xs
xsm
sm
md
lg

CHULA Zero Waste ตรวจสอบแบรนด์ “จากขยะริมรั้วจุฬาฯ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กิจกรรม Trash Ranger&Brand Audit โดยการจัดของ CHULA Zero Waste (เมื่อ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา) นิสิตจุฬาลงกรณ์รักษ์โลกกว่า 20 คน ช่วยกันเก็บขยะที่ซ่อนอยู่ตามริมรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

แบ่งออกเป็น 4 ทีม กลุ่มเก็บขยะบริเวณฟุตบาทและริมรั้วจุฬาฯ ตั้งแต่หน้ารร.เตรียมอุดมฯ จนถึงคณะบัญชี และมีกลุ่มที่ข้ามฝั่งไปเก็บขยะบริเวณฟุตบาท และริมรั้วคณะครุศาสตร์ถึงคณะนิเทศศาสตร์ รวมๆ แล้วช่วยกันเก็บขยะเป็นระยะทางราว 1 กิโลเมตร

แต่ให้เก็บขยะอย่างเดียวจะดูธรรมดาเกินไป กิจกรรมนี้จึงเป็นการเก็บขยะที่มีการคัดแยกขยะไปด้วยเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการขยะหลังจบกิจกรรม ทุกทีมจึงมีถุงขยะแบ่งเป็น 4 ถุง คือ

1. ถุงสีน้ำเงิน สำหรับใส่ขยะทั่วไป เช่น ทิชชู่ ขวดพลาสติกที่เลอะมากๆ จนรีไซเคิลไม่ได้ กล่องนมที่ยุ่ยยู่ยี่หมดสภาพไปแล้ว
2. ถุงสีเหลือง สำหรับใส่ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติกที่ค่อนข้างสะอาด กระป๋องโค้ก กระป๋องกาแฟ
3. ถุงกระสอบ สำหรับใส่ขวดแก้ว เช่น ขวดเบียร์ ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ที่ใช้ถุงกระสอบเพราะขวดแก้วหนักใช่เล่น (ทีมงานเคยผ่านประสบการณ์เอาขวดแก้วใส่ถุงขยะธรรมดาแล้วถุงขาดมาแล้ว)
4. ถุงใส่ขยะอันตราย สำหรับใส่ขยะอันตรายโดยเฉพาะ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หลอดไฟ (ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อละว่าตามฟุตบาทมีขยะพวกนี้อยู่จริง)

หลังจากที่ช่วยกันเก็บขยะไป 1 ชั่วโมง ในระยะทาง 1 กิโลเมตร ก็มาชั่งน้ำหนักขยะกันว่าได้ขยะมากเท่าใด ผลลัพธ์ ได้ขยะชั่งออกมา 25.1 กิโลกรัม. แบ่งเป็น- ขยะทั่วไป 14.3 กก.- ขยะรีไซเคิล 4.9 กก.- ขวดแก้ว 5.5 กก.- ขยะอันตราย 0.4 กก.

พบขยะสุดแปลกที่ได้มาจากการเก็บขยะ กิจกรรมครั้งนี้ขอยกแชมป์ให้จานเพาะเชื้อ กรวยจราจรสีส้ม รองเท้า และขวดน้ำใส่น้ำเก๊กฮวย! (ขวดใส่ฉี่)

สำหรับขยะที่เก็บได้ทั้งหมด ทีมงานนำไปจัดการอย่างถูกวิธีตามประเภทของขยะโดยทีมงานของสำนักบริหารระบบกายภาพที่ดูแลเส้นทางการจัดการขยะในจุฬาฯ ให้ขยะแต่ละประเภทได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ทั้งนี้ ขยะที่เก็บได้ นำมาตรวจสอบแบรนด์หรือ Brand Audit แต่ละกลุ่มได้แชร์กันว่าไปเก็บขยะมาเจอขยะของแบรนด์ไหนกันบ้าง ปรากฏว่าเจอขยะกันกลุ่มละ 25-30 แบรนด์แบบไม่ค่อยซ้ำกันด้วย เช่น กระทิงแดง เบียร์ช้าง เมนทอส เดนทีน เนสต์เล่ แก้ว 7/11 แบรนด์ขนมกรุบกรอบ ฯลฯ

ได้เห็นว่าขยะส่วนใหญ่ที่พบเป็นแพกเกจจิ้งขนม ของกิน เครื่องดื่มแทบทั้งนั้น จึงชวนคุยต่อว่าทำไมจึงคิดว่ามีขยะพวกนี้อยู่ริมรั้วเยอะ มีคนบอกว่าอาจจะเป็นเพราะตรงฟุตบาทไม่มีถังขยะเลยแม้แต่ถังเดียว พอคนกินเสร็จก็เลยโยนเข้าไปทิ้งในรั้ว ไม่ได้เก็บขยะไว้กับตัวเองจนเจอถังขยะแล้วค่อยทิ้ง

ผลสรุปจากกิจกรรมนี้หลายๆ คนบอกว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าในพุ่มไม้ริมรั้วจะมีขยะซ่อนตัวอยู่เยอะขนาดนี้ แถมยังมีขยะหลายแบรนด์ หลายประเภท ทำให้เห็นความสำคัญของการลดขยะต้องเริ่มต้นลดขยะที่ตัวเราเองเพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งทางนิสิต อาจารย์ ที่ร่วมกิจกรรมทุกคนก็จะนำประสบการณ์และความรู้สึกดีๆ ไปบอกต่อ แชร์ต่อ

ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค CHULA Zero Waste




กำลังโหลดความคิดเห็น