xs
xsm
sm
md
lg

ครองแชมป์ DJSI 6 ปี เปิดวิสัยทัศน์ซีอีโอ “วิรัตน์” ผู้นำไทยออยล์ผงาดเวทีโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
ต้องยอมรับว่ามาตรฐาน “งานดี” จริงๆ สำหรับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่ Dow Jones Sustainability Indices ประกาศให้เป็นสมาชิกของ DJSI 2563 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 และเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมการตลาดและการกลั่นน้ำมันและก๊าซ (Industry Leader) เป็นปีที่ 6 จากการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในระดับสากล

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดใจเล่าถึงที่มาที่ไป รวมทั้งหลักการบริหารจัดการที่ผลักดันให้ไทยออยล์ผงาดบนเวทีโลก ได้รับการยกย่องต่อเนื่องจากสถาบันที่นักธุรกิจทั่วโลกให้ความเชื่อมั่นอย่าง DJSI

รางวัลจาก DJSI ตัวสะท้อนหลักไมล์ของธุรกิจ

สำหรับคนในแวดวงธุรกิจย่อมจะรู้ว่า DJSI คือ Benchmarking ด้านความยั่งยืนระดับโลก ที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีความน่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าการได้รับการยกย่องจากสถาบันนี้ถือเป็นตัวชี้วัดผลลัพธ์ด้านการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจนั้นๆ ว่าโดดเด่นเพียงใด และควรจะพัฒนาต่อไปในเรื่องใดบ้าง

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประเมินของ DJSI จะครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประเด็นที่แต่ละอุตสาหกรรมประเมินจะแตกต่างกันออกไป โดยพิจารณาจากความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ และเป็นประเด็นสำคัญที่อุตสาหกรรมควรให้ความสำคัญ

“เกณฑ์การพิจารณาของ DJSI จะแตกต่างกันไปในแต่ละข้อ แต่สรุปโดยสังเขปว่าเป็นการเทียบประเมิน โดยมี Threshold (เกณฑ์) ของแต่ละอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็น Performance-Based คือการวัดที่ผลลัพธ์ของการดำเนินงานจริงเป็นตัวเลข เช่น จำนวนอุบัติเหตุด้านความปลอดภัย จำนวนชั่วโมงการอบรมของพนักงาน ยอดเงินภาษีที่จ่าย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดยยังคงมีการถามถึงแนวทางการบริหารจัดการในหลายๆ ด้านเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะสามารมี Performance ที่ดีในระยะยาว เช่น การทำ Scenario analysis และ Sensitivity analysis เพื่อวางแผนบริหารความเสี่ยงด้าน Climate Change และการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียและธุรกิจ แนวทางในการพัฒนาและรักษาพนักงานซึ่งเป็น Asset ที่มีคุณค่าให้อยู่กับบริษัทในระยะยาว เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม การจะได้คะแนนสูงที่สุดในอุตสาหกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องมีคะแนนเฉลี่ยโดยรวมสูง ซึ่งมาจากการบริหารจัดการประเด็นต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนและอยู่ในระดับที่ดี มีการพัฒนา ปรับปรุงและต่อยอดอยู่เสมอ เพราะหากยังดำเนินการเหมือนเดิมอาจจะทำให้ Peers (บริษัทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน) ที่ปรับตัวเร็วนำหน้าไปได้

“ไทยออยล์ของเราสามารถปรับตัวได้เร็ว และจริงจังกับงานด้านความยั่งยืน โดยมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งถือว่ารวดเร็วกว่าบริษัทอื่นๆ ของเมืองไทยในตอนนั้น” ซีอีโอแห่งไทยออยล์อธิบายถึงเหตุผลที่บริษัทได้รับการอันดับเป็นเบอร์ 1 เป็นปีที่ 6

“เรามีการกำหนด ESG strategy (E : Environmental, S : Social, G : Governance) ในกระบวนการ Strategic Thinking Session และนำมุมมองความยั่งยืนเข้าสู่กระบวนการทำงานทุกสาย เช่น งาน Operation ก็มี ESG ใน O2BX Project งานจัดซื้อจัดจ้างก็มี Sustainable Procurement เป็นต้น”


ไม่ว่าจะอย่างไร การได้มีอันดับอยู่ใน DJSI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอันดับที่ 1 ไม่เพียงจะเป็นการเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่บริษัทแล้ว “วิรัตน์” ยังมองถึงผลดีอีกด้าน นั่นก็คือ ช่วยให้ไทยออยล์รู้ความคาดหวังหรือทิศทางของอุตสาหกรรมเดียวกันว่าเป็นเรื่องใด และไทยออยล์ยังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร

