xs
xsm
sm
md
lg

ไทยค้นพบซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก อายุ 150 ล้านปี ที่ จ.กาฬสินธุ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรธรณีได้เปิดผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก "เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป" ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดเป็นปลาโบราณที่พบมาตั้งแต่ 417 ล้านปี มีคุณสมบัติพิเศษสามารถหายใจด้วยปอด ร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก เป็นผลการศึกษาวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ปลาของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจนีวา ร่วมกับภาควิชาชีววิทยาและศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยนี้ ถือเป็นปลาปอดชนิดใหม่ของโลก "เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป (Ferganoceratodus annekempae)"

ทั้งนี้ ได้ค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ปลาปอด ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกะโหลกและแผ่นฟัน คาดเป็นชิ้นส่วนจากปลาตัวเดียวกัน ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เพราะปลาปอดจัดเป็นปลาโบราณที่พบปรากฏมาเมื่อ 417 ล้านปี หรือในยุคดีโวเนียนแล้วยังคงพบในปัจจุบัน ซึ่งปลาปอดที่พบครั้งนี้มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ลักษณะของปลาปอด คือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอกและครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอสมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน ดังนั้น ซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดสกุลเฟอร์กาโนเซอราโตดัส ถือเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่หายาก โดยเฉพาะส่วนกะโหลก ที่ผ่านมาสกุลนี้พบในจีน รัสเซีย และไทยเท่านั้น จึงความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก