xs
xsm
sm
md
lg

พบหน่วยงานรัฐถอนตัว!! “วิชา มหาคุณ” จี้รัฐบาลต้านทุจริตจริงจัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วิชา มหาคุณ” จี้รัฐบาลต้องเอาจริงในการบังคับใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” หลังพบหน่วยงานรัฐถอนตัวไม่เข้าร่วม ระบุการไม่ปฏิบัติเท่ากับล้มเหลว ถดถอยต้านทุจริต ด้าน “ดร.สมเกียรติ” ประธานทีดีอาร์ไอแนะควรใช้เป็นเครื่องมือหลักในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และรัฐควรจัดสรรงบสนับสนุนภาคประชาชนต้านโกง เพื่อความยั่งยืนของโครงการข้อตกลงคุณธรรม ชี้ที่ผ่านมาช่วยรัฐประหยัดได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ข้อตกลงคุณธรรม : ต้านโกง โปร่งใส ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ” จัดโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่า “การจะเปลี่ยนการให้สินบนได้ในช่วงข้ามคืนเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นสัญญาณว่า ผู้ให้คำมั่นปรารถนาที่จะขับเคลื่อนสังคมที่ปราศจากการทุจริตโดยส่งข่าวสารว่า “เราจะมุ่งไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม Better Society สะอาด โปร่งใส” 2 คำนี้ที่เรียกว่าเป็นจิตวิญญาณของข้อตกลงคุณธรรม ถ้าทุกฝ่ายมีเจตจำนงที่เรียกว่า Political Will โดยเฉพาะรัฐบาล รัฐบาลต้องแน่วแน่ว่า ออกกฎหมายมาแล้วต้องสนับสนุนทำให้การปฏิบัติงานได้ผล ไม่ใช่ว่าล้มลุกคลุกคลาน แล้วก็หมดแรงไปเอง”

“เมื่อกำหนดมาว่าจะมีข้อตกลงในด้านคุณธรรมแล้ว บางองค์กรภาครัฐถอนตัวออกดื้อๆ ช่วยฟ้องประชาชนว่ามีองค์กรไหนบ้าง สะท้อนว่าไม่ใช่เฉพาะการล้มเลิกอย่างเดียว แต่แสดงให้เห็นถึงความถดถอยทางด้านของคำมั่นสัญญาที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่สังคมที่ปราศจากการทุจริตอีกด้วย” ศ.พิเศษ วิชา กล่าว

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการนำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้กับโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ นั้น มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จริง โดยผลศึกษาของทีมวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า ส่งผลให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณถ้าโครงการไหนมีการแข่งขันมาก ราคาก็ลดจากราคากลางได้มาก เช่น ถ้าแข่งขันโดยใช้วิธีอี-บิดดิ้ง ไม่ใช้วิธีจัดจ้างวิธีพิเศษ จะสามารถลดราคาจากราคากลางลงได้ 12% แต่ถ้านำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ร่วมด้วยจะลดราคาลงได้อีก 14% หรือรวม 26% ทำให้ที่ผ่านมาภาครัฐประหยัดงบประมาณได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปี (2558-62) หรือประหยัดได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท

“ข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์เรื่องการต้านโกง ทั้งในด้านหลักคิด และหลักฐานเชิงประจักษ์ อีกทั้งในแง่ผลตอบแทนด้านการเงินในการดำเนินการก็มีความคุ้มค่าสูงมาก จึงมีความเห็นว่าควรทำให้ข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเสนอให้จัดสรรงบประมาณจากภาครัฐมาสนับสนุนโครงการข้อตกลงคุณธรรมประมาณร้อยละ 0.5 จากวงเงินที่ประหยัดไปได้ปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนของโครงการ” ดร.สมเกียรติ กล่าว

 ภาพ – (จากซ้ายไปขวา)  ดร.มานะ นิมิตรมงคล , ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ , ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ , นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ,  พลอากาศตรี หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์
 พลอากาศตรี หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า ปัญหาที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างมีหลายเรื่อง จึงต้องนิยามให้ชัดเจนว่า การทุจริต คือ การรับสินบนอย่างเดียว หรือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายด้วย เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าเป็นเรื่องการผิดระเบียบ ซึ่งทำให้คนไม่กล้าทำงาน จึงต้องหาวิธีตรวจสอบและแยกระหว่างคนทุจริตกับคนทำผิดระเบียบออกจากกัน จะเห็นว่าพอมีกติกาใหม่ออกมา ก็จะมีคนหาวิธีที่จะไม่ปฏิบัติตามกติกาใหม่ เลี่ยงกติกาใหม่ ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาถึงขั้นที่ว่าโกงได้ โดยไม่ผิดระเบียบ อยากย้ำว่าถ้ามีการทุจริต ไม่ได้เสียแค่วงเงินที่มีการทุจริตหรือมีการรับหรือจ่ายสินบน ความเสียหายมากกว่านั้น

