๐ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากผลลัพธ์ที่วัดได้จริง เป็นหลักยึดของการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
๐ มูลค่าตลาดกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ประชาชนกว่า 1 ล้านคนในกว่า 52 จังหวัดได้รับประโยชน์ นับเป็นเพียงก้าวเริ่มที่สำคัญของ CU Innovation
๐ ท่ามกลางความท้าทายมากมายของโลก จะขับเคลื่อนอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย
การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายที่เราต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากที่ผ่านมาการพัฒนาในด้านต่างๆ ส่งผลกระทบด้านลบให้กับโลกอย่างมากมาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายนำองค์ความรู้และศาสตร์ต่างๆ มาพัฒนาสังคมไทย โดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Innovation Hub เป็นกลไกในการสร้างสรรค์นวัตกรรมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อขับเคลื่อนสังคม และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจชาติ พร้อมกับการให้ความสำคัญกับทศวรรษแห่งการปฏิบัติเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประชาคมโลก ซึ่งองค์การสหประชาชาติประกาศให้ค.ศ.2020-2030 เป็นช่วงเวลาสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
จุฬาฯ กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านโครงการกว่า 70 โครงการทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย พร้อมกับการบ่มเพาะ Start-up กว่า 180 ทีม สำหรับความสำเร็จที่ผ่านมาจากโครงการสำคัญคือ เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District หรือ SID) สามารถพัฒนาผู้ประกอบการ 2,000 ราย เกิดธุรกิจวิจัยนวัตกรรม 178 บริษัท และ Student Club 6 แห่ง มีมูลค่าตลาด (Market Valuation) 15,000 ล้านบาท สร้างประโยชน์สุขให้ประชาชนกว่า 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในกว่า 52 จังหวัด
เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม เกิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยให้สังคมไทยปรับตัวก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรม เป็นเวทีที่จะเปิดโอกาสให้นำนวัตกรรมที่คิดสร้างสรรค์มานำเสนอสู่สายตาบุคคลทั่วไป และเป็นอีกช่องทางให้นวัตกรรมของไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลในอนาคต ที่ผ่านมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมมากมาย และเมื่อเร็วๆ นี้ มีการพัฒนานวัตกรรมสเปรย์สำหรับพ่นหน้ากากผ้า Shield+: Protecting Spray ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท แนบโซลูท จำกัด หนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาฯ และต่อมาร่วมกับ Tigerplast พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สเปรย์ฉีดหน้ากากผ้าป้องกันไวรัสโควิด-19 ช่วยกรองเชื้อโรคและฝุ่น PM2.5 ภายใต้ชื่อ Tigerplast MaskShield+ ช่วยเสริมความมั่นใจให้การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมยุค New Normal เป็นต้น
นอกจากนี้ Intania Open Innovation Club หรือ IOIC หนึ่งในชมรมศิษย์เก่าของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลักดันภาคธุรกิจเทคโนโลยีของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น ทั้งธุรกิจ Start-up SME จนถึง Enterprise ได้ช่วยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การขยายเครือข่ายธุรกิจ การฝึกอบรมบุคลากร ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจเกิดใหม่เติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน
ความสำเร็จที่ผ่านมาของการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนของจุฬาฯ นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่อนาคตท่ามกลางความท้าทายมากมาย
๐ บูรณาการวิจัย ธุรกิจ และการศึกษา
รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ความยั่งยืน” คือการที่เราสามารถอยู่รอดได้ในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเข้ามากระทบการใช้ชีวิตของเราให้อยู่อย่างลำบาก ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 หรือฝุ่น PM2.5 หรือพิษภัยด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ระบบ” ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ อาทิ แนวความคิด กระบวนการ และคนโดยเฉพาะผู้นำที่ดี เพราะแม้แนวความคิดหรือกระบวนการจะดีเพียงใด แต่หากคนหรือผู้นำไม่ดีหรือไม่มีคุณภาพก็ไม่สามารถสำเร็จบรรลุผลได้ ดังนั้น “คน” จึงต้องพร้อมเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหา และพัฒนาเพื่อให้สังคมและชุมชนก้าวต่อไปได้ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่แท้จริง ซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานคำตอบไว้ให้ นั่นคือ “เพื่อประโยชน์สุข” เพราะการสร้างประโยชน์ขึ้นมาแล้ว สังคมต้องมีความสุขไปด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกันกับ Sustainable Development Goals หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ
เมื่อเป้าหมายคือการสร้างประโยชน์สุขอย่างยั่งยืน จึงต้องมีกลไก นั่นคือการใช้กระบวนการ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” โดย “เข้าใจ” นั้นนอกจากเข้าใจตนเองต้องเข้าใจผู้อื่น โดยต้องเข้าใจบริบทโลก หรือ global perspective ต้องเห็นให้มาก ต้องเปิดหูเปิดตานั่นเอง โดยต้องเข้าใจ “ภูมิสังคม” คือภูมิศาสตร์หรือลักษณะพื้นที่ของแต่ละประเทศหรือท้องถิ่น และสังคมศาสตร์หรือความเชื่อความศรัทธาในศาสนาหรือเรื่องใดๆ ของแต่ละแห่ง ซึ่งในมุมการทำธุรกิจคือการเข้าใจลูกค้าหรือคนที่เรากำลังจะสร้างประโยชน์ให้ ว่าเขาต้องการอะไร
จากนั้นจึง “ค้นหาคำตอบ” หรือ “เข้าถึง” ซึ่งวิธีการคือ “ระเบิดจากข้างใน” หรือ collaboration และ participation เป็นการร่วมมือกันทำงาน โดยเราต้องออกไปแสวงหาจากลูกค้าหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะได้รับการยอมรับหรือนำไปใช้นั้นมาจากการที่ชุมชนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบนั่นเอง ด้วยการที่ชุมชนมามีส่วนช่วยคิดคำตอบ ซึ่งข้อดีคือชุมชนซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่จะรู้ว่าอะไรได้และอะไรไม่ได้ ไม่ใช่นำคำตอบหรือ solution ไปยัดเยียดให้ชุมชน ซึ่งในที่สุดก็ไม่เกิดประโยชน์เพราะชุมชนไม่ได้นำไปใช้ เพียงแต่คำตอบที่ชุมชนให้มาจะต้องนำมาใส่ความรู้จากภาพใหญ่ภายนอกเข้าไปผสมผสานด้วย
โดยจะทำให้เกิดความเข้าใจได้ต้องทำผ่าน “กระบวนการทำโครงการ” ซึ่งการเรียนการสอนในอนาคตต้องเป็นในลักษณะของการทำโครงการ หรือ project based learning ผสมผสานไปกับการเรียนทฤษฎี ไม่เช่นนั้นการเรียนทฤษฎีจะไม่มีความหมาย ซึ่งการเรียนเป็นโครงการมีหลากหลายแบบ เช่น โครงการเพื่อสังคม โครงการเพื่อชุมชน และโครงการเพื่อตอบสนองลูกค้าหลายๆ กลุ่ม
เมื่อได้คำตอบแล้ว จะต้องนำคำตอบไปขยายผลในชุมชนหรือสังคม เพราะ “นวัตกรรม” ( Innovation) คือความสามารถในการใช้ประโยชน์จากความคิดใหม่ได้อย่างสำเร็จ สิ่งที่ต้องตระหนักคือหากสิ่งที่คิดขึ้นใหม่ไม่มีการนำไปใช้จะไม่เรียกว่านวัตกรรม แต่จะเป็นเพียง “ความคิดสร้างสรรค์” (Creativity) คือ แปลกดี ดูมีประโยชน์ แต่เมื่อมีการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ (Adoption) จึงจะนับว่าเป็นนวัตกรรม และจะมีความยั่งยืนเมื่อเกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนหรือสังคมเกิดความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มขึ้น หมายความว่า การสร้างนวัตกรรมและศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องเดียวกันหรือมีกระบวนการแบบเดียวกัน
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมได้อย่างยั่งยืน จึงนำแนวทาง “การบูรณาการวิจัย ธุรกิจ และการศึกษา” ผนวกไว้ด้วยกัน ใช้มหาวิทยาลัยเป็นกลไกในการสร้างธุรกิจนวัตกรรม โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพราะหากไม่ร่วมบูรณาการจะพัฒนาไม่ได้ไกล ด้วยการใช้แพลตฟอร์มการทำงานเดียวกัน โดยเริ่มจากการมี “เป้าหมาย” ร่วมกัน และให้ธุรกิจเป็น “ตัวตั้ง” เพราะเป็นส่วนที่เข้าใจตลาดหรือความต้องการของลูกค้ามากที่สุด พร้อมกับการยึด “การวิจัย” เป็นรากฐานในการสร้างนวัตกรรม และ “นวัตกรรม” ที่จะอยู่รอดในอนาคตต้อง “ใหม่ แตกต่าง เหนือกว่า” ซึ่งมหาวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และบุคลากร
