เว็บไซต์กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ที่เก็บได้จากบริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และหาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ระบุ 5 อันดับแรกของผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศ ที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ โอสถสภา กลุ่มธุรกิจTCP และแลคตาซอย
สำหรับครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่กรีนพีซดำเนินการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในประเทศไทย และยังคงพบแบรนด์สินค้าและขยะประเภทเดิมๆ ที่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม “พิชามญชุ์ รักรอด” หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า "ดังนั้น พลาสติกที่ปนเปื้อนในระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารจึงไม่ใช่เพียงปัญหาการทิ้งขยะ หากเป็นมลพิษพลาสติก(plastic pollution) ซึ่งจำเป็นต้องจัดการตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติกตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเมื่อพลาสติกหมดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ บริษัทเจ้าของแบรนด์ต่างๆ จะต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการขยะพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ เช่น ค่าเก็บขยะ ค่าดูแลและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากมลพิษพลาสติกที่ตนเองก่อ”
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของการจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกคือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต จริงอยู่ที่รัฐบาลมี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ตลอดจนนโยบาย แผนแม่บท และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินงานภายใต้กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ในขณะที่ภาคเอกชนริเริ่มแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แต่มาตรการเหล่านี้อยู่บนฐานความสมัครใจ (voluntary) ที่อาศัยความร่วมมือร่วมใจและจิตสำนึกของคน ไม่มีผลในทางกฏหมาย (legally-binding) การไม่มีกฎหมายบังคับใช้ควบคู่ไปด้วย จึงยากที่จะแก้ปัญหาได้ ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังไม่เคยทุ่มเทเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมถึงข้าราชการและภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาอย่างแท้จริงเลย”
กิจกรรมตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกในประเทศไทยปี 2563 นี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 มีอาสาสมัครเข้าร่วมกว่า 70 คน เก็บรวบรวมขยะพลาสติกได้ทั้งหมด 13,001 ชิ้น ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่พบมากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์อาหาร 8,489 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน 3,273 ชิ้น ในขณะที่ประเภทพลาสติกที่พบตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ พลาสติกอื่นๆ 3,763 ชิ้น โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) 2,740 ชิ้น และโพลีโพพีลีน (PP) 1,851ชิ้น ตามลำดับ
การตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนในนาม Break Free From Plastic ที่เกิดขึ้นใน 55 ประเทศทั่วโลก โดยอาสาสมัครนำขยะพลาสติกที่เก็บได้มาตรวจสอบแบรนด์สินค้าและประเภทของขยะพลาสติกจากการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกที่เก็บได้จาก 55 ประเทศ ผู้ผลิตแบรนด์ 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุด คือโคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค และเนสท์เล่
กรีนพีซเรียกร้องบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค(Fast Moving Consumer Goods:FMCG) ถึงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(extended producer responsibility) และแผนงานลดรอยเท้าพลาสติก(plastic footprint) และการยุติการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ล้นเกินที่ออกแบบให้ใช้ครั้งเดียวทิ้งและกลายเป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมมิติดังต่อไปนี้
๐ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยตรวจวัดและรายงานถึงปริมาณและชนิดของพลาสติกที่ใช้ การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดใช้และการกำจัดพลาสติกอย่างสม่ำเสมอทุกปีโดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ
๐ จัดทำนโยบายลดพลาสติกและแผนการเปลี่ยนผ่าน โดยประกาศเจตนารมณ์ที่จะลดรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) จัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปสู่บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำและ ระบบใหม่ในการกระจายสินค้า และเผยแพร่แผนดังกล่าวให้ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีกรอบเวลากำหนดชัดเจน และเกณฑ์วัดเปรียบเทียบเพื่อที่จะติดตามความก้าวหน้าต่อสาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานของตน
๐ ลดละเลิกบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเริ่มจากการกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นและสร้างปัญหาและกำหนดวันที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจะไม่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจอีกต่อ
๐ ลงทุนกับระบบใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่
๐ ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์รวมถึงจัดให้มีการเฝ้าติดตามและจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมต่อชุมชนท้องถิ่น และกำหนดให้ “ขยะในทะเล” เป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ในการประเมินวงจรชีวิตและการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้าทั้งหมด
พิชามญชุ์ ย้ำว่า “ไม่มีทางออกจากวิกฤตมลพิษพลาสติกหากไร้ซึ่งปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดใช้พลาสติกและลดการผลิตพลาสติก คำมั่นสัญญาของภาคอุตสาหกรรมและนโยบายรัฐบาลที่มีอยู่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อจัดการกับมลพิษพลาสติกนั้นไม่เพียงพอ แผนการขยายอุตสาหกรรมพลาสติกจะยิ่งทำให้เกิดมลพิษพลาสติก การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเสียหายที่ไม่อาจฟื้นคืนได้ต่อระบบนิเวศทะเลและมหาสมุทรมากขึ้น”
กรีนพีซเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม Break Free From Plastic ที่ทำงานเคลื่อนไหวระดับโลก เพื่อมุ่งหวังถึงอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก นับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัวในเดือนกันยายน 2559 จนถึงปัจจุบัน Break Free From Plastic มีกลุ่มองค์กรกว่า 1,279 แห่ง และปัจเจกบุคคล 5,995 คนทั่วโลก เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งลดลงอย่างขนานใหญ่ และผลักดันทางออกที่ยั่งยืนต่อวิกฤตมลพิษพลาสติก กลุ่มองค์กรและปัจเจกบุคคลทั้งหลายภายใต้แนวร่วม Break Free From Plastic มองเห็นคุณค่าร่วมกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมร่วมกัน
Break Free From Plastic ได้ยกระดับกิจกรรมทำความสะอาด (clean up) พื้นที่และชายฝั่งทะเลที่ดำเนินการอย่างเป็นประจำทั่วโลกขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยการทำ brand audit ซึ่งมุ่งเน้นตรวจสอบแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อม
การตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกหรือ brand audit มีวัตถุประสงค์เพื่อหยิบยกให้เห็นถึงความรับผิดชอบทางสาธารณะของผู้ผลิตในเรื่องมลพิษพลาสติก ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมของบรรจุภัณฑ์และการจัดการของเสียได้ดีมากขึ้น