“นอกจากได้สิ่งของที่ไม่คุ้มค่าแล้วเราต้องทนใช้ และยังเสียโอกาสที่จะได้ใช้ของดีๆ ด้วย ดังนั้น อยากให้เพิ่มบทบาทผู้สังเกตการณ์ในโครงการข้อตกลงคุณธรรมเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวกับการดำเนินโครงการทั้งโครงการ ไม่ใช่ตรวจสอบเฉพาะเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น” พล.อ.ต. ม.ล.ประกิตติกล่าว

นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ด้านการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และอดีตผอ.การยาสูบ กล่าวว่า โรงงานยาสูบได้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักรของโรงงาน ซึ่งทำให้ประหยัดงบได้ 31% และปัจจุบันโรงงานยาสูบได้นำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้กับอีกหลายโครงการ ผลของการเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรมทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในองค์กร สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร โดยเน้นการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับ Young Blood ด้วย และเห็นผลตอบรับที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

“การมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมดูการทำงานในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร ช่วยทำให้ทำงานได้สบายใจขึ้น ที่สำคัญคือผลของการเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในองค์กร สร้างวัฒนธรรมใหม่ในองค์กรภาครัฐ ให้พร้อมรับการตรวจสอบอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะสัญญาณที่ดีจากพนักงานที่เป็นเลือดใหม่ที่จะสืบทอดวัฒนธรรมใหม่นี้สืบต่อไปด้วย” น.ส.ดาวน้อย กล่าวย้ำ

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวย้ำว่า ข้อตกลงคุณธรรม เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดอันหนึ่ง และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้นมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ และเห็นด้วยกับแนวคิดในการจัดสรรงบประมาณ 0.5% จากงบประมาณที่ประหยัดได้ปีละ 10,000 ล้านบาทมาเป็นงบประมาณในการสนับสนุนภาคประชาชนเพื่อความยั่งยืนของโครงการข้อตกลงคุณธรรม

“ข้อตกลงคุณธรรม นอกจากเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตภาครัฐแล้ว ยังนับเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และที่สำคัญที่สุดคือ บทเรียนจากการขับเคลื่อนโครงการข้อตกลงคุณธรรมสามารถนำไปใช้ปฏิรูประบบราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของภาครัฐได้เป็นอย่างดี”นายวิชัยกล่าว

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อสังเกตของผู้สังเกตการณ์อิสระที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม 1 โครงการ คือ การจัดซื้อดาวเทียมของ GISTDA จากโครงการที่เข้าร่วมทั้งหมด 118 โครงการ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ แต่ต่อไปนี้องค์กรฯจะพยายามผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อสังเกตการณ์ให้มากขึ้น

สำหรับโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact ) เป็นเครื่องมือที่องค์กรโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International – TI) สร้างขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อตกลงคุณธรรมในประเทศไทยเกิดจากการร่วมมือขององค์กรภาคเอกชน ผลักดันการออกพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 และระบุให้เป็นเครื่องมือที่จะให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2558 และจนถึงปัจจุบันมีโครงการมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมทั้งสิ้น 118 โครงการ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 63 โครงการ คิดเป็นงบประมาณรวม 1.84 ล้านล้านบาท และทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณได้ 82,796 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.06% ของงบประมาณดังกล่าว

ภาพ -  นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
๐ โครงการข้อตกลงคุณธรรม – IP (Integrity Pact) : ความจำเป็นและความเหมาะสมต่อประเทศไทย

ดังที่ทราบกันว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญและพยายามหาวิธีป้องกัน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI ) จึงได้พัฒนาเครื่องมือที่ชื่อ “Integrity Pact” หรือ “IP” ขึ้น เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ นับเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลจากการใช้อย่างแพร่หลายในหลายๆประเทศ

