xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลวิจัยปลาโบราณ ตั้งชื่อตามผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ - ปลาปอด
เผยผลวิจัย “ซากปลาปอด” แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ พบเป็นชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อ “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” เป็นเกียรติแก่ผู้เชี่ยวชาญ


ผลการศึกษาวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ปลา Dr.Lionel Cavin พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจนีวา ร่วมกับดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งศึกษาวิจัย “ซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก” ที่พบใน “แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย” จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า รูปสัณฐานของส่วนกะโหลกและแผ่นฟันปลาปอดที่พบที่ภูน้อย จัดอยู่ในสกุล “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส” แต่มีความแตกต่างจากชนิดอื่น จึงนับว่าเป็น “ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก” และขนานนามว่า “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” (Ferganoceratodus annekempae) ซึ่งในการตั้งชื่อชนิดนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr. Anne Kemp (ดร.แอน เคมป์) ผู้เชี่ยวชาญปลาปอดของโลก


ปลาปอดชนิดดังกล่าวจัดเป็น “ปลาโบราณ” เนื่องจากพบการปรากฏเมื่อ 417 ล้านปี หรือในยุคดีโวเนียน ปลาปอดที่พบครั้งนี้ มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ลักษณะของปลาปอดคือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอกและครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม


ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าวผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ ห้องประชุม 101 อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆ นี้

ภาพ - ปลาปอดออสเตรเลีย
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย อธิบายว่า ปลาปอด (อังกฤษ: Lungfish, Salamanderfish, Amphibious fish) เป็นปลาน้ำจืดที่อยู่ในชั้นย่อย Dipnoi เป็นปลาจำพวกเดียวในโลกที่ยังมีการสืบสายพันธุ์จนถึงปัจจุบัน หายใจด้วยอวัยวะที่คล้ายกับปอดของสัตว์ทั่วไป โดยไม่ใช้เหงือกเหมือนปลาชนิดอื่นๆ

ปลาปอดได้ชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต เพราะเป็นปลาที่ไม่ได้เปลี่ยนรูปร่างมากนักจากยุคก่อนประวัติศาสตร์

ปลาปอดจัดอยู่ในชั้นใหญ่ Sarcopterygii ซึ่งมีลักษณะเด่น คือมีพู่เนื้อหรือเนื้อเยื่อเป็นครีบ มีครีบหางเดี่ยว มีครีบ 2 คู่ มีเกล็ดแบบ Cosmoid แตกต่างจากปลาชนิดอื่นๆ ในโลก ปลาในกลุ่มนี้แยกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. ปลาซีลาแคนท์ 2. ปลาปอดแอฟริกาและปลาปอดอเมริกาใต้ 3. ปลาปอดออสเตรเลีย

“ปลาปอด” ทั้งหมดมีรูปร่างเรียวยาวคล้ายปลาไหล ยกเว้นปลาปอดออสเตรเลีย ซึ่งแยกย่อยไปอีกกลุ่ม ถือเป็นหลักฐานและร่องรอยของการวิวัฒนาการของปลาที่พัฒนามาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ปลาปอดมีกระดูกครีบอกคู่ที่เทียบได้กับแขนขาของสัตว์ชั้นสูง มีแกนยาวและมีกล้ามเนื้อประกอบชัดเจน 

เมื่ออยู่ในน้ำหรือบนบกที่ชื้นแฉะจะคืบคลานคล้ายสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หางมีลักษณะเป็น Diphycercal เกล็ดเป็น Cosmoid ภายในลำไส้มีแผงเนื้อที่วางตัวเป็นเกลียวตามความยาวลำไส้ ชื่อของปลาปอดมีที่มาจากปลาชนิดนี้มีกระเพาะลมหนามาก อยู่ใกล้สันท้อง (เทียบได้กับหน้าอก) และมีท่อเชื่อมกับส่วนล่างทางด้านหน้าของกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่เป็นปอดคอยดูดซับออกซิเจนและกำจัดขยะ ในขณะที่ปลาทั่วไปในส่วนนี้จะทำหน้าที่ช่วยพยุงตัวในขณะที่ปลาว่ายน้ำ กินอาหารได้หลากหลาย กินได้ทั้งพืชและสัตว์น้ำและสามารถขบกัดสัตว์มีกระดองได้เป็นอย่างดี เพราะมีกรามและฟันที่แข็งแรง

ภาพ - ปลาปอดอเมริกาใต้
นอกจากนี้ "ปลาปอด" ยังมีระบบจมูกที่แตกต่างจากปลาทั่วไป คือมีท่อเชื่อมกับช่องปาก ในปลาปอดยุคใหม่ (ปลาปอดแอฟริกา และ อเมริกาใต้) สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แม้ในช่วงที่แหล่งน้ำที่มันอาศัยแห้งขอด โดยจะขุดโพรงในโคลนและปิดผนึกโพรงนั้นไว้ด้วยเมือก ในระหว่างนั้นจะหายใจเอาอากาศโดยตรงผ่านทางถุงลมและจะลดการเผาผลาญพลังงาน อย่างรวดเร็ว แต่ถึงกระนั้นปลาปอดก็สามารถจมน้ำตายได้หากไม่สามารถขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้

"ปลาปอด" แบ่งเป็น 3 วงศ์ใหญ่ๆ คือ “ปลาปอดยุคเก่า” ได้แก่ ปลาปอดออสเตรเลีย (Ceratodontidae) ซึ่งพบเฉพาะประเทศออสเตรเลียบริเวณรัฐควีนส์แลนด์เท่านั้น และ “ปลาปอดยุคใหม่” แบ่งเป็น 2 วงศ์ คือ ปลาปอดแอฟริกา (Protopteridae) มีทั้งหมด 7 ชนิด 1 สกุล พบในหนองน้ำทวีปแอฟริกาเท่านั้น และปลาปอดอเมริกาใต้ (Lepidosirenidae) พบทั้งหมด 1 สกุล และ 1 ชนิดเท่านั้น โดยทั้งหมดมีพฤติกรรมคล้ายกัน คือสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ บางวงศ์สามารถขุดรูจำศีลใต้ดินได้ในฤดูแล้ง และอาศัยอยู่ในหนองน้ำหรือแหล่งน้ำที่ไม่ค่อยสะอาดหรือมีปริมาณออกซิเจนมากนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น