มอร์แกนสแตนลีย์นับเป็นธนาคารรายใหญ่แห่งแรกของสหรัฐที่กำหนดเป้าหมาย 'การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์' ภายในปี 2050 โดยเมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารได้เปิดเผยแผนการลดการปล่อยสินเชื่อ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriting) ให้กับอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการใช้คาร์บอนอย่างเข้มข้น
ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ธนาคารให้คำมั่นว่าจะเข้าร่วม Partnership for Carbon Accounting Financials ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระดับโลกของสถาบันการเงินในการพัฒนาการประเมินและการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้และการลงทุนของสถาบันการเงินให้เป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน และจะเริ่มรายงานการปล่อยก๊าซก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการให้กู้ยืมและการลงทุนของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม มอร์แกนสแตนลีย์มองว่าความไม่สอดคล้องกันของวิธีการในการประเมิน CO2 เป็นความท้าทายหลักในการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซในระยะสั้น
อุปสรรคสำคัญคือการขาดเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานในการวัดและเปิดเผยข้อมูล มอร์แกนสแตนลีย์จึงมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องมือดังกล่าว
แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดมากนัก การประกาศดังกล่าวได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางจากองค์กรที่ใส่ใจ “รักษ์โลก” หรือกลุ่มสีเขียวต่างๆ เนื่องจากถือเป็นการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาด้าน Climate Change ของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ซึ่งสามารถช่วยผลักดันให้เงินทุนออกห่างจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในวงกว้างขึ้น
ความเห็นต่อกรณีนี้ ต้องปรบมือดังๆให้กับมอร์แกนสแตนลีย์ การประกาศดังกล่าวนับเป็นการเคลื่อนไหวที่กล้าหาญและถือเป็นครั้งแรกในธุรกิจธนาคาร ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง โดยธนาคารสามารถควบคุมการระดมทุนให้กับธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยการเพิ่มต้นทุนทางการเงินและบังคับให้บริษัทเหล่านั้นปรับตัวเข้าสู่โลกสีเขียว การที่ผู้เล่นอย่าง Morgan Stanley จะเริ่มปรับเปลี่ยนการจัดสรรเงินไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น นับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันการที่ธนาคารต้องดูแลการดำเนินกิจการของธนาคารให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยเหมาะสมก็สำคัญเช่นกัน
เมื่อเราไปดูข้อมูลการของ Arabesque S-Ray ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความยั่งยืนของบริษัทพบว่า มอร์แกนสแตนลีย์ไม่ได้มีแนวโน้มเป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปดูข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) พบว่า ธนาคารมอร์แกนสแตนลีย์มี Temperature
Scoreทั้งระยะสั้น (ปี 2030) และระยะยาว (ปี 2050) ที่ 3°C* ซึ่งหมายความว่าปัจจุบันธนาคารยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอในการนำมาประเมินประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซ
ในขณะที่บริษัทคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Goldman Sachs มีการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างครบถ้วน รวมถึงข้อมูลการปล่อยก๊าซทางอ้อมที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่คุณค่าด้วย (Scope 3 Emission) นอกจากนี้ Goldman Sachs ยังมีผลการประเมินที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระยะสั้นที่ 1.5° C* และระยะยาวที่ 2° C*
ความหมายก็คือ กล่าวได้ว่าหากต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ภาคธนาคารในวอลล์สตรีทสามารถเริ่มต้นจากการสร้างความโปร่งใสที่มากขึ้นในการเปิดเผยข้อมูลในขอบเขตที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสภาพภูมิอากาศ โลกการเงินต้องการ Green Bull และการแข่งขันยังคงเปิดกว้างอย่างมาก ผู้นำที่แท้จริงจะต้องมีความสามารถในการกำหนดเป้าหมายในระยะสั้น เข้าไปมีส่วนร่วมกับภาคส่วนหลักที่เกี่ยวข้อง และทำให้แน่ใจได้ว่ามีการจัดสรรสินทรัพย์ที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศ เราคงต้องมาติดตามดูกันต่อไปว่า ธนาคารมอร์แกนสแตนลีย์จะกลายเป็น Wall Street Green Bull ตัวจริงหรือไม่
ข้อมูลโดย ธัญญรัศม์ ริลินเกอร์, Arabesque S-Ray