“สุดท้ายแล้ว ผมมองอย่างนี้ครับว่า การดำเนินงานเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น หากช่วยกันดำเนินงานตลอดทั้งอุตสาหกรรม ก็จะเกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างและขับเคลื่อนได้เร็วและชัดเจน”

“เช่น เรื่องการจัดการขยะที่เป็น Agenda ของประเทศในขณะนี้ หากในอุตสาหกรรมร่วมกันทำ Circular Economy ก็จะเป็นการยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์ก็จะสะท้อนออกมาในสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของสังคมโดยรวมที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นในทุกๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารบุคลากร การกำกับดูแลกิจการอย่างโปร่งใสเป็นธรรม การทำ CSR เพื่อสังคม หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การใช้ทรัพยากรต่างๆ ล้วนส่งผลให้อุตสาหกรรมยกมาตรฐานให้สูงขึ้น และยังประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในระยะยาวด้วยครับ”

การพัฒนาอย่างยั่งยืนคือพื้นฐาน พร้อมปรับกลยุทธ์รับความเปลี่ยนแปลง

“ไทยออยล์เชื่อมั่นว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นฐานที่สำคัญขององค์กร จึงมีการกำหนด ESG เป็น Foundation ในกลยุทธ์เพื่อรองรับกับ VISION 2030 ที่ว่า Empowering Human Life Through Sustainable Energy and Chemicals สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไทยออยล์ กล่าวย้ำถึงแนวทางการบริหารงานที่เป็นหลักยึดมั่นไทยออยล์ตลอดมา พร้อมทั้งเสริมว่า การบริหารสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำกับดูแลกิจการที่ดีคือคีย์เวิร์ดขององค์กร

“ความยั่งยืนคือความยืดหยุ่นเพื่อนำพาองค์กรสู่ 100 ปีตามเป้าหมาย ไทยออยล์เชื่อว่าการบริหารการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นสิ่งจำเป็น ที่ผ่านมาไทยออยล์มุ่งความเป็นเลิศ (Excellence) ในทุกๆ ด้าน ทั้งการผลิต (Operation) การทำธุรกิจ (Business) และการค้า (Commercial) และในอนาคต ไทยออยล์มีแผนที่จะปรับตัวสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง”

และอีกหมุดหมายหนึ่งซึ่งนับเป็นอีกก้าวที่ท้าทายของไทยออยล์คือการก้าวเข้าไปสู่ธุรกิจที่เป็น New S-Curve มากขึ้น พร้อมทั้งตระเตรียมกลยุทธ์ รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และดำเนินธุรกิจเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้ดีมากยิ่งขึ้น

“บริษัทของเรามีการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความผันผวนให้ดีขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนแผนการซื้อน้ำมันดิบ การผลิตและการจำหน่าย การรักษาระดับต้นทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ และการบริหารสภาพคล่อง โดยปรับการซื้อน้ำมันดิบให้มีชนิดเละมีกำลังการผลิตที่เหมาะสม, เพิ่มสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงให้ได้มากขึ้น ได้แก่ Gasoil, Mogas, ลดสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำให้ลดลง นอกจากนี้ก็มีการบริหารจัดการ Stock น้ำมัน และการทำ Hedging”

ทั้งนี้ วิรัตน์ยังบอกอีกว่า ไทยออยล์ได้เตรียมกลยุทธ์ทางธุรกิจด้วยการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อลดการพึ่งพาในธุรกิจน้ำมัน ต่อยอดเข้าสู่ธุรกิจที่มีการเติบโตและมีความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจปิโตรเคมี และ Specialty เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานทดแทน และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การหาโอกาสทางธุรกิจในธุรกิจที่เป็น New S-Curve สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานในอนาคต ผ่าน Corporate Venture Capital

“บริษัทฯ ได้ทบทวนกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันจากธุรกิจหลักและกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจที่มีความผันผวนน้อยกว่า เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นและผลตอบแทนที่ดี โดยใน 10 ปีข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าที่จะมีสัดส่วนของกำไรมาจากธุรกิจโรงกลั่น 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 15% และอื่น ๆ อีก 5%”

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว วิรัตน์กล่าวย้ำว่า ไทยออยล์ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการให้ความสำคัญและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญที่ผลักดันให้ไทยออยล์ได้รับการยอมรับในเวทีโลก เฉกเช่นที่ได้รับการยกย่องเป็นเบอร์ 1 จากการจัดอันดับของ DJSI เป็นปีที่ 6 และเป็นสมาชิกของ DJSI 2563 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

ไทยออยล์ยังภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเชื่อมโยงคุณค่าเหล่านี้ให้กับสังคมไทยมาตลอด60ปี และยังคงมุ่งมั่นต่อยอด พัฒนานวัตกรรม และเติบโตเคียงข้างประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กร 100 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น