RISC โดย MQDC นำเสนอนวัตกรรม “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock เพื่อกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยไม่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่เก็บขยะ ลดการแพร่กระจายเชื้อได้ดี และยังใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า ย้ำถุงแดง 1 ใบ ใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้วได้ไม่ต่ำกว่า 6 ชิ้น ช่วยลดภาระสิ่งแวดล้อม เดินหน้าส่งมอบให้ลูกบ้าน MQDC และภาคประชาสังคม 5 หมื่นใบ พร้อมมอบผ่านสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 1 แสนใบ เพื่อกระจายต่อไปยังชุมชนและประชาชนทั่วไป
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) นำเสนองานวิจัยนวัตกรรม “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ “Red Zip-Lock” เพื่อเป็นทางออกของประชาชนในการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ถูกวิธี ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
ทีมนักวิจัยของ RISC นำโดย น.ส.พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโส และ น.ส.ทิพทับทิม ภูมิพาณิชย์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส ได้ทำการค้นคว้าหาข้อมูลว่า ทำไมหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจำนวนมากถึงถูกทิ้งในถังขยะทั่วไป ผ่านการสำรวจประชาชนจำนวน 2,250 คน พบว่า กว่า 90.4% ทราบถึงการทิ้งหน้ากากอนามัยผิดวิธีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อต่อผู้อื่น อย่างไรก็ตาม มีเพียง 22.3% เท่านั้นที่ทิ้งถูกวิธี คือ การแยกลงถังขยะติดเชื้อ และ 32.8% พยายามใส่ถุงแยกก่อนทิ้งลงถังทั่วไป โดยส่วนใหญ่กว่า 36.3% จะถอดทิ้งลงถังขยะปกติ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทิ้งหน้ากากใช้แล้วไม่ถูกต้อง กว่า 70% นั้น เกิดจากการที่ไม่สามารถหาถังขยะติดเชื้อได้ และ 24.4% ไม่ทราบว่าจะไปทิ้งที่ไหน
RISC จึงนำเสนอ “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock นวัตกรรมสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ในถุงซิปล็อกสีแดง ทำให้ง่ายต่อการคัดแยก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า กว่า 95% เห็นด้วยหากมีข้อกำหนดให้แยกทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วในถุงขยะติดเชื้อสีแดง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะรู้และกำจัดอย่างถูกวิธี และกว่า 55.3% เห็นว่า ถุงแดงสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วสะดวกที่สุด และเป็นการใช้พลาสติกตรงตามคุณสมบัติกันน้ำ ลดการแพร่กระจายเชื้อ และใช้อย่างคุ้มค่าเนื่องจากสามารถใส่หน้ากากอนามัยได้หลายชิ้นก่อนทิ้ง นอกจากนั้น ยังได้มีการแทรกแนวคิดการเขียนข้อความขอบคุณ ส่งต่อกำลังใจ และความห่วงใยสู่เจ้าหน้าที่เก็บขยะ บน “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock อีกด้วย
ภาพ - “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock นวัตกรรมสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว
“หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วถือเป็น “ขยะติดเชื้อ” เนื่องจากมีสารคัดหลั่งที่เกิดจากการไอหรือจาม สามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้น หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจึงมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เก็บขยะ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทิ้ง หรือกำจัดด้วยวิธีการเฉพาะทางอย่างถูกต้อง ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ หรือ Red Zip-Lock ถือเป็น “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” หรือ Sustainnovation ที่จะมาตอบโจทย์ดังกล่าว โดยเฉพาะช่วยให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จากการที่มองเห็น “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” ที่มีการใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้วได้ชัดเจน ช่วยเพิ่มความระมัดระวังได้มากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถคัดแยกถุงแดงออกมาจากขยะทั่วไปได้ เพื่อที่จะนำถุงแดงเหล่านี้จะถูกนำไปกำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี ไม่ปะปนไม่กับขยะประเภทอื่นๆ และยังเป็นการใช้พลาสติกได้อย่างคุ้มค่า เนื่องจากถุงแดง 1 ใบ สามารถบรรจุหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วได้ถึง 6 ชื้น นับว่าเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางด้วย” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
โดยเบื้องต้นทาง MQDC มอบ “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” ให้กับ Whizdom Club ลูกบ้านทุกโครงการของ MQDC และภาคประชาสังคม ประมาณ 50,000 ใบเรียบร้อยแล้ว และได้ใส่ใจถึงประชาชนทุกคนที่ไม่ใช่แค่เฉพาะลูกบ้านตามพันธกิจ “For All Well-Being” หรือการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับทุกสิ่งบนโลก โดยมอบผ่านทางสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ประมาณ 100,000 ใบ เพื่อกระจายต่อไปยังชุมชนและประชาชนทั่วไป รวมการมอบนวัตกรรม “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ”สู่สังคม จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 150,000 ใบ
นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอขอบคุณทาง ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกรุงเทพฯในการสนับสนุนการผลิต “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock ประมาณ 100,000 ใบ เพื่อกระจายต่อไปยังชุมชนและประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงเจ้าหน้าที่เก็บขยะของกรุงเทพฯ สอดคล้องกับแนวทางจัดการขยะในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ. 2556-2575 ซึ่งมีเป้าหมายการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ และมีวิสัยทัศน์ ที่มุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิดโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste Management)
ขยะติดเชื้อของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากโรงพยาบาลซึ่งจะนำไปเผาที่เตาเผาขยะติดเชื้อ โดยศูนย์กำจัดขยะหนองแขมมีปริมาณขยะติดเชื้อมากถึง 42 ตันต่อวัน และศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุชมีปริมาณขยะติดเชื้อ 60 ตันต่อวัน โดยกิจกรรมการรณรงค์เพื่อส่งเสริมการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกต้องในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้นำไปสู่การสร้างถังขยะเฉพาะ ณ สำนักงานเขต 50 แห่ง
บรรยายใต้ภาพ (จากซ้ายไปขวา): นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบ "ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ" หรือ "Red Zip Lock" จำนวน 102,000 ใบ จากนางสาวแสงรวี โฆสิตไพศาล ผู้อำนวยการ อาวุโสฝ่ายกลยุทย์การสร้างแบรนด์และการตลาด บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขต ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
สำหรับภาคประชาสังคมที่ติดต่อเข้ารับ “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock ประกอบด้วย “พยาบาลชุมชน” เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ และ คนไข้ที่กลับออกจาก การเข้าเฝ้าระวังอาการ เครือข่าย infoAid เป็นสื่อกลาง “กลุ่มเปราะบาง” กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน คนพิการ ผู้หญิง ผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งต่อให้ผ่านกว่า 10 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิสถาบันแพทย์แผนไทยและะหมอพื้นบ้านภาคใต้ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท มูลนิธิไทยอาทร โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (โรงเรียนนอกกะลา) บ้านอุ่นไอรักเพื่อเด็กกำพร้าและ ผู้ด้อยโอกาส ศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภู เครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม กลุ่มเพื่อนตะวันออก (ทีมทำงานคนไร้บ้านภาคตะวันออก) แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ (ต.ป่ามะม่วง) และโครงการ Care the Whale: Climate Action Collaboration @Ratchada District ตลอดจนองค์กรต่างๆ