xs
xsm
sm
md
lg

โคคา-โคลา จัดให้! ‘เครื่องดักขยะใหม่ โนว์ฮาวไทยแลนด์’ ในคลองลาดพร้าว เก็บได้ 5 ตันต่อสัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประสิทธิภาพของเครื่อง อยู่ที่การปรับอุปกรณ์ที่เหมือนแขนสองข้างให้ยืดและหดได้ และโลหะที่แขนอยู่จมน้ำลงไปราว 1 ฟุุต จึงดักขยะที่ลอยแต่จมน้ำได้
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นมา “คลองลาดพร้าว”อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อระหว่างคลองแสนแสบและคลองสองเป็นระยะทางยาวรวม 12.56 กิโลเมตร ได้มีการติดตั้งเครื่องดักขยะใหม่ 2 เครื่องซึ่งคิดและประดิษฐ์ขึ้นเองในประเทศ 


ปรากฎว่า สามารถดักจับขยะเพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะขยะพลาสติก ทำให้ลดปัญหาน้ำท่วมขัง (น้ำรอระบายตอนฝนตกหนัก) เพราะทำให้ในคลองระบายได้เร็วขึ้น และช่วยลดขยะจมน้ำที่ทำให้คลองตื้นเขิน


ที่มาของการติดตั้ง เครื่องดักขยะเพิ่ม ในคลองลาดพร้าว มาจากการได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการทำความสะอาดแม่น้ำ 9 แห่งทั่วโลก ภายใต้การเป็นพันธมิตรร่วมกันระหว่าง มูลนิธิโคคา-โคลา ที่มอบเงินรวม 11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 345 ล้านบาท แก่โครงการ Benioff Ocean Initiative ของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา เพื่อสนับสนุนโครงการระดับโลกเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในประเทศไทย มีมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย และสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ร่วมสนับสนุนการทำงาน ผ่านการติดตั้งเครื่องดักขยะ จำนวน 2 เครื่อง

สำหรับขยะที่ดักได้จากเครื่องดักขยะ ทางมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล นำไปตากให้แห้งและคัดแยกเพื่อนำไปกำจัดและรีไซเคิลอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ สร้างความตระหนักรู้แก่ชุมชนและส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งสองเครื่องดักขยะสามารถรวบรวมขยะจากคลองลาดพร้าวได้กว่า 50 ตัน หรือ 50,000 กิโลกรัม โดยมีปริมาณขยะที่เก็บได้สูงสุดต่อวันมากถึง 2,098.12 กิโลกรัม ในจำนวนนี้ไม่รวมถึงขยะอินทรีย์ขนาดใหญ่ เช่น ผักตบชวาและกิ่งไม้ ซึ่งขยะที่เก็บได้มากที่สุดคือถุงพลาสติก ควบคู่ไปกับขยะอื่นๆ อย่างภาชนะโฟมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ขวดพลาสติก และขวดแก้วอีกจำนวนมาก

เดินหน้าแล้ว “โครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าว” เพื่อทำความสะอาด และ ส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชน
นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การประสานความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ไร้ขยะทั้งบนพื้นดินและในทะเล นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของโคคา-โคล่า ภายใต้วิสัยทัศน์ระดับโลก World Without Waste โดยโคคา-โคล่า เชื่อว่าเมื่อพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมมองเห็นคุณค่าร่วมกัน หันมาจับมือและทำงานภายใต้เป้าหมายสำคัญเดียวกัน ย่อมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ แม้ว่าโครงการนี้จะเป็นเพียงการดำเนินงานในระยะเริ่มต้นที่ไม่ใหญ่โตมากนัก แต่โคคา-โคล่าหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมพัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งจะมีการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานใดมาติดตั้งเครื่องดักขยะในแม่น้ำลำคลองอีกต่อไป”

ความร่วมมือในโครงการติดตั้งเครื่องดักขยะในคลองลาดพร้าวเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563 ภายใต้การทำงานของมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิ เทอร์ราไซเคิล โกลบอล ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคลองลาดพร้าวเป็นคลองที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อระหว่างคลองแสนแสบและคลองสองเป็นระยะทางยาวรวม 12.56 กิโลเมตร ได้รับเลือกผ่านการหารือ และพูดคุยระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ทีมงาน Urban Action และผู้นำชุมชน โดยคลองลาดพร้าวนับเป็นคลองที่ประสบปัญหามลพิษขยะเป็นจำนวนมากและจำเป็นต้องมีการทำความสะอาดเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน จากเดิมที่หน่วยงานในพื้นที่และองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมถึงสำนักการระบายน้ำ ต่างก็ทำงานอย่างหนักในการช่วยทำความสะอาดคลองดังกล่าวไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะในคลองยังคงมีปริมาณมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการจัดการที่ไม่เหมาะสมของชุมชนริมคลอง

ภายใต้การสนับสนุนจากโคคา-โคล่า มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ได้ดำเนินการติดตั้ง 'เครื่องดักขยะ' ที่ผลิตขึ้นในประเทศจำนวน 2 เครื่อง ในคลองลาดพร้าว ซึ่งสามารถช่วยดักจับขยะได้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก ทั้งยังช่วยให้ขยะดังกล่าวไม่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยการดักขยะจากอุปกรณ์ทั้งสองนี้จะใช้เวลาดำเนินงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ก่อนจะนำไปตากให้แห้งและคัดแยกที่สถานที่คัดแยกในเขตลาดพร้าว ท้ายที่สุดแล้ว ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกต้องและเหมาะสม และตลอดกระบวนการทำงานจะมีการบันทึกปริมาณและประเภทของขยะที่เก็บรวบรวมได้อย่างถี่ถ้วน เพื่อนำไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาโครงการการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชุมชนริมคลองต่อไป

ด้าน เจมส์ สกอทท์ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของปริมาณขยะพลาสติกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรและแหล่งน้ำอื่นๆ นับเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดปัญหาหนึ่งของโลก ภารกิจระดับโลกของมูลนิธิฯ คือการจัดการกับความท้าทายในการรวบรวมและรีไซเคิลขยะ ผ่านการหาแนวทางการแก้ไขที่เน้นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของพันธมิตรอย่างมูลนิธิโคคา-โคลา และ โครงการ Benioff Ocean Initiative อีกด้วย โดยมูลนิธิฯ มุ่งมั่นที่จะผลักดันการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในประเทศไทย ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิลมากขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนให้ได้ในที่สุด อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว”

นอกจากนั้น มูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ยังสนับสนุนให้คนในพื้นที่ได้ทำงานในโครงการนี้ เพื่อมอบโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยเฉพาะภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และผู้นำชุมชน เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการจะมีความยั่งยืนและสามารถดำเนินการไปได้ในระยะยาว

ขณะที่ ตุ้ม ปิโย หัวหน้าหน่วยเก็บขยะทางน้ำ หน่วยลาดพร้าว 56 กลุ่มงานบำรุงรักษาคลอง 1 กองระบบคลอง สำนักการระบายนํ้า กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “คลองลาดพร้าวเป็นหนึ่งในคลองสายหลักของกรุงเทพมหานคร ที่เผชิญปัญหาเกี่ยวกับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศอย่างปัญหาอุดตันของท่อระบายน้ำที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเมือง ไปจนถึงระดับโลก ตลอดจนปัญหาการรั่วไหลของขยะจากแม่น้ำลำคลองลงสู่มหาสมุทร ปัจจุบันหลายองค์กรในประเทศไทยต่างช่วยกันเดินหน้าหาแนวทางแก้ไข เพื่อลดปัญหาขยะเหล่านี้ที่ทวีความรุนแรงขึ้น สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีความยินดีและให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวของมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ในโครงการทดสอบวางเครื่องกับดักขยะในครั้งนี้ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนแก่คลองในกรุงเทพมหานคร และช่วยบรรเทาวิกฤติระดับโลกได้อย่างประสบความสำเร็จ”

คณะทำงานของมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย ซึ่งเป็นคนในชุมชนคลองลาดพร้าว ขณะตักขยะจากคลองลาดพร้าว ตากให้แห้ง และคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น