xs
xsm
sm
md
lg

Dirty Friday!! วันศุกร์ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเกือบครึ่งล้านตัน/ ธัญญรัศม์ ริลินเกอร์ Arabesque S-Ray

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อของในงานลดราคาแบล็คฟรายเดย์ ที่ร้าน Macy บนถนน 34th นิวยอร์กซิตี้ : เครดิตภาพ REUTERS
ช่วงเวลานี้ของปีก็มาถึงอีกครั้งในการเตรียมความพร้อมสำหรับเทศกาลคริสต์มาสกับ “Black Friday” วันที่ร้านค้าและแบรนด์ต่างๆ ต่างลดราคาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยอย่างบ้าคลั่ง ในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน

ด้วยความตระหนักที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเราหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเฉลิมฉลองของลัทธิบริโภคนิยมนี้ แต่กลับเป็นอีกปีหนึ่ง…ที่เหมือนเดิม

เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาของสหราชอาณาจักร Money.co.uk ได้ออกรายงานเมื่อเร็วๆนี้ ว่า Black Friday นับเป็นภัยคุกคามต่อสภาพภูมิอากาศของโลก จากผลการศึกษาพบว่า 85% ของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรมีการวางแผนที่จะช้อปปิ้งออนไลน์ในวัน Black Friday นี้ แต่กลับมีผู้บริโภคเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่จะพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการจัดส่งสินค้าจากการช้อปปิ้งออนไลน์ของพวกเขา!

รายงานคาดการณ์ว่าการจัดส่งสินค้าซื้อขายออนไลน์ในวัน Black Friday ปีนี้ จะมีปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศราว 429,000 ตัน ซึ่งเทียบได้กับเที่ยวบินทั้งไปและกลับระหว่างลอนดอนและนิวยอร์ก 435 เที่ยว หรือมีน้ำหนักเท่ากับช้าง 61,308 เชือกเลยทีเดียว!!!

ที่แย่ไปกว่านั้น ตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2019 เช่น กรณีของเว็บไซต์อเมซอนซึ่งมีธุรกรรมการซื้อขายในวัน Black Friday ของปี 2019 จำนวน 4.4 ล้านรายการ เมื่อพิจารณาจำนวนพัสดุเฉลี่ยที่มีการส่งมอบและการคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายออนไลน์ที่เกิดขึ้นในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 14% เว็บไซต์อเมซอนจะมีธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ถึง 5.1 ล้านรายการในปี 2020 นี้ รายงานประมาณการว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ในวัน Black Friday เฉพาะที่มาจากเว็บไซต์อเมซอนเพียงที่เดียวนี้ สามารถเพิ่มก๊าซ CO2 ไปสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 18,854 ตันเลยทีเดียว

คำจำกัดความง่ายๆ ของ Black Friday ก็คือวันศุกร์ที่แสนสกปรกนั่นเอง!

สิ่งที่เราต้องการจะสื่อก็คือ ภาพในความเป็นจริงมันแย่กว่าที่เห็น เนื่องจากรายงานข้างต้นพูดถึงการปล่อยมลพิษจากการส่งมอบสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตสินค้าเหล่านั้นตลอดจนจากจากการใช้งานไปจนถึงการกำจัดสินค้าในที่สุดด้วย โดยเฉพาะจากสมมุติฐานที่ว่า สินค้าจากการช้อปปิ้งในช่วง Black Friday ซึ่งอาจจะสูงถึง 80% นั้นจะถูกทิ้งไปหลังจากการใช้งานเพียงครั้งเดียวหรืออาจจะไม่ได้ใช้เลย การมองภาพใหญ่จึงให้ภาพการปล่อยมลพิษที่ดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้พิจารณาการปล่อยมลพิษจากเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมจากสหราชอาณาจักร ได้แก่ Asos, Bohoo และ Zalando ซึ่งแน่นอนภาพที่เห็นนั้นไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ดีเลย โดยข้อมูล ณ วันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าทั้ง Asos และ Bohoo มีคะแนนการปล่อยมลพิษ (Emission Score by Arabesque S-Ray) จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ที่ 41.67 และ 35.26 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าจุดตรงกลางที่ 50 คะแนน Zalando เป็นบริษัทเดียวที่สามารถจัดการกับการปล่อยมลพิษได้ โดยมีคะแนนอยู่ 62.80 จาก 100 คะแนน ทั้งนี้ Emission Score ดังกล่าวจะพิจารณามลพิษที่หลากหลายนอกเหนือจาก C02 เช่น มลพิษทางอากาศ NOx เป็นต้น รวมถึงพิจารณานโยบายเกี่ยวกับการรายงานและการลดการปล่อยมลพิษร่วมด้วย อย่างไรก็ดี หากเราเน้นเฉพาะการปล่อยก๊าซที่เทียบเท่ากับ C02 พบว่า Zalando เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และยังมีเป้าหมายที่ได้รับการอนุมัติโดย Science Based
Target Initiative (SBTi)
ซึ่งเป็นองค์กรกลางระดับโลกในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส ในขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง Bohoo ไม่มีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพียงพอทำให้เราไม่สามารถประเมินผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศดังกล่าวได้

แม้ว่าการดำเนินการเพื่อเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยากแต่ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์… การระบาดของโรคโควิดทำให้เห็นว่าผู้คนยังคงมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และยังทำให้เห็นว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องกลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิมที่เคยอยู่ จะเห็นว่าในระหว่างการล็อกดาวน์ ผู้คนกลับพยายามมากขึ้นในการหลีกเลี่ยงอาหารเหลือทิ้ง พยายามรีไซเคิลและซื้อของที่ใช้แล้วทิ้งให้น้อยลง

ดังนั้น หากเราต้องการก้าวต่อไปสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น เราต้องถามตัวเองด้วยคำถามเก่าที่มีมานานแล้วแต่มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมว่า สินค้านี้ทำให้เรามีความสุขหรือไม่ เราต้องการทุกอย่างที่เราซื้อหรือไม่ เอ็มม่า วัตสัน นักแสดงชื่อดังระดับโลก กล่าวว่า “ในฐานะผู้บริโภค เรามีอำนาจมากมายในการเปลี่ยนแปลงโลกด้วยการระมัดระวังในสิ่งที่เราซื้อ”

บทความโดย ธัญญรัศม์ ริลินเกอร์
Arabesque S-Ray ผู้ให้บริการข้อมูล คำปรึกษา และโซลูชั่นด้านความยั่งยืน (ESG) โดยมีการประเมินความยั่งยืนในมิติต่างๆของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ข้อมูลอัพเดททุกวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น