xs
xsm
sm
md
lg

ทริป ‘มาหาสมุทร’ สู่ความสำเร็จในการจัดการ “ขยะติดเกาะ” ที่เกาะยาวใหญ่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขยะติดเกาะ มาจากทุกทิศทาง โดยเฉพาะที่มาจากขยะทะเล ถึงแม้เราจะบอกว่าไม่ได้ทิ้ง แต่รู้หรือไม่ ขยะเดินทางไปไกลทั่วโลก แล้วจะยืนยันได้อย่างไร ว่าไม่มีส่วนสร้างขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่สลายตัวยาก  อายุยืนยาวกว่าอายุคน
อยากให้ย้อนดูทริป ‘มาหาสมุทร’ ชมคลิปบนเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ที่ The Cloud ร่วมกับ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ปลายปี 2561)
กลุ่มคนเล็กๆ มองเห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกอย่างเข้าใจ ว่าคนเราทุกคนบนโลกนี้ล้วนสัมพันธ์กับท้องทะเล ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลจากทะเลแค่ไหน จะอยู่เชียงใหม่ อยู่กรุงเทพฯ หรืออยู่อีกซีกโลก หากเกิดอะไรขึ้นกับทะเล มันก็ส่งผลต่อระบบนิเวศและส่งผลต่อตัวเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ลองดูสิ! ขยะติดเกาะ บนเกาะยาวใหญ่ ถึงแม้ที่นี่จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่กันแบบพออยู่พอกิน แต่ไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ ว่าเกาะยาวใหญ่แห่งนี้ ก็ยังหนีปัญหาขยะพลาสติกที่มากับทะเลไม่พ้น เพราะเจ้าขยะผลิตภัณฑ์พลาสติก ซัดเข้ามาทุกทิศทาง

แต่ ณ วันนี้ “ขยะติดเกาะ” บนเกาะยาวใหญ่ที่มีความท้าทายเป็นพิเศษ ได้รับการแก้ปัญหาจนเป็นผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ จนยกให้เป็นชุมชนต้นแบบ ในการจัดการขยะติดเกาะ ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานใกล้ชิดร่วมกับชุมชน และคนในชุมชนก็มีความตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะแล้ว จึงได้ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมได้

ทุกวันนี้ชุมชนเข้าใจแล้วว่าหากคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตามหลักการ 3 R จะทำให้ขยะที่ถูกทิ้งนั้นกลายเป็น “วัสดุรีไซเคิล” กลับเข้ากระบวนการการจัดการ จะส่งผลดีแก่ชุมชนในหลายมิติ ทำให้ชุมชนร่วมมือร่วมใจกันจัดการวัสดุรีไซเคิลเป็นอย่างดี ตั้งแต่การคัดแยกวัสดุรีไซเคิลในระดับครัวเรือน ประสานงานในระดับหมู่บ้านในการรวบรวมเอาวัสดุรีไซเคิลที่คัดแยกไว้มารวมกัน และนัดหมายผู้รับซื้อให้เข้ามารับวัสดุรีไซเคิลเพื่อเตรียมขนย้ายออกจากเกาะอย่างมีแบบแผนและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์รายเดือน เพื่อหมุนฟันเฟืองให้การจัดการ “ขยะติดเกาะ” เป็นไปอย่างยั่งยืน เช่น การรวมพลเก็บขยะและคัดแยกวัสดุรีไซเคิลตามพื้นที่สาธารณะ เพื่อนำไปจัดการตามกระบวนการที่เหมาะสมต่อไป

ขณะเดียวกัน ก็ได้รับคำมั่นจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ว่าจะยังคงเดินหน้าโครงการ การจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย: ปฏิบัติการภาคประชาชนสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ระยะที่สามตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อสานต่อปณิธานในการเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านการจัดการขยะเชิงบูรณาการ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมระดับบุคคล ผลักดันให้ปริมาณขยะพลาสติก และขยะอื่นๆ ที่หลุดลอดลงทะเลลดลง พร้อมกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านการจัดการขยะพลาสติกทั้งในระดับท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ และในระดับประเทศต่อไป

ถ้าถามว่าทำไม... เราทุกคนควรเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกทางทะเลเหล่านี้ คงได้คำตอบแล้ว เพราะไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกล หรืออยู่ติดทะเล ขยะพลาสติกที่เราทิ้งอาจตกลงในทะเลโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย

การจัดการขยะทั้งในระดับชุมชนและระดับตำบลอย่างเป็นรูปธรรม บนเกาะยาวใหญ่

การช่วยเหลือโดยมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และ IUCN


เครดิตคลิป The Cloud


กำลังโหลดความคิดเห็น