เพจเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพช้างป่าที่กำลังกินดินโป่ง ใครๆ เห็นภาพก็อดขำไม่ได้ ว่าน้องต้องพยายามขุดคุ้ยค้นหาถึงขนาดขาขวิด ขาหลังสองข้างถึงกับชี้ฟ้าอย่างนั้น
มันจำเป็นต้องกินให้ได้ถึงขนาดนั้นเชียว #กินดินโป่งอย่างไรให้คนจำ ช้างตัวนี้อาจทำให้คนหลายคนที่ไม่เข้าใจ หรืออดสงสัยใช่ไหมว่า...ช้างกินดินโป่งไปทำไม?
#ดินโป่ง เป็นดินที่มีรสชาติเค็มเป็นแหล่งสะสมของแร่ธาตุหลากหลายชนิดที่มีความจำเป็นต่อร่างกายของสัตว์ป่าหลายชนิด อย่างเช่น ช้าง เพราะช้างเป็นสัตว์กินพืช เมื่อต้องการแร่ธาตุ ช้างจึงต้องกินดินโป่งเพื่อทดแทนแร่ธาตุที่ขาดไปซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนได้จากการกินพืช
ดินโป่งช่วยให้ระบบย่อยอาหารมีความสมดุล เนื้อดินที่สัตว์กินพืช กินเข้าไปจากโป่งในกลุ่มแร่ดินเหนียว (Clay minerals) ช่วยให้ลำไส้ของสัตว์ย่อยอาหารได้ดีขึ้น ลดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และขจัดสารพิษจากพืชที่กินเข้าไป (detoxification) เช่น แทนนิน (Tannins) อัลคาลอยด์ (Alkaloids) และออกซ์ซาเลท (Oxalates)
“โป่ง” คือบริเวณที่มีแอ่งดินเค็มหรือบริเวณที่มีดินโป่ง ที่พบโดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ โป่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และโป่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งโป่งแต่ละแห่งมักจะมีแร่ธาตุแต่ละชนิดต่างกัน แร่ธาตุเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นต่อร่างกายและการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า
โป่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเสริมแหล่งอาหารให้แก่สัตว์กินพืชในป่า มีส่วนประกอบเบื้องต้นคือ แร่ธาตุอาหารสัตว์ ไดแคลเซียมฟอสเฟต และเกลือแกง เมื่อมีฝนตกหรือความชื้นจากน้ำค้างเกลือก็จะละลายทำให้ดินบริเวณนั้นเค็ม สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ก็จะพากันมากินดินเหล่านี้
การใช้ประโยชน์ในพื้นที่โป่ง สามารถใช้ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงพบได้ในสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหาร ซึ่งนอกจากช้าง ยังมี เก้ง กวาง โดยสัตว์เหล่านี้จะกินดินจากโป่งดิน หรือดื่มน้ำจากโป่งน้ำเพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุหรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้ครบถ้วน
ส่วนการใช้ประโยชน์ทางอ้อม คือสัตว์ที่กินสัตว์เป็นอาหาร (Carnivores) หรือผู้ล่า เช่น เสือและหมาใน จะได้ประโยชน์จากโป่งในทางอ้อมโดยการใช้เป็นพื้นที่ในการซุ่มโจมตีเหยื่อหรือล่าสัตว์กินพืชที่ลงมากินดินโป่ง ซึ่งการล่าเหยื่อจากบริเวณนี้เป็นคำตอบว่าเหตุใดผู้ล่าจึงไม่จำเป็นต้องกินดินโป่งก็สามารถได้รับแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายได้ ซึ่งประโยชน์จากการกินต่อกันเป็นทอด ๆ นี้ทำให้เกิดการถ่ายทอดพลังงานในสิ่งมีชีวิต (energy flow) เกิดขึ้นในระบบนิเวศซึ่งส่งผลให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุลอีกด้วย