ด้วยสถานการณ์โลกในวันนี้ ถูก Disrupt ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้บริบทของรัฐวิสาหกิจจากนี้ไป ต้องเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ของธุรกิจที่มุ่งสู่วิถียั่งยืน
จากเหตุผลดังกล่าว ชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม (ชรส.) จึงขับเคลื่อนการเสริมแกร่งให้กับ 52 รัฐวิสาหกิจไทยและองค์กรเครือข่าย โดยเริ่มที่วงเสวนา “พลังรัฐวิสาหกิจไทย วิถีใหม่ วิถียั่งยืน” นำวิทยากรผู้บริหารระดับสูงจากรัฐวิสาหกิจที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ บมจ.ปตท., ธกส. ,กฟผ. และ กปน. มาแชร์ประสบการณ์ เพราะสร้างผลงานจนเป็นที่ประจักษ์จากรางวัลมากมายด้านซีเอสอาร์ และความยั่งยืน โดยเฉพาะรางวัลที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเสาหลักในการประเมินผลการดำเนินให้กับรัฐวิสาหกิจทุกปี
อรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าที่ผ่านมา กลุ่มปตท.วางกลยุทธ์สู่ความยั่งยืนมาจาก หนึ่งการบริหารจัดการที่ดี สอง การกำกับดูแลที่ดีมีธรรมาภิบาล สาม มีวิสัยทัศน์ สี่ การอยู่อย่างยั่งยืนจะต้องดูแลคนรอบข้างให้ดีด้วย หมายถึงชุมชน สังคม ประชาชน และประเทศชาติ นอกจากนี้ กลุ่มประชาชนรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของเราที่มีเกือบครึ่งหนึ่งของหุ้นทั้งหมด เราต้องทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี พอทุกอย่างดีขึ้น เกิดผลสำเร็จที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ส่วนรางวัลที่มอบให้ก็จะตามมาเอง
ความสำเร็จของกลุ่ม ปตท.ขึ้นอยู่กับแต่ละบริบท แต่จุดสำคัญจะต้องมีการต่อยอดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า อย่างน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ นำมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี นำความสามารถของพนักงานมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เราคิดเสมอในด้านผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เมื่อผลิตภัณฑ์สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงมีการส่งเสริมปลูกต้นไม้ ปลูกป่า โดยไปร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ จนนำไปสู่การสร้างสถาบันปลูกป่า และมีพื้นที่ป่าในกรุงที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
สมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ด้านพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กล่าวว่า การทำมากกว่าเป็นธนาคาร ธกส.น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทาง มีการบ่มเพาะศูนย์เรียนรู้ทางการเงิน งานสนับสนุนภาครัฐ เช่นการเยียวยาผู้ประสบผลกระทบโควิด-19 การทำธนาคารต้นไม้ เชื่อมโยงชุมชน มากกว่านั้นคือการตลาด ยกระดับสิ่งแวดล้อม เช่นนวัตกรรมฝายมีชีวิต และตอนนี้สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เช่น ร้านค้าชุมชน โครงการพออยู่พอกิน ให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเข้ามาขายในเมืองที่สำนักงานใหญ่ เพราะศักยภาพชุมชนหลายแห่งมีแต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็น
ธกส.มีกรอบและระบบการจัดการที่ดี แต่ก็ต้องทบทวนเพื่อตอบโจทย์ฐานลูกค้า ซึ่งเป็นเกษตรกรได้ดีมากน้อยแค่ไหน วิถีของคน ธกส. ตั้งแต่การน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำอย่างไรให้ลูกค้า พนักงานเข้มแข็ง เช่น ช่วงพี่น้องเกษตรกรประสบภัย ก็นำเรื่องหลักประกันภัยพืชผลเข้ามา ดังนั้น รางวัลที่เคยได้รับถือว่าเกิดขึ้นได้เพราะรอยยิ้มของเกษตรกร
โควิด-19 มาเยือนเป็นสถานการณ์กำหนดให้เราต้องเติมการพัฒนา ทำให้ลูกค้ายกระดับมาใช้บริการเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน ทำให้ลูกค้าเห็นว่าบริการได้รวดเร็วกว่า และปลอดภัย ขณะที่การทำ CSR มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ วันนี้ธนาคารโรงเรียนของเด็กๆเมื่อก่อนเราลงไปตรวจเยี่ยมวันนี้สามารถ Real time เข้ามาดูข้อมูลของธนาคารโรงเรียนน้องๆหนูๆ ธนาคารต้นไม้ เราไปติดจีพีเอส ซึ่งบอกความเจริญเติบโตของต้นไม้ สิ่งเหล่านี้เราเรียนรู้กันในเวลาช่วงสั้นๆ แต่กลับเป็นพัฒนาการที่สร้างความยั่งยืน และอีกส่วนที่เรารณรงณ์กันไว้เรื่องพืชผลเกษตรอินทรีย์ มาวันนี้เป็นแพลตฟอร์มของการค้าขายบนโลกออนไลน์แล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราเรียนรู้จากโควิดที่สอนเราให้มีความแข็งแกร่ง
ด้าน จรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงรางวัลที่การันตีองค์กร ก็อยากให้ดูถึงความเป็นจริงมากกว่า แต่ในปัจจุบันบริบทด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก อย่างเช่นกรณีการทำ CSR ที่อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ แนะนำนั้นเราจะต้องมีการศึกษาเรียนรู้ถึงวิถีของชุมชนแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน บางครั้งไม่สามารถนำจากที่ใดที่หนึ่งไปใช้ด้วยกันได้ทั้งหมด เราก็มีการลองผิดลองถูกบ้าง แต่จุดหมายปลายทางคือเพื่อสังคมในชุมชนเช่นเดียวกัน
จากนี้ไปพวกเราจะตั้งหน้าตั้งตาทำธุรกิจอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่จะต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเสมอ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ อยากจะต่ออีกคำนึงก็คือ ความยั่งยืน ผมว่า keyword มันอยู่ที่คุณค่าร่วมที่เราจะแบ่งปันกัน แต่คุณค่าร่วมที่จะแบ่งปันกัน มันมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกก็คือแน่นอน จากองค์กรเรา แต่เฉพาะองค์กรอย่างเดียวโดยไม่ยึดโยงกับสิ่งแวดล้อมตรงนี้ความสมดุลก็จะไม่มี โดยที่ 3 คือทางด้านสังคม องค์กร สังคมและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ เราจะแบ่งปันคุณค่าร่วมซึ่งกันและกันอย่างไร ต่อไปเราไม่ควรมองสังคมเป็นผู้ที่จะต้องรับ แต่ที่ กปน. ได้กล่าวไว้ว่า โตไปด้วยกัน เพราะว่าชุมชนสังคมโต เราก็จะเติบโตและยั่งยืนไปด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตาม เราเองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญทุกด้านทุกมุม ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมหรือสังคม เราจะต้องออกไปร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ขณะเดียวกันภายในเราเอง แต่ละห่วงโซ่คุณค่า เราก็มีศักยภาพมีขีดความสามารถ อันไหนที่ดึงออกไปแชร์แบ่งปันกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตรงนั้นก็เป็นแนวทางหนึ่งที่การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยดำเนินการอยู่ ตอนนี้จับหลัก คิดพื้นฐาน แนวทาง คุณค่าร่วมที่เราจะต้องแบ่งปันกัน ผมว่าอันนี้เป็นคีย์เวิร์ดที่จะขมวดให้คนเห็นความสำเร็จขององค์กร
ขณะที่ ราชิรัช อุทาโย ผู้ช่วยผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ทั้งกปน.และกปภ.มีโครงการร่วมกันคือ ทำน้ำประปาที่สะอาดและปลอดภัย โดยส่งเสริมประชาชนให้มีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพราะเราห่วงใยสภาพแวดล้อม มีการทำซีเอสอาร์ และเอสดี สร้างความสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และน้อมนำพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 9 มีน้ำมีชีวิต โดยการทำทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำ มีการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเติมน้ำต้นทุน กลางน้ำ มีโครงการประปาโรงเรียน เพราะยังขาดน้ำสะอาด ทำมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน กปน.รวมใจรักษ์น้ำให้ความรู้แก่นักเรียนและชุมชน ปลายน้ำ มีโครงการบ้านวัดโรงเรียน ทำมา 4 ปีแล้ว เปลี่ยนก๊อกประหยัดน้ำ ทำฉลากประหยัดน้ำ
คำหนึ่งที่อยากบอก คือ เราจะต้องเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน หรือ Grow Together ดังนั้นสิ่งที่ กปน.ได้รับรางวัลมากมายแค่ไหน คงไม่เท่ากับรอยยิ้มของคนที่มาร่วมกิจกรรม เช่น โครงการช่างประปาเพื่อประชาชน ทำให้คนมาร่วมได้ความรู้นำไปใช้ช่วยเหลือตนเองและคนอื่น หรือทำเป็นอาชีพ
เรื่องโควิด เมื่อโรคเปลี่ยนโลก กปน. ก็ต้องเปลี่ยน เรา Change new Normal อย่างไร เบื้องต้นเลยเมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ เรามองเห็นว่าประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นหัวใจของเรา เราให้ประชาชนผู้ใช้น้ำ 10 คิวแรกใช้ฟรีแล้วก็ในส่วนของเกินจาก 10 คิวไปนั้น ก็ลด 20% เราช่วยประชาชนได้เท่าไหร่คือโจทย์ที่เราต้องคิด ไม่ใช่เราเสียเท่าไหร่ มาตรการนี้ช่วยเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายให้กับประชาชน งดการเก็บน้ำ งดการตัดน้ำ จนถึงเดือนกันยายน 2563 นอกจากนั้น ในกระบวนการทำงานของเราก็มีการปรับวิธีการในการทำงาน เช่น เมื่อก่อนเราเคยมีการอบรมสัมมนา อบรมวิชาชีพช่างประปาเพื่อประชาชน พอเกิด โควิด 19 ก็ต้อง Change to new Normal โดยการเปลี่ยนเป็นวิธีการฝึกอบรมแบบออนไลน์ แล้วก็เปิดแอปในไลน์พิเศษ พูดคุยถึงปัญหาน้ำ เรียกว่าหมอน้ำ
บริบทรัฐวิสาหกิจยุคใหม่ ต้องตอบโจทย์เทรนด์ของโลกยั่งยืน
กฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม (ชรส.) กล่าวว่าบทบาทของ ชรส.จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม แต่เดิมเคยใช้ชื่อว่า ชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน (ชรช.) ได้เปลี่ยนใหม่เป็น ชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม (ชรส.) เมื่อต้นปีนี้ก็ด้วยสถานการณ์ของประเทศ และผลกระทบต่อสังคมซึ่งทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยน ดังนั้น การขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อให้รัฐวิสาหกิจยุคใหม่จะต้องตอบโจทย์เทรนด์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และรัฐวิสาหกิจเองจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองก่อนนำไปต่อยอดช่วยเหลือสังคมภายนอก