วันนี้ (28 ส.ค.) เครือข่ายพันธมิตร 11 องค์กร ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เอสซีจี เพื่อนชุมชน บมจ.พีทีทีโกลบอล เคมิคอล (GC) กลุ่มบ.ดาวประเทศไทย กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บมจ.วีนิไทย บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ร้านภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมแถลงข่าว “ผนึกกำลัง Big Brothers …นำชุมชนสู่กิจการเพื่อสังคมปีที่ 4” โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานในพิธีแถลงข่าวพร้อมแสดงปาฐกถา “ชุมชนเข้มแข็ง สังคมก้าวหน้า ร่วมพัฒนาอย่างยั่งยืน”
“โครงการนี้ตั้งแต่ปีแรกจนถึงสู่ปีที่ 4 เครือข่ายที่ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการผลักดันการพัฒนาชุมชนในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE ) ที่จะขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ถามว่าพอใจหรือยัง ผมคิดและอยากเสนอว่าไม่น่าจะจำกัดเฉพาะแค่ 11 รายนี้แต่อยากเห็นเป็น 110 ราย เป็น 1,100 รายแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อยากฝากไว้ อย่าไปคิดว่าเราใช้ส่วนเกินของเราไปช่วยคนที่อ่อนแอกว่าหรือชุมชนที่อยู่อย่างยากไร้ ถ้าคิดเช่นนั้นเราอาจจะไม่เข้าใจสถานะการใช้ชีวิตของเราก็ได้ เพราะชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงงานหรือกิจกรรมที่ลงทุนใหญ่โต ชีวิตไม่ว่าอยู่ระดับไหน ไม่ว่าเราจะมี Robot สักกี่ตัว AI ก้าวหน้าไปแค่ไหนก็ตาม ผลสุดท้ายเราก็ต้องกลับมานั่งอยู่หน้าจานข้าวอยู่ดี” ดร.สุเมธกล่าว
ดร.สุเมธกล่าวย้ำเตือนสติต่อว่า เมื่อวันนั้นมี ข้าว น้ำตาล ผัก เนื้อต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มาจากการพัฒนาเมืองใหญ่ทุกอย่างที่เลี้ยงดูชีวิตเรามาจาก “ชุมชน” เขาเป็นผู้มีพระคุณ ถ้าชุมชนหยุดผลิต เขาล้มละลายเมื่อไหร่ เราก็สูญสิ้นสลายชัดเจนที่สุด ทีนี้เข้าใจหรือยัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านใช้เวลา 8 เดือนต่อปี เป็นเวลา 70 ปี เพื่ออยู่กับชุมชนโดยเฉพาะในชุมชนชนบท เพราะคนเมืองใหญ่ไม่ว่าโตเกียว นิวยอร์ก ที่ไหนก็แล้วแต่บริโภคแล้วก็ถ่ายออกเป็นขยะไม่ได้ผลิตอะไรเลย
AI แอปพลิเคชัน ทำให้เราสะดวกขึ้น แต่ไม่ได้เลี้ยงดูชีวิตเรา โควิด-19 ชัดเจนเลย ระบบกระบวนการผลิตหยุดหมด วัตถุดิบไม่ถูกส่งเข้าโรงงาน ต่อให้เงินสด เครดิต เดินไปในห้างร้าน ชั้นสินค้าก็ว่างเปล่า แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่มีอะไรขาย แย่งชิงกัน ปัญหาใหญ่วันนี้ทรัพยากรหร่อยหรอแต่การบริโภคมากขึ้น ด้วยประชากรไทยและโลกเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดกันว่าโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรจะไปสู่ระดับ 9,000 ล้านคน จากวันนี้ 7,400 ล้านคน
