุปสรรคคือการเลิกใช้พลาสติก Oxo ซึ่งถูกเข้าใจผิดว่าย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่ฮือฮาคือการเลิกแจกถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ยังเหลือการไปขับเคลื่อนตามตลาดและร้านสะดวกซื้อซึ่งต้องทำให้ได้ 100% รวมทั้งการเลิกใช้หลอดพลาสติกและกล่องโฟมซึ่งจะต้องทำให้ได้ภายในปี 2565 ซึ่งหากขอความร่วมมือแล้วไม่ได้ผลดีในที่สุดอาจจำเป็นต้องมีกฎหมายมาช่วยบริหารจัดการ

อีกประการหนึ่ง ภาครัฐพยายามลดการใช้ในประเทศ แต่ก็ยังมีปัญหาการควบคุมการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ปัจจุบันกระทรวง ทว. พยายามร่วมมือกับหน่วยงาน เช่น กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการค้าต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีกฎหมายกำกับ เข้าสำรวจโรงงานพลาสติกต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว เพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นบ่อขยะของโลก
ด้านคุณพิชามญชุ์ รักรอด จากรีนพีซ ประเทศไทย เล่าถึงโครงการ Brand Audit ว่าปีหน้าจะยกระดับและขยายพื้นที่มากขึ้นเพื่อผลักดันไปยังภาคผู้ผลิตโดยตรง

สำหรับ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป เสนอความคิดว่า ถ้าเราสามารถเชิญผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะรายหลักๆ ซึ่งมีประมาณ 30% ของประเทศ ผู้จัดจำหน่าย ผู้บริโภค และตัวแทนภาครัฐ มาถกกัน คิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะทุกคนจะได้รับฟังกัน และนับวันผู้ซื้อจะมีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราให้อำนาจแก่ผู้ซื้อ โดยให้ความรู้ว่าของแต่ละอย่างกำลังทำลายหรือช่วยโลก และการซื้อของฉันสามารถช่วยโลกได้ รวมทั้งให้ความรู้เช่นนี้แก่ฝ่ายจัดซื้อของหน่วยงานภาครัฐ จะกลายเป็น “กองกำลังจัดซื้อสีเขียว” ที่มีอำนาจต่อรองสูงมาก อีกแนวคิดหนึ่ง เสนอให้ภาครัฐตั้ง “ผู้ตรวจการขยะ” เพื่อเปิดเผยว่าขยะของแบรนด์ใดไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมบ้าง

ดร.สมไทย กล่าวสรุปว่า ถ้าคนไทยทุกคนสามารถเปลี่ยนขยะที่กองเป็นภูเขาอยู่ทั่วประเทศให้เป็นเงินได้ และทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ก็เท่ากับว่าเรากำลังเตรียมตัวที่จะฝากมรดกแผ่นดินที่สะอาด ปราศจากมลพิษ ให้ลูกหลานของเราได้ใช้ในวันที่เราไม่อยู่

กิจกรรม Brand Audit ในปีนี้ ได้สำรวจว่ามียี่ห้อใดบ้างที่ผลิตภัณฑ์ถูกทิ้งเป็นขยะ และมากน้อยเพียงใด


กำลังโหลดความคิดเห็น