รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) นำเสนองานวิจัยนวัตกรรม “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ “Red Zip-Lock” เพื่อเป็นทางออกของประชาชนในการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ถูกวิธี ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเบื้องต้นทาง MQDC มอบ “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” ให้แก่ Whizdom Club ลูกบ้านทุกโครงการของ MQDC และภาคประชาสังคม ประมาณ 50,000 ใบเรียบร้อยแล้ว และได้ใส่ใจถึงประชาชนทุกคนที่ไม่ใช่แค่เฉพาะลูกบ้านตามพันธกิจ “For All Well-Being” หรือการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่ทุกสิ่งบนโลก โดยมอบผ่านทางสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ประมาณ 100,000 ใบ เพื่อกระจายต่อไปยังชุมชนและประชาชนทั่วไป รวมการมอบนวัตกรรม “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” สู่สังคม จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 150,000 ใบ
“หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วถือเป็น “ขยะติดเชื้อ” เนื่องจากมีสารคัดหลั่งที่เกิดจากการไอ หรือจาม สามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้นหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจึงมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เก็บขยะ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทิ้ง หรือกำจัดด้วยวิธีการเฉพาะทางอย่างถูกต้อง ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ หรือ Red Zip-Lock ถือเป็น“นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” หรือ Sustainnovation ที่จะมาตอบโจทย์ดังกล่าว โดยเฉพาะช่วยให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จากการที่มองเห็น “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” ที่มีการใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้วได้ชัดเจน ช่วยเพิ่มความระมัดระวังได้มากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถคัดแยกถุงแดงออกมาจากขยะทั่วไปได้ เพื่อที่จะนำถุงแดงเหล่านี้จะถูกนำไปกำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี ไม่ปะปนไม่กับขยะประเภทอื่นๆ และยังเป็นการใช้พลาสติกได้อย่างคุ้มค่า เนื่องจากถุงแดง 1 ใบสามารถบรรจุหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วได้ถึง 6 ชื้น นับว่าเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางด้วย” รศ.ดร.สิงห์กล่าว
ศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอขอบคุณทางศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกรุงเทพฯในการสนับสนุนการผลิต “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock ประมาณ 100,000 ใบ เพื่อกระจายต่อไปยังชุมชนและประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงเจ้าหน้าที่เก็บขยะของกรุงเทพฯ สอดคล้องกับแนวทางจัดการขยะในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ. 2556-2575 ซึ่งมีเป้าหมายการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ และมีวิสัยทัศน์ ที่มุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิดโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste Management) ทั้งนี้ ขยะติดเชื้อของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากโรงพยาบาลซึ่งจะนำไปเผาที่เตาเผาขยะติดเชื้อ โดยศูนย์กำจัดขยะหนองแขมมีปริมาณขยะติดเชื้อมากถึง 42 ตันต่อวัน และศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุชมีปริมาณขยะติดเชื้อ 60 ตันต่อวัน โดยกิจกรรมการรณรงค์เพื่อส่งเสริมการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกต้องในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นได้นำไปสู่การสร้างถังขยะเฉพาะ ณ สำนักงานเขต 50 แห่ง
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยของ RISC นำโดย พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโส และ ทิพทับทิม ภูมิพาณิชย์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส ได้ทำการค้นคว้าหาข้อมูลว่าทำไมหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจำนวนมากถึงถูกทิ้งในถังขยะทั่วไป ผ่านการสำรวจประชาชนจำนวน 2,250 คน พบว่ากว่า 90.4% ทราบถึงการทิ้งหน้ากากอนามัยผิดวิธีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อต่อผู้อื่น อย่างไรก็ตาม มีเพียง 22.3% เท่านั้นที่ทิ้งถูกวิธี คือ การแยกลงถังขยะติดเชื้อ และ 32.8% พยายามใส่ถุงแยกก่อนทิ้งลงถังทั่วไป โดยส่วนใหญ่กว่า 36.3% จะถอดทิ้งลงถังขยะปกติ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทิ้งหน้ากากใช้แล้วไม่ถูกต้อง กว่า 70% นั้น เกิดจากการที่ไม่สามารถหาถังขยะติดเชื้อได้ และ 24.4% ไม่ทราบว่าจะไปทิ้งที่ไหน
RISC จึงนำเสนอ “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock นวัตกรรมสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ในถุงซิปล็อกสีแดง ทำให้ง่ายต่อการคัดแยก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า กว่า 95% เห็นด้วยหากมีข้อกำหนดให้แยกทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วในถุงขยะติดเชื้อสีแดง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะรู้และกำจัดอย่างถูกวิธี และกว่า 55.3% เห็นว่า ถุงแดงสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วสะดวกสุด และเป็นการใช้พลาสติกตรงตามคุณสมบัติกันน้ำ ลดการแพร่กระจายเชื้อ และใช้อย่างคุ้มค่าเนื่องจากสามารถใส่หน้ากากอนามัยได้หลายชิ้นก่อนทิ้ง นอกจากนั้น ยังได้มีการแทรกแนวคิดการเขียนข้อความขอบคุณ ส่งต่อกำลังใจ และความห่วงใยสู่เจ้าหน้าที่เก็บขยะ บน “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock อีกด้วย
สำหรับภาคประชาสังคมที่ติดต่อเข้ารับ “ถุงแดงซิปล็อกจำกัดเชื้อ” หรือ Red Zip-Lock ประกอบด้วย “พยาบาลชุมชน” เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ และคนไข้ที่กลับออกจาก การเข้าเฝ้าระวังอาการ เครือข่าย infoAid เป็นสื่อกลาง “กลุ่มเปราะบาง” กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน คนพิการ ผู้หญิง ผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งต่อให้ผ่านกว่า 10 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิสถาบันแพทย์แผนไทยและะหมอพื้นบ้านภาคใต้ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท มูลนิธิไทยอาทร โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (โรงเรียนนอกกะลา) บ้านอุ่นไอรักเพื่อเด็กกำพร้าและ ผู้ด้อยโอกาส ศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภู เครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม กลุ่มเพื่อนตะวันออก (ทีมทำงานคนไร้บ้านภาคตะวันออก) แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ (ต.ป่ามะม่วง) และ โครงการ Care the Whale : Climate Action Collaboration @Ratchada District ตลอดจนองค์กรต่างๆ