ยกตัวอย่าง “ใบยา” หรือ Baiya สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ซึ่งเป็นผลงานของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มีการสร้างนวัตกรรมคือ strip test ระบบตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 กับวัคซีนโควิด-19 เป็นโมเดลตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าถ้าประเทศไทยจะรอดเมื่อใช้โมเดลนี้ โดยเริ่มจากเป้าหมายคือ “การผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด” ด้วยการใช้วัตถุดิบ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทยทั้งหมด เพื่อให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคง เพราะนี่คือสิ่งที่คนอื่นนำไปลอกเลียนแบบไม่ได้ การผลักดันให้ “ใบยา” ผลิตวัคซีนโควิด-19 สำเร็จ จะเกิดความแข็งแกร่งจากภายในด้วยการพึ่งตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องหวังว่าจะได้วัคซีนจากประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้ วัคซีนโควิด-19
ของใบยาได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศเพราะมี
นวัตกรรมแตกต่างโดยใช้พืชเป็นวัตถุดิบ ขณะที่การผลิตวัคซีนโควิด-19 ของต่างประเทศใช้สัตว์เป็นวัตถุดิบ
นอกจากนี้ ยังเป็นการเปลี่ยนการเรียนในห้องเรียนแบบเดิมซึ่งเน้นการท่องจำทฤษฎีต่างๆ มาเป็นการเรียนแบบใหม่โดยเรียนผ่านการทำวิจัย การทำนวัตกรรม และการทำธุรกิจ เพื่อให้เห็นประโยชน์ของสิ่งที่เรียน เมื่อไปดูห้องทดลองของ “ใบยา” พบว่ามีหลากหลายมากทั้งงานวิจัย การสร้างนวัตกรรม เช่น strip test , วัคซีนโควิด-19 และยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายจากงานวิจัย ซึ่งมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นความรู้เชิงลึกยากต่อการลอกเลียนแบบ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยให้ได้ หากตอบโจทย์ความต้องการของโลกได้จะยิ่งดี
๐ สร้างผู้นำแห่งอนาคต
สอดคล้องกับการพัฒนา “ผู้นำแห่งอนาคต” ซึ่งเป็น “ผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ “Knowledge-Attitude-Skill” เนื่องจากเดิมมีเพียง Knowledge ซึ่งต่อมาพบว่าไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมี Attitude และ Skill เพื่อให้มีความสามารถในการทำงานได้จริง โดยต้องมีคุณลักษณะที่เป็นรากฐานคือการเป็น “คนดี” ต้องมีกรอบแนวคิดว่าทุกอย่างต้อง “เป็นไปได้” เพราะโดยในอนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น การเกิดโรคโควิด-19 ซึ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้ , การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ
นอกจากนี้ ต้องมี “ความเก่ง” ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ความรู้และทักษะ สำหรับ“ความรู้” ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปสร้างผลกระทบด้านใด เช่น การสร้างรูปแบบการศึกษาใหม่ ก็จะต้องมีความรู้ด้านการศึกษาดีพอที่จะสร้างรูปแบบการศึกษาใหม่ที่แตกต่าง และดีกว่าเดิม ส่วน“ทักษะ” โดยวิธีการเพิ่มทักษะที่ดีที่สุดคือการทำผ่านโครงการต่างๆ หรือ project based learning ขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชน สังคม และบริษัท ว่าต้องการอะไร นี่คือที่มาว่าทำไมต้องร่วมงานกับเอกชน ชุมชน สังคม หรือภาครัฐ เพื่อให้ได้โครงการที่มีผลกระทบจริงๆ
การทำโครงการให้สำเร็จหรือการสร้างทักษะเหล่านี้ ซึ่งเป็น “ทักษะในศตวรรษที่ 21” ต้องมี 4 C ประกอบด้วย Critical Thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ Creativity การคิดสร้างสรรค์ Collaboration การร่วมมือกับคนอื่น และCommunication ความสามารถในการสื่อสาร
สำหรับประเทศไทยมี 4 โจทย์ใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับกับความต้องการในอนาคต โจทย์แรก สังคมสูงวัย (Aging Society) โจทย์ที่สอง การเกษตรและอาหาร (Agriculture&Food) โจทย์ที่สาม ความยั่งยืน (Sustainability) ในสังคมเมือง และสังคมชุมชน ให้สามารถอยู่รอดได้ นอกจากนี้ โจทย์ที่สี่ หุ่นยนต์ดิจิทัล (Digital Robotic) เป็นทักษะใหม่ที่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่งในโลกอนาคต เพราะการเชื่อมโยงและสื่อสารกันผ่านดิจิทัล
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการขับเคลื่อน Start-up ของประเทศไทย ประสบความสำเร็จในแง่ของการกระตุ้นในเกิดความตื่นตัวอย่างมาก หรือ awareness แต่ยังไม่สำเร็จในแง่ของผลลัพธ์ ต่อจากนี้ประเทศไทยจะต้องเน้นการขยายผลโดยต้องเปลี่ยนจาก Start-up เป็น Scale-up ซึ่งต้องคิดแบบ global mindset โดยต้องคิดใหญ่หมายถึงโจทย์ใหญ่ให้สามารถตอบโจทย์ระดับโลก แต่ต้องทำเล็กเพื่อก้าวเดินอย่างมั่นคงและยั่งยืน