ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ - สายงานสำนักกรรมการผู้จัดการ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดค้าส่งผักผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เล่าถึงการแก้ไขปัญหาขยะจากตลาดค้าส่งกว่า 230 ตัน ว่า สัดส่วนร้อยละ 80 ของขยะที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งสามารถนำไปคัดแยกและสร้างมูลค่าได้ด้วย 5 ระบบ
1.) นำเศษผักผลไม้ที่เหลือจากแผงวันละ 90 ตัน ไปทำเป็นอาหารให้กับปลาและวัว
2.) นำขยะอินทรีย์บางส่วนไปพัฒนาคิดค้นสูตรน้ำหมัก EM เพื่อใช้ชำระล้างภายในตลาด โดยอนาคตจะต่อยอดสู่การทำแบรนด์ของตนเอง
3.) จุดทิ้งขยะของทุกตลาดจะมีถังคัดแยกขยะอินทรีย์และขยะทั่วไป และมีจุดรับซื้อขวดน้ำพลาสติก กระป๋อง และลังโฟม เพื่อนำไปรีไซเคิล
4.) จัดสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่มาจากตลาดและหมู่บ้าน โดยสามารถบำบัดน้ำเสียได้มากถึงวันละ 6,500 ลบ.ม. ต่อวัน และนำน้ำที่ได้จากการบำบัดไปใช้ล้างพื้นที่รอบตลาดทุกวัน
5.) ติดแผงโซลาร์เซลล์บริเวณหลังคาอาคารห้องเย็น เพื่อเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า และสามารถนำกลับมาใช้ได้สูงถึงร้อยละ 20 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด
ผลลัพธ์จากการดำเนินงานทั้ง 5 ระบบนี้ ช่วยตอบโจทย์ให้ธุรกิจสามารถลดรายจ่ายสำหรับการจัดการขยะด้วยการฝังกลบได้ถึง 4 ล้านบาทต่อปี และยังทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “ขยะ” เช่น น้ำหมัก EM ผลิตภัณฑ์ชำระล้าง อาหารวัว และปุ๋ย ตลอดจนทำให้ตลาดสะอาด ชุมชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ร่วมกันจึงส่งผลให้ธุรกิจมั่นคงอย่างยั่งยืน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น นอกจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่กล้าลงทุนในสิ่งที่ยังไม่สามารถวัดผลลัพธ์เป็นกำไรได้อย่างรวดเร็วในวันแรก ยังเกิดจากความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดกว่า 6,000 คน ตั้งแต่การช่วยคัดแยกขยะ มีการออกแบบถังขยะให้ง่ายต่อการคัดแยก ความร่วมมือจึงเกิดขึ้นโดยไม่ต้องบังคับ และทำให้กลายเป็นวินัยของทุกคนในที่สุด
“โลกของเรามีทรัพยากรจำกัด จึงต้องทำให้ทรัพยากรนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่งผลดีต่อธุรกิจ และลดต้นทุนการกำจัดขยะ และยังเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ”