วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม PETROMAT และผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต้นแบบการลดขยะในพื้นที่กลางเมือง ที่มีพื้นที่น้อยแต่มีประชากรหนาแน่นและสร้างขยะจำนวนมาก จึงเริ่มสร้างค่านิยมZero Waste ด้วยหลัก 3R (Reduce-Reuse-Recycle) คือ ลดการใช้ทรัพยากร นำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด รวมถึงการนำกลับมาเป็นทรัพยากรในการผลิตใหม่ ด้วยการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การสร้างจิตสำนึกและวางเป้าหมายที่จะลดขยะเหลือทิ้งให้ได้ร้อยละ 30 ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยหลากหลายวิธีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมบุคลากรและนิสิต ทั้ง 1.) เก็บเงินค่าถุงพลาสติกใบละ 2 บาท ทำให้ลดการใช้ถุงพลาสติกในมหาวิทยาลัยได้ถึงร้อยละ 90 เพราะทำให้ผู้ใช้เกิดการคิดก่อนใช้ 2.) ติดตั้งตู้กดน้ำ และแจกกระบอกน้ำให้นิสิตและบุคลากร เพื่อกระตุ้นให้ใช้กระบอกน้ำส่วนตัว และ 3.) นำนวัตกรรมวัสดุที่ย่อยสลายได้มาใช้แทนแก้วน้ำพลาสติกและจัดการอย่างครบวงจร ได้แก่จัดการให้มีระบบการแยกทิ้งเฉพาะเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในกระบวนการรีไซเคิล ทำให้สามารถนำแก้วไปหมักให้เกิดการย่อยสลายเป็นชีวมวล (Biomass) หรือส่งให้กรมป่าไม้นำไปใช้ทดแทนถุงดำเพาะชำ ซึ่งเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติกและยังช่วยให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดจากแก้วน้ำพลาสติกได้กว่า 2 ล้านใบต่อปี
“เดิมมีขยะอยู่ประมาณ 2,000 ตันต่อปี จากผลการดำเนินงานหลากหลายกิจกรรมใน 4 ปี ช่วยลดปริมาณขยะได้เกือบ 500 ตัน แต่วัสดุที่ย่อยสลายได้เป็นกับดักใหญ่สำหรับประเทศไทย เพราะส่วนมากวัสดุที่ย่อยสลายได้ในท้องตลาดจะเป็นพลาสติกที่แตกสลายและกลายเป็นไมโครพลาสติก ดังนั้น การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ต้องใช้วัสดุที่มีมาตรฐาน แยกให้ถูกประเภท และย่อยให้ถูกวิธีด้วยกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ หากมีครบทั้ง 3 ปัจจัย ก็มั่นใจได้ว่าสามารถจัดการขยะได้จริงตามหลัก Circular Economy”
เครดิต
คลิป Chula Zero Waste : Little Big Green