สำหรับประเทศไทย มีการนำ “IP” หรือ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2558 และปัจจุบันถูกระบุให้เป็นเครื่องมือหลักสำหรับภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป้าหมายสำคัญเป็นเรื่องประสิทธิภาพการใช้งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยกระบวนการทำงานที่สร้างความโปร่งใส โดยมุ่งเน้นโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป นอกเหนือจากการป้องกันการทุจริตแล้ว ยังทำให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพ เกิดการแข่งขันที่กว้างขวางและเป็นธรรม ทั้งนี้ หลักการสำคัญของข้อตกลงคุณธรรม ประกอบด้วย

1.ข้อตกลงคุณธรรมเป็นกระบวนการและมีความเป็นสากล นั่นคือจะมีองค์ประกอบของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ หรือหน่วยงานรัฐ เจ้าของโครงการ ให้คำมั่นไม่ทำทุจริต ไม่เรียก—รับ หรือยอมรับผลประโยชน์อื่นใด มีบทบาทเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน และให้ผู้ประมูลยอมรับกติกาของข้อตกลงคุณธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอราคา ภาคประชาชน หรืออาสาสมัครผู้สังเกตการณ์อิสระ ทำหน้าที่แจ้งเตือนนำเสนอเป็นรายงานให้ทุกฝ่ายได้รับทราบหากพบข้อมูลบ่งชี้ที่อาจจะเกิดทุจริต หรือข้อสงสัยว่าจะเกิดความเสียหายต่อโครงการและผลประโยชน์สาธารณะ และ ภาคธุรกิจ หรือ องค์กรเอกชนผู้เข้าร่วมเสนอราคา ให้คำรับรองไม่ให้สินบน หรือเสนอสินบนเพื่อประโยชน์ในการเสนอราคา และยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

ในกระบวนการดังกล่าว ภาครัฐรับผิดชอบดำเนินการโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ส่วนภาคประชาชน ดำเนินการโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีภาคประชาชน ซึ่งหมายถึง อาสาสมัครผู้สังเกตการณ์อิสระสำหรับภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมเสนอราคาประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

2.ข้อตกลงคุณธรรมมีวิธีดำเนินงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 63 ในที่นี้ได้แก่ ความร่วมมือจาก “อาสาสมัครผู้สังเกตการณ์อิสระ” หรือ “Independent Observer” ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจากหลากหลายสาขา อาชีพ นับจากปี 2558 ถึงปัจจุบัน มีผู้สังเกตการณ์อิสระที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ประสานความร่วมมือและได้รับการคัดสรรจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพบัญชีฯ เข้าไปปฏิบัติหน้าที่แล้วมากกว่า 184 คน ในอนาคตคาดหวังว่า จะสามารถเผยแพร่รายงานของผู้สังเกตการณ์อิสระให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนขยายผลมากยิ่งขึ้น

3.ข้อตกลงคุณธรรมมีระบบบริหารจัดการ ระบบฐานข้อมูล ที่จะอำนวยความสะดวกให้อาสาสมัครผู้สังเกตการณ์อิสระได้ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนได้มีประสิทธิผล

จนถึงปัจจุบัน โครงการข้อตกลงคุณธรรมได้สร้างผลเชิงประจักษ์ มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้จำนวนทั้งสิ้น 118 โครงการ โดยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 63 โครงการ คิดเป็นงบประมาณมูลค่ารวมกว่า 1.84 ล้านล้านบาท ปรากฎว่าสามารถประหยัดงบได้ 82,796 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.06 ของงบประมาณดังกล่าว

จากการที่โครงการข้อตกลงคุณธรรมดำเนินการเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ถึงเวลาที่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ (Expert Opinion) จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาหัวข้อ “ข้อตกลงคุณธรรม : ต้านโกง โปร่งใส ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ” โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เชื่อว่า วิทยากรเหล่านี้จะสามารถสะท้อนความคิดเห็นได้ว่า มีอะไรที่จะต้องปรับปรุงพัฒนา และจะพัฒนากันอย่างไร เพื่อจะสนับสนุนความยั่งยืนของข้อตกลงคุณธรรมให้สังคมได้ประโยชน์ต่อเนื่องต่อไป จากนั้นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จะนำข้อเสนอแนะนี้เผยแพร่ต่อสาธารณชนและนำเสนอต่อภาครัฐต่อไป