xs
xsm
sm
md
lg

เป็นเกษตรแบบ”เลิกจน” “ขงเบ้งยุคดิจิทัล” ช่วยได้ /ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม และความมั่นคงทางอาหาร ถึงขนาดเยินยอว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” แต่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็มีนโยบาย งบประมาณ มาตรการ มีหน่วยงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ดูพยายามจะช่วยแก้ปัญหา

แต่ผลลัพธ์ก็คือ คนกลุ่มใหญ่ในภาคการเกษตร ก็ยังยากจนซ้ำซาก มีรายได้ต่ำ หนี้สินสูง จนคล้ายกับเป็นลักษณะประจำของอาชีพนี้ ทั้งๆที่เราภูมิใจว่าจะเป็น “ครัวของโลก”


งานประชุมประจำปี 2563 ที่จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อเร็วๆนี้ ใช้ชื่องานว่า “ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” ในช่วงท้ายของงานมีเสวนาแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจของวิทยากรระดับผู้นำ วงการท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และ วิสาหกิจเพื่อสังคม

ผมขอกล่าวถึงคนสุดท้ายซึ่งกำลังมีบทบาทจุดประกายความหวังเป็นช่องทาง “หายจน”แก่เกษตรกรยุคใหม่แนว Smart Farmer ชื่อ 'อุกฤษ อุณหเลขกะ' ผู้บริหารสูงสุด( CEO) และผู้ก่อตั้งบริษัทรีคัลท์ ประเทศไทย (Ricult ) ซึ่งมีสถานะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ( Social Enterprise ) เป็นบริษัทเทคโนโลยีการเกษตร ให้บริการคำปรึกษาและสนับสนุนเกษตรกร เพื่อเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของ ฝน ฟ้า อากาศและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง

ผู้บริหารรีคัลท์ อ้างอิงตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ปัจจุบันคนไทย 40 %ประมาณ 25 ล้านคน ในภาคการเกษตร ซึ่งยังมีปัญหามากมาย

พื้นฐานการศึกษาปริญญาโทด้านวิศวกรรม ในการบริหารจัดการจากสถาบัน MIT สหรัฐอเมริกา เห็นความเจริญในโลกกว้าง ที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำมากอย่างเมืองไทย มีฝันเป็นจุดมุ่งหมายว่า


“เราอยากให้เกษตรกรไทยทุกคน มีชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆวัน เพราะทุกคนเป็นกระดูกสันหลังของประเทศชาติ“

เขาจึงชวนเพื่อนร่วมกันจัดตั้งกิจการนิติบุคคลแบบ Social Enterprise ซึ่งดำเนินธุรกิจที่มีเป้าหมายแก้ปัญหาให้คนทำอาชีพเกษตรกรรม โดยใช้ความเชี่ยวชาญและเครื่องมือในการแก้ปัญหา และสนับสนุน

ทั้งนี้โดยสร้างเครื่องมือช่วยให้เกิดเกษตรกรทันสมัย ใน Application รีคัลท์ ที่ เชื่อมข้อมูลต่างๆทั่วโลก กลายเป็น “ขงเบ้งยุคดิจิทัล” และเป็นหูเป็นตา ช่วยเกษตรกรให้รู้ทันธรรมชาติ และไม่ให้เสียเปรียบในการทำธุรกิจการเกษตร ได้แก่

1.ข้อมูลอากาศและปริมาณฝน แบบเจาะจงเป็นรายแปลง ที่แม่นยำ ทำให้รู้สภาพปัจจุบัน ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน มีเรดาร์ส่อง เมฆฝน สามารถพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนที่จะตก รู้ล่วงหน้าสูงสุดถึง 9 เดือน

2. มีภาพถ่ายจากดาวเทียม ผ่านการประมวลผล โดยใช้ Machine Learning ทำให้รู้สภาพพื้นที่เป็นรายแปลง ช่วยให้เกษตรกรรู้สภาพของแปลงพืชที่ปลูก ว่าเจริญเติบโตงอกงามดีแค่ไหน หรือมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะได้รีบแก้ไขทันที

3. ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก การสนับสนุนข้อมูลที่เหมาะกับช่วงเวลาปลูก ของแต่ละแปลง

4. แจ้งราคาผลผลิตการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรได้ตรวจสอบราคา รู้ทันราคาตลาด ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อส่งไปขาย

5. เข้าถึงแหล่งทุน ระบบรีคัลท์ ยังช่วยสร้างความพร้อมของข้อมูล ในการขอสินเชื่อ เพื่อนำเงินไปลงทุนทำการเกษตร ซื้ออุปกรณ์ช่วยการผลิต

6. ตอบปัญหาการเกษตรผ่าน platform โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยไขปัญหา

7.ซื้อปัจจัยการผลิตโดยตรงจากโรงงาน ช่วยให้เกษตรกรได้ราคาถูกกว่าตลาด

8.สมุดบันทึกข้อมูลของเกษตรกร ข้อมูลด้านการเพาะปลูก และค่าใช้จ่ายการผลิต ซึ่งช่วยให้รู้ผลลัพธ์กำไร-ขาดทุน และบันทึกการผลิตยังใช้ไปขอใบรับรองการปลูกพืชปลอดภัย(ออแกนิค) PGS GAP

อุกฤษ อุณหเลขกะ CEO รีคัลท์ ประเทศไทย
ขณะนี้ระบบรีคัลท์จึงเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้การขยายตลาดไปยังจังหวัดต่างๆได้ดี เหนือสุดไปถึงเชียงราย ใต้สุดไปถึงยะลา ตะวันตกเฉียงเหนือไปถึงแม่ฮ่องสอน ตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงอุบลราชธานี

การเกิดขึ้นของ Start-up ที่มีจุดมุ่งหมายช่วยเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ขึ้นนี้ ได้เริ่มจากโครงการ DTAC accelerate ที่สนับสนุนเงินเบื้องต้นและให้สถานที่ทำงานอยู่หลายปี มีการเจริญเติบโต เป็นดาวเด่นได้รางวัลมากมาย เช่น”นวัตกรรมยอดเยี่ยมด้านธุรกิจการเกษตร”จากองค์การสหประชาชาติ และรางวัลสุดยอดกิจการเพื่อสังคมของภูมิภาค

แอปพลิเคชันของกิจการนี้มีเกษตรกรเข้าใช้ประโยชน์ตั้งแต่พฤษภาคม 2562- กันยายน 2563 มีถึง 200,000 ดาวน์โหลดแล้ว

นี่คือตัวอย่างที่ดีของโครงการช่วยเหลือและแก้ปัญหาเกษตรกรด้วยการช่วยสร้างแผนการผลิตด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล หน่วยงานภาครัฐควรลงทุนแก้ปัญหาด้านพื้นฐานเพื่อแก้การขาดแคลนน้ำและจัดการน้ำฝนให้ใช้ประโยชน์คุ้มค่า ลดผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งก็จะเป็นการแก้ปัญหาตรงจุด ซึ่งเกษตรกรวิตกมากกว่าภัยจากโควิดด้วยซ้ำไป


suwatmgr@gmail.com

รีคัลท์ได้รับการยกย่องเป็นนวัตกรรมยอดเยี่ยมทางด้านธุรกิจเพื่อการเกษตรจากองค์การสหประชาชาติ (UNIDO)


กำลังโหลดความคิดเห็น