การล็อกดาวน์เนื่องจากโควิด-19 บังคับให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านแฟชั่นอย่าง H&M (Hennes & Mauritz) ต้องปิดร้านค้าหลายพันแห่ง และต้องยกเลิกคำสั่งซื้อมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อีกฟากหนึ่งของตลาดแฟชั่นที่เน้นเรื่องความยั่งยืนกลับยังเฟื่องฟู
แม้ว่า “แบรนด์แฟชั่นที่ยั่งยืน” เหล่านี้จะอยู่นอกกระแสหลักเนื่องจากมีราคาที่สูงกว่าและมีขนาดตลาดที่เล็กกว่า แต่ด้วยคุณลักษณะเดียวกันเหล่านี้อาจกลับช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากคลื่นของการรวมกิจการและการล้มละลายที่กิจการฟาสต์แฟชั่นและแบรนด์เครื่องใช้ในครัวเรือนสุดหรูกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็คือ วิกฤตโควิดในปัจจุบันทำให้ผู้คนหันมาซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น และมีเวลาในการตัดสินใจอย่างมีสติมากขึ้น ในส่วนของนักออกแบบที่ยั่งยืนก็มีความสามารถควบคุมห่วงโซ่อุปทานได้มากกว่า ขณะที่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องพึ่งประเทศกำลังพัฒนาในการผลิตสิ่งทอ ซึ่งมักถูกผลิตโดยคนงานที่ได้รับค่าจ้างแรงงานต่ำ ใช้เครื่องจักรเก่าที่ต้องใช้พลังงานมาก และยังประกอบไปด้วยสารเคมีที่ก่อมลพิษซึ่งถูกห้ามใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
เช่นเดียวกับคู่แข่งอื่นๆ H&M ยักษ์ใหญ่แห่งวงการฟาสต์แฟชั่นไม่สามารถเพิกเฉยต่อเทรนด์ที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้อีกต่อไป H&M จึงเพิ่มความพยายามในการพัฒนาด้านความยั่งยืน โดยการเพิ่มสเกลวัตถุดิบที่กำลังทดลองอยู่ เช่น หนังจากสับปะรด ฝ้ายที่ปลูกในห้องแล็บ และ หนังจากเห็ด เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทแม่ที่สวีเดนได้ทำการประกาศว่าจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ชมกระบวนการเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการให้เป็นสินค้าแฟชั่นใหม่ๆ ผ่านระบบรีไซเคิลเสื้อผ้าสู่เสื้อผ้าใหม่ที่ได้บริษัทได้พัฒนาขึ้นมา หรือที่เรียกว่า 'Looop'
มีคำถามตามมาว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเพียงพอที่จะรักษาตำแหน่งในตลาดแฟชั่นไว้ได้หรือไม่?
อย่างไรก็ดี มาช้ายังดีกว่าไม่มาเลย!
อุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านจุดสูงสุดมาอย่างดี แม้ว่าจะทิ้งร่องรอยไว้กับสิ่งแวดล้อมและความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานก็ตาม ซึ่งประเด็นความยั่งยืนดังกล่าวได้รับการยืนยันจากข้อมูลของ Arabesque S-Ray เมื่อเราวิเคราะห์ผลประกอบการความยั่งยืนของ H&M จากการประเมินเชิงบรรทัดฐานของกรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United
Nation Global Compact: UNGC) พบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในสวีเดนแห่งนี้มีผลประกอบการความยั่งยืนที่ขัดกับหลักการสำคัญทั้ง 4 ประการของ UNCG ซึ่งประกอบไปด้วย สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต โดย H&M มีคะแนนรวม UNGC Score อยู่ที่ 43.22 จาก 100 คะแนน ซึ่งอยู่ใน Bottom 20% ของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก (กว่า 7,000 บริษัทในฐานข้อมูลของ Arabesque S-Ray) โดยเมื่อวิเคราะห์ในแต่ละหลักการย่อยทั้ง 4 ประการ ก็พบว่ามีคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนนซึ่งเป็นจุดตรงกลาง
เมื่อพิจารณาจากคะแนน ESG Score ที่ใช้หลักการความมีสาระสำคัญทางการเงิน (Financial Materiality) โดยคะแนนจะบ่งชี้ว่าบริษัทนั้นๆ อยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าเพื่อให้มีผลประกอบการทางการเงินที่ดีกว่าในระยะยาวหรือไม่อย่างไร พบว่า คะแนน ESG Score ของ H&M อยู่ที่ 52.11 จาก 100 คะแนน โดยคะแนน ESG Score ดีขึ้นกว่าคะแนน UNGC Score เล็กน้อย เนื่องจากคะแนน ESG Scoreได้รับแรงหนุนมาจากคะแนนย่อยด้านการกำกับดูแล (Governance) ซึ่งมีน้ำหนักที่มากกว่าในคะแนน ESG รวม ในขณะที่อีกสองคะแนนย่อยในด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) และด้านสังคม (Social) ยังคงมีคะแนนต่ำ 50 คะแนนซึ่งเป็นจุดตรงกลาง
สรุปได้ว่า โมเดล “ Take-make-dispose” ของแฟชั่นระดับโลกต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน อุตสาหกรรมแฟชั่นขนาดมูลค่า 110 พันล้านยูโร สามารถถูกปลดล๊อคให้ไปต่อได้โดยการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับ น้ำ พลังงาน และสารเคมีตามรายงานล่าสุดของธนาคารบาร์เคลส์ แต่หากธุรกิจดำเนินต่อไปตามปกติไม่มีการเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมที่มีกำไร 45 พันล้านยูโรนี้จะตกอยู่ในความเสี่ยงภายในปี 2030 ทันที
นับเป็นครั้งแรกที่ความยั่งยืนกลายเป็นเรื่องของเงินแทนที่จะเป็นเรื่องจริยธรรม Green Fashion หรือแฟชั่นรักษ์โลกนี้กำลังจะชนะตลาดด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น แม้ว่าจะมีราคาที่สูงกว่าก็ตาม เนื่องจากผู้ซื้อที่มีอายุน้อยยินดีจ่ายมากกว่ากลุ่มประชากรรุ่นอายุอื่นๆ ถึง 50%-100% สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จะเห็นว่าปัจจุบันบริษัทฟาสต์แฟชั่นกำลังตามหลังแบรนด์แฟชั่นรักษ์โลก และเป็นครั้งแรกที่บริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ต่างๆ ต้องเรียนรู้จากบริษัทในท้องถิ่นขนาดเล็กที่ยั่งยืน ว่าจะอยู่รอดจากวิกฤตโควิดในปัจจุบันไปได้อย่างไร
Green is the new Black!
บทความโดย ธัญญรัศม์ ริลินเกอร์ ,Arabesque
S-Ray ผู้ให้บริการข้อมูล คำปรึกษา และโซลูชั่นด้านความยั่งยืน (ESG) โดยมีการประเมินความยั่งยืนในมิติต่างๆของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ข้อมูลอัพเดททุกวัน