xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ ฟันธง! “แนวปะการัง อ่าวมาหยา ต้องใช้เวลาฟื้นนานนับสิบปี”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อ่าวมาหยา สวรรค์อันดามัน ต้องใช้เวลาฟื้นแนวปะการังอีกนับสิบปี
เมื่อเร็วๆ นี้ เพจเฟซบุ๊ค Thon
Thamrongnawasawat
โดย ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง บางเขน ซึ่งเป็นนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ไปร่วมประชุมและสำรวจท้องทะเลฝั่งอันดามัน ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ได้โพสต์อัปเดทถึงการฟื้นฟูแนวปะการังที่อ่าวมาหยา ว่า

ถึงตอนนี้ คงพอบอกได้แล้วว่า ปะการังที่อ่าวมาหยาคงไม่ฟื้นคืนเหมือนเดิมใน 2-3 ปี
สี่ห้าปี ? ยังไม่อยากให้หวัง
เราอาจต้องพูดถึงตัวเลข “นับสิบปี”
ไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่อุทยาน/อาสาสามัคร ไม่ได้ช่วยกัน
ในทางตรงข้าม ทุกคนทุ่มเทเต็มที่ มากกว่าที่คาดไว้ด้วยซ้ำ
การย้ายปลูกปะการังที่อ่าวมาหยา ถือเป็นโครงการใหญ่สุดของอุทยานในด้านนี้ และต้องปรบมือให้
ปัญหาคืออ่าวมาหยามีเขาหินปูนโอบล้อมรอบด้าน ทางเข้าออกมีนิดเดียว
กระแสน้ำวนเวียน ยากที่ตัวอ่อนปะการังจากด้านนอกจะเข้ามา
พ่อแม่ปะการังในอ่าวทรุดโทรมหนัก เหลือรอดอยู่เพียงเล็กน้อย
แนวปะการังอ่าวมาหยาใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวหลายร้อยปี ก่อนจะมาถึงจุดที่เรียกได้ว่า “สวรรค์”
เมื่อเรารุกรานสวรรค์ เราย่อมได้รับผล
แม้เราจะทราบแล้ว เข้าใจแล้ว ขอโทษทะเลแล้ว
แต่การฟื้นคืนสวรรค์ไม่ใช่เรื่องง่าย
มันไม่เกี่ยวว่าเราอยากได้เธอกลับมาแค่ไหน
มันเกี่ยวว่าทะเลจะยินดีมอบเธอกลับคืนมาเมื่อไหร่
การทำผิดย่อมเกิดบทเรียน
เรากำลังเรียนรู้ว่า สวรรค์มีค่ามหาศาล
และการฟื้นคืนสวรรค์ยากเย็นแสนเข็ญ
เพราะฉะนั้น จงปกปักรักษาสิ่งที่มีอยู่มีอยู่ในวันนี้
อย่าให้คำว่า “ฟื้นฟูได้” มาเป็นภาพลวงตา
ฟื้นฟูได้...อาจใช่ แต่ได้เมื่อไหร่ ???
ตะวันกำลังลับลา เจ้าหน้าที่อุทยาน/อาสาสมัครยังคงทำงานต่อไป
แสงทองส่องประกายผ่านเข้ามาทางปากอ่าว
คล้ายเป็นดังความหวังเรืองรอง หวังที่ต้องทุ่มเทพยายาม
ประโยคนี้ขอค้อมหัวคารวะทุกท่านที่กำลังพยายามเพื่ออ่าวมาหยา
ผู้ที่กำลังทำ #ภารกิจฟื้นฟูสวรรค์
เข้าใจ รักในสิ่งที่พวกท่านทำ
และขอบคุณด้วยความรู้สึกจากส่วนลึกของใจ

