xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นไอเอจับมือ NICFD เปิดตัวศูนย์เรียนรู้ “ชราแลนด์” อุดช่องว่างเยาวชน - สังคมสูงวัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ-เด็กๆ ทดลองเรียนรู้การเป็นผู้สูงวัย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ NICFD เปิดตัวศูนย์การเรียนรู้ “ชราแลนด์” เพื่อให้เยาวชนเข้าใจในโครงสร้างทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเรียนรู้การสร้างธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ผ่านกิจกรรม STEAM4INNOVATIOR ทั้งยังเปิดเวทีเสวนาวิชาการ “สองวัยในโลกสูงวัย”: การเตรียมตัวรับมือของเด็กในสังคมสูงวัย เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่มีความรู้และความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ หวังให้เกิดไอเดียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA มุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการ “STEAM4INNOVATOR” ซึ่งเป็นแนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่นำความรู้ด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการมาบูรณาการเข้ากับความรู้ความเข้าใจทางด้าน STEAM (Science, Technology, Engineering, Art, Mathematics) เพื่อให้เยาวชนสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ ที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมอยู่ด้วย


ศูนย์การเรียนรู้ หรือ Learning Station เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ NIA จัดขึ้นทุกปี ในงานถนนสายวิทยาสตร์ และงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจัดต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมมือกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ เพื่อขยายผลกิจกรรม Learning Station ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ถาวรที่เยาวชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอดทั้งปี และความร่วมมือนี้เป็นการใช้องค์ความรู้ทั้งด้านนวัตกรรมของ NIA และด้านพัฒนาการเด็กของสถาบันฯ นำมาออกแบบกระบวนการแต่ละฐานการเรียนรู้ให้สามารถเข้าถึงพฤติกรรม ความคิด และการตอบสนองของเด็กแต่ละช่วงวัย สามารถสร้างทักษะที่สำคัญของนวัตกร คือการคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา และคิดสร้างสรรค์ อันเป็นเป้าหมายร่วมที่สำคัญของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อสร้างนิสัยการเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตต่อไปอย่างมีคุณภาพ”

“สำหรับ Learning Station ที่ร่วมกันนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ “INNO OLD-K” เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เยาวชนจึงควรได้เรียนรู้ เข้าใจปัญหา และสามารถเป็นผู้แก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างตรงจุด เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในวัยชราได้อย่างมีความสุข”

ภาพ-เด็กๆ ทดลองเรียนรู้การเป็นผู้สูงวัย
โดยกิจกรรมประกอบด้วย 4 ฐาน ได้แก่ Stage 1 รู้ลึก รู้จริง : สูงวัย Why เก๋า? เด็กๆ จะได้ทดลองเป็นผู้สูงอายุ เช่น การมีปัญหาสายตา การเดิน และริ้วรอย เพื่อเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง Stage 2 Wow Idea : Cha la land แดนไอเดีย จะได้ดูตัวอย่างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาให้กับผู้สูงอายุ เช่น ไฟเปิดอัตโนมัติ ไม้เท้าปรับระดับ หรือ Application ต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ Stage 3 Business Model : อาวุโส Model เด็กๆ จะได้เล่นเกมเพื่อแลก STEAM coin สำหรับนํามาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในการทําผลงานต้นแบบ และรู้จักกับการเขียนแผนธุรกิจเบื้องต้น Stage 4 Production & Diffusion : Inno Elderland จะได้รู้จักกับวิธีการและช่องทางในการขายสินค้า การทําบรรจุภัณฑ์เบื้องต้น และการคำนวนต้นทุน กำไร กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะที่สำคัญของเยาวชนสู่การเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมได้ในอนาคต

ด้าน รศ.ดร.ภญ. จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บทบาทมหาวิทยาลัยมหิดลกับวิกฤตสังคมสูงวัย ได้ดำเนินการทั้งการวิจัย สร้างต้นแบบบริการ สร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสำหรับผู้สูงอายุ 6 โครงการสำคัญที่ดำเนินการแล้วได้แก่ ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นศูนย์ผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ พัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุแบบสหวิชาชีพศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีเป้าหมายในการพัฒนาต้นแบบและมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้าย สร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมการดูแลสุขภาพเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศและเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดสากล

ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบมีมาตรฐานและครบวงจร (คณะทันตแพทยศาสตร์) เน้นการดูและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุระยะยาวอย่างเป็นระบบ การประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อยกระดับสุขภาวะผู้สูงอายุในกลุ่มภาคกลาง คณะเทคนิคการแพทย์ มุ่งเน้นที่การป้องกัน มากกว่าการรักษาผู้ป่วย ประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม ขยายผลการนำนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมไปสู่ประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และการนำเสนอเชิงนโยบายในการดูแลสุขภาพของประชาชน

ศูนย์เทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องมือแพทย์ทางออโธปิดิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นศูนย์ที่รองรับการผลิตชิ้นส่วนต้นแบบ Tailor Made ที่เหมาะกับสรีระผู้สูงอายุ และครบวงจร และโครงการส่งเสริมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังดนตรี สร้างเสริมกิจกรรมและประสบการณ์ดนตรีที่หลากหลายเพื่อการขับเคลื่อนสังคมให้เข้มแข็ง และสร้างสุขภาวะที่ดี วิทยาลัยดุริยางคศิปล์ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังดนตรีนำไปสู่สุขภาวะที่ดีของผู้สูงวัยและครอบครัว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สาวิตรี ทยานศิลป์ อาจารย์ประจำ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์นี้ จำเป็นต้องเสริมแนวคิดใหม่เชิงรุก นอกเหนือนโยบายแบบตั้งรับเพื่อการแก้ปัญหาของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ซึ่งไม่ทันกับสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น แนวคิดเชิงรุกคือการสร้างผู้สูงอายุที่มีความสุขและสุขภาพดี (Thai Active Aging Smart, Happy,& Healthy) โดยเตรียมความพร้อมของคนทุกวัยเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า และเตรียมคนทุกวัยให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุกับเด็ก คนสองวัยนี้เกี่ยวพันกันได้ ในรูปบทบาทของการเป็นปู่ย่าตายายที่จะต้องเลี้ยงหลาน ซึ่งโครงสร้างของครอบครัวไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ผู้สูงอายุกับเด็กต้องอยู่ร่วมกันและพึ่งพากันมากขึ้น เมื่อ ผู้สูงอายุและเด็ก ต่างคนต่างวัย ต่างสไตล์การใช้ชีวิตอายุยิ่งห่างกัน ยิ่งเกิดช่องว่างทางความคิดยิ่งต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย จนเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคมสูงวัย นำไปสู่การไม่ยอมรับของอีกฝ่าย ต่างคิดว่าตนเองถูกต้องเสมอ เมื่อมีปัญหาหรือไม่เข้าใจกันก็ไม่ปรึกษาพูดคุย ทำให้เกิดความห่างเหินสัมพันธภาพในครอบครัวอ่อนแอ ครอบครัวไม่มีความสุข ซึ่งทางออกของปัญหาคือการจัดกิจกรรมระหว่างวัย สร้างความเข้าใจในความแตกต่าง ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับ และเคารพในความแตกต่าง แบ่งปันประสบการณ์และที่สำคัญคือ การร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ Happy Together Old and Young


ขณะที่ เด็กชายสิรวิชญ์ สุบินมิตร อายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดสาลวัน กล่าวว่า หลังจากได้ลองเข้ามาเรียนรู้ที่ชราแลนด์แล้ว ทำให้เข้าใจผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น และรู้ว่าผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง พร้อมทั้งยังได้เรียนรู้วิธีการดูแลคนแก่ว่าจะต้องทำอย่างไรให้พวกท่านมีความสุข และอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้แบบพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งตนจะเอาความรู้ที่ได้จากศูนย์การเรียนรู้ชราแลนด์กลับไปดูแลคุณย่าที่บ้าน และจะคอยช่วยเหลือคุณย่าให้มากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ศูนย์การเรียนรู้ชราแลนด์เป็นความรู้นอกห้องเรียนที่นอกจากสนุกสนานแล้วยังได้ความรู้มากมาย นอกจากความรู้ในการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุแล้ว ศูนย์ชราแลนด์ยังให้ตนเองและเพื่อนๆ ได้ลองคิด อุปกรณ์ หรือนวัตกรรมที่จะเข้าไปช่วยอำนวยคามสะดวกให้กับผู้สูงอายุด้วย ซึ่งตนและเพื่อนๆ ได้ลองเสนอแนวคิดและได้ทดลองทำจริงๆ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาในห้องเรียนไม่ได้ ทั้งสนุกและให้ความรู้