สงครามเกิดขึ้นทุกมุมโลก ลองคิดดูว่าความขัดแย้งด้านการเมือง ศาสนา แต่จริงๆ คือแย่งชิงทรัพยากรเพราะในบ้านตัวเองหมด มีเงินแต่ไม่มีอาหาร สภาพความจริงต้องกลับไปสู่อาหารการกิน ไม่มี Robot หรือหุ่นยนต์ไหนปลูกข้าวให้เรากินได้ ดังนั้น Social Enterprise : SE ไม่ใช่มารยาทของธุรกิจที่ต้องทำให้ดูดีแต่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดของเราและให้ธุรกิจอยู่รอด ถ้าโรงงานจะยิ่งใหญ่แค่ไหน วัตถุดิบก็มาจากพื้นที่ที่เจ้าของเป็นชุมชน ไม่เลี้ยงดูเขา ใครจะป้อนวัตถุดิบมาให้ และขณะเดียวกันเขาเหล่านี้ก็เป็นลูกค้าเราอีก ดังนั้นจึงต้องเลี้ยงดูเขา ซึ่งไม่ใช่แค่ SE แต่ต้อง Social Responsibillity คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่ 11 ราย ทุกคนต้องรับผิดชอบ
“เราเจอวิกฤตและต่อไปก็ไม่รู้จะเจออะไรอีก วันนี้อย่าไปนึกถึงกำไรสูงสุด ตอนนี้เศรษฐกิจพอเพียงเข้าใจหรือยัง เข้าใจซะก่อนที่จะสายเกินไป วันนี้ชาวบ้านเขาต้องการอะไร เรามีความรู้ต้องเข้าไปช่วย แผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 รัฐบาลเองวันนี้ก็เอามาใช้คือ คำว่าประชารัฐ รัฐกับประชาต้องเดินไปด้วยกัน ประชาก็คือ Big Brother ทั้งหลายด้วย เราต้องไปช่วยเขาบริหารน้ำ บริหารทรัพยากร นี่คือทางรอดของไทยและของโลกและเป็นกระแสที่ยั่งยืน ผลิตแล้วตลาดก็สำคัญ ร้าน 7-11 ช่วยเพิ่มสินค้าสำหรับชุมชนจะได้ไหม” ดร.สุเมธกล่าว
สรุปแล้ว “ชุมชน” คือ “รากแก้ว” อย่าไปเรียกว่ารากหญ้า ดอกไม้ยิ่งใหญ่แค่ไหน ดอกสวยแค่ไหน วันใดที่รากขาด ต้นไม้ก็อยู่ไม่ได้ ฉันใดฉันนั้น ชุมชนจะต้องแข็งแรงเพื่อพยุงต้นไม้ทั้งต้นคือประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัย เพื่อให้มีพื้นที่ให้ลูกหลานอยู่อย่างมีความสุขต่อไป
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ร่วมมือกับพันธมิตรรวม 11 องค์กรนำโดย กสอ.และ วช. ดำเนินโครงการ Big Brother เพื่อผลักดันการพัฒนาชุมชนรูปแบบ SE ด้วยการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อช่วยชุมชนให้มีกิจการที่สร้างรายได้จากการผลิตหรือจัดจำหน่ายสินค้าและบริการของชุมชน ปีนี้เครือข่ายเตรียมเปิดตลาดปันสุข จัดจำหน่ายสินค้า 3 ครั้งได้แก่ ครั้งที่1 ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ย. 63 ครั้งที่ 2 ระหว่าง 11-16 พ.ย. ณ เซ็นทรัลพลาซา ระยอง ส่วนครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 24-29 พ.ย. ณ เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา บีช เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
“กฟผ.ได้ส่งเสริมชุมชนรอบโรงไฟฟ้าและเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งสามารถต่อยอดจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง จนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเป็นที่ได้รับความนิยม พร้อมกันนี้ยังได้เพิ่มช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบออนไลน์ Facebook Fanpage ตลาดนัดเอนจี้ ของดีทั่วไทย อีกด้วย” นายพัฒนากล่าว
นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดี กสอ.กล่าวว่า กสอ.ได้รับความร่วมมือหลายหน่วยงานที่ได้เข้ามาช่วยกันต่อยอดองค์ความรู้ด้วยการนำจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาให้ความรู้และโอกาสชุมชนผลิตต่อยอดสู่ธุรกิจ SE ซึ่งเราได้เริ่มต้นตั้ง 12 ก.ค. 2560 จนสู่ปีที่ 4 โดยวันนี้ (28 ส.ค.) ก็มีสินค้าตัวอย่างมาออกบูทที่ กฟผ.เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง โดยต่อไปจะมีการขยายเครือข่ายพันธมิตรให้มากขึ้น