สวรรค์อันดามันวันวาน ธรรมชาติแห่งนี้หนาแน่นไปด้วยเรือท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว ทำให้สภาพธรรมชาติเสื่อมโทรม ชายหาดทรุดตัว
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีมติเมื่อกลางปี 2561 ให้ปิดการท่องเที่ยวอ่าวมาหยากลางทะเลอันดามัน เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ เนื่องจากพบว่า แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งนี้หนาแน่นไปด้วยเรือท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว ทำให้สภาพธรรมชาติเสื่อมโทรม ชายหาดทรุดตัว นอกจากนี้ยังพบสารเคมีบางชนิด เช่น ครีมกันแดดที่นักท่องเที่ยวใช้ทาตัวก่อนลงเล่นน้ำ กลับเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวจนนำไปสู่การประกาศปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูสภาพของระบบนิเวศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายน 2561 และต่อมามีการขยายเวลาปิดอ่าวต่อเนื่องมาอีก 1 เดือน กระทั่งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเรียกร้องให้มีการเปิดอ่าวอีกครั้ง ในเดือน พ.ย.ปีเดียวกัน แต่เมื่อ ต.ค.2561 กรมอุทยานฯ กลับมีมติปิดอ่าวมาหยาอย่างไม่มีกำหนดจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรมอย่างหนัก 


ช่วงสัปดาห์นี้ อาจารย์ธรณ์ ได้เข้าร่วมแนวทางกำหนดแผนปฏิรูปพื้นที่ทะเล ใน 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยใช้“อ่าวพังงา” เป็นพื้นที่นำร่อง ทว่าอาจารย์ก็ย้ำว่าแผนต่างๆ เมื่อเขียนเสร็จแล้วต้องทำด้วย ไม่งั้นก็ไม่เกิดผล

ช่วงนี้ใครทำอะไรได้ควรช่วยกัน ผมจึงมุ่งหน้าไปภูเก็ต/พังงา
ผมชอบอ่าวพังงา ไปตั้งแต่เด็ก (ปี 14 คุณพ่อเขียนไว้หลังภาพถ่าย) จากนั่นก็ขึ้นล่องมาตลอด ทราบดีว่าอ่าวพังงาคือหัวใจของอันดามัน
มีโอกาสช่วยวางแผนในอ่าวพังงาหลายครั้ง สุดท้ายคือแผนปฏิรูป/ยุทธศาสตร์ ผมขอให้กก.เลือกเป็นพื้นที่นำร่อง และคงอยู่มาจนถึงตอนนี้
แผนต่างๆ ของไทยเมื่อเขียนเสร็จแล้วต้องลงไปทำด้วยครับ ไม่งั้นไม่เกิดหรอก
เพื่อนธรณ์ที่ตามมาตลอด คงเคยเห็นโครงการต่างๆ ในอ่าวพังงา เช่น โมเดลขยะทะเล อุทยานชุมชน เกาะละวะ/เกาะเรียนรู้ ฯลฯ
แต่ตอนนี้เราเจอโควิด หลายอย่างเปลี่ยนไป ธรรมชาติสดใส แต่ผู้คนเดือดร้อนเพราะไม่มีการท่องเที่ยว
สถานการณ์แบบนี้ต้องเริ่มจากช่วยคน ผมเคยส่งถุงยังชีพไปให้คนรอบอ่าวพังงา ในนามทีมเพื่อนธรณ์ รวมกับอุทยานและคนในพื้นที่
ลงมาหนนี้ จะเน้นก๊อกสอง/สาม
ก๊อกสองคือช่วยกันแบบซึ่งๆ หน้า โดยชวนภาคเอกชน/เพื่อนๆ ไปสนับสนุนเงินบริจาคให้หลายโรงเรียนรอบอ่าว ใช้ช่วยน้องๆ/สิ่งแวดล้อมให้ต่อเนื่อง
ถึงวันกิจกรรมจะเล่าให้ฟังอีกครั้งครับ
ก๊อกสามคือไปเพื่อผลักดันต่อตามแผน เพิ่งประชุมกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญของหลายหน่วยงานเมื่อวาน (ดูภาพนะจ๊ะ)
อ่าวพังงาจะเป็นพื้นที่นำร่อง ทั้ง OHI (ocean health index) ทั้ง Ocean Account เพื่อต่อเนื่องไปสู่ MSP (marine spatial planning)
ศัพท์พิลึกเหล่านี้ทั่วโลกเขาใช้กันเพื่อดูแลทะเลยุคใหม่
เมืองไทยก็ต้องวางแผนใช้ให้ทันและจะมีประโยชน์ในการท่องเที่ยว/การประมง ยุคหลังโควิด ยังสอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิตอล ฯลฯ


ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่อ่าวพังงา


กำลังโหลดความคิดเห็น