ไทยแพน เปิดผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า ระบุเจตนาให้ผู้บริโภครับทราบตามความเป็นจริง เหตุคนจำนวนมากเข้าใจว่าการปลูกแบบนี้ปลอดภัยกว่า หรือไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมสรุปผลการตรวจผักและผลไม้ชนิดต่างๆ ที่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่า ผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า โดยผลการสุ่มตรวจผักไฮโดรโปนิกส์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 9 ตุลาคม 2563 จำนวน 52 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 30 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 57.7% ใกล้เคียงกับการตกค้างของผักผลไม้ทั่วไปที่สุ่มตรวจทั่วประเทศในคราวเดียวกันเกือบ 500 ตัวอย่าง
โดยตัวอย่างที่มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 40 ตัวอย่าง (รวมที่พบการตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง) พบว่า เป็นสารกำจัดแมลง 18 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 17 ชนิด และสารกำจัดแแมลงและไร 3 ชนิด
“ผักไฮโดรโปนิกส์” เป็นระบบการปลูกผักที่ให้ปุ๋ยเคมีผ่านสารละลายในน้ำหรือตัวกลาง โดยอาจปลูกในระบบปิด เช่น ในโรงเรือน หรือในพื้นที่โล่งก็ได้ สภาวะพืชที่อวบน้ำและมีธาตุอาหารในรูปสารละลาย ดึงดูดให้โรคแมลงโจมตี ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) สารเคมีกำจัดโรค (fungicide) เป็นต้น เพื่อควบคุมกำจัด โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีประเภทดูดซึมผสมอยู่ในสารละลายเพื่อใช้กำจัดโรคแมลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงในการตรวจพบสารเคมีตกค้างของผักไฮโดรโปนิกส์แทบจะไม่แตกต่างใดๆ กับผักทั่วไป
ผลการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ ตอกย้ำผลการตรวจวิเคราะห์เมื่อก่อนหน้านี้ของไทยแพน ( ผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ พ.ศ. 2561 ของไทยแพน พบการตกค้างเกินมาตรฐาน 19 ตัวอย่างจาก 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 63.3% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด)
การนำเสนอข้อมูลนี้ มีเจตนานำเสนอข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบตามความเป็นจริง เนื่องจากความเข้าใจของคนเป็นจำนวนมาก เข้าใจว่าผักในระบบปลูกเช่นนี้ปลอดภัยกว่า หรือไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งขณะนี้ไม่เป็นความจริงตามผลการวิเคราะห์ข้างต้น โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดว่า ผักยี่ห้อใด และแหล่งจำหน่ายใดพบการค้างได้จากลิงค์ https://www.thaipan.org/highlights/2283 หรือในภาพ comment 1
ผลการวิเคราะห์นี้ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังห้าง ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ให้ความรู้ และปกป้องสุขภาพของประชาชน
ไทยแพนดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส โดยปราศจากอคติใดๆ ต่ออุตสาหกรรมไฮโดรโปนิกส์ โดยใช้ห้องปฎิบัติการในประเทศสหราชอณาจักร ซึ่งมีความสามารถในการตรวจวิเคราะห์สารพิษกว่า 500 ชนิด ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 1025 แปรผลโดยยึด พ.ร.บ. อาหารและมาตรฐานสารตกค้างของกระทรวงสาธารณสุข โดยรายละเอียดผลการตรวจ ซึ่งรวมทั้งภาพถ่าย แบรนด์ ตรามาตรฐาน ปริมาณการตกค้างทั้งหมด ได้เปิดเผยต่อหน่วยงานราชการและห้างซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายแล้ว เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นที่จะแสดงความรับผิดชอบของตน
เราเชื่อว่า การยอมรับปัญหาตามความเป็นจริงเท่านั้น ที่จะนำไปสู่ปัญหาได้ในที่สุด และพลังของประชาชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้
นอกจากนี้ ไทยแพนสรุปให้เห็นภาพรวมชัดๆ “ผักผลไม้ชนิดต่างๆ ที่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน” จากผลการตรวจวิเคราะห์การสุ่มตรวจผักและผลไม้จำนวน 509 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ (ประกอบไปด้วยผลไม้จำนวน 9 ชนิด ผักจำนวน 18 ชนิด และของแห้ง 2 ชนิด) เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกบริโภคผักที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า
ผักที่พบว่ามีโอกาสเจอสารพิษตกค้างสูง (คิดจาก % ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานจากจำนวนตัวอย่างทั้งหมดของพืชผักชนิดนั้นที่ส่งตรวจ) ควรบริโภคจากแปลงที่ผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ หรือแปลงที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามีการผลิตที่ปลอดภัยจริงๆ การล้างหลายๆครั้งอาจลดสารพิษได้ระดับหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับประเภทของสารที่ใช้ในการฉีดพ่น เนื่องจากเกินกว่าครึ่งเป็นสารประเภทดูดซึม
การหันไปบริโภคผักท้องถิ่น หรือผักยืนต้นประเภทต่างๆที่รู้ที่มาเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และหากเป็นไปได้การปลูกผักกินเอง จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด
อย่างไรก็ตาม การไม่บริโภคผักและผลไม้เลย จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวเช่นกัน
ดังนั้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป คือการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ และหน่วยงานของรัฐต้องแสดงความรับผิดชอบในการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง เนื่องจากผลการตกค้างเกินมาตรฐาน 58.7% นั้นสูงเกินกว่าที่จะรับได้ เพราะในประเทศยุโรปหรือญี่ปุ่นนั้น การสุ่มตรวจการตกค้างจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 3-5% เท่านั้น