xs
xsm
sm
md
lg

‘ชัยภูมิ โมเดล’ พื้นที่ต้นแบบ ธนาคารน้ำแห่งภาคอีสาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 สำหรับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่มีการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี สร้างโคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล พื้นที่เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการฟื้นฟูลุ่มนํ้าป่าสักและลุ่มนํ้าชี ณ ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ศูนย์เรียนรู้ที่รวบรวมคนมีใจ และมีความรู้ด้านหลักกสิกรรมธรรมชาติ มาถ่ายทอดความรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการดําเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวชัยภูมิ

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็น ภายใต้แนวคิด “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา” เพื่อตอกย้ำว่าศาสตร์พระราชาคือทางรอดจากทุกวิกฤต


ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า จ.ชัยภูมิ เป็นแหล่งต้นน้ำชี ถือเป็นธนาคารน้ำแห่งภาคอีสาน แม่น้ำชี แม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ น้ำฝนจะไหลลงแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำชี แล้วไหลผ่านจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ แล้วไหลลงแม่น้ำโขงที่อุบลราชธานี จ.ชัยภูมิจึงเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำได้อย่างดี

บนพื้นที่ 11 ไร่เศษ ใน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ที่บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา ต.บ้านเล่า อ.เมือง จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าเก้าตาม โดยเน้นการฝึกอบรม เพื่อผลักดันองค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางศาสตร์พระราชา สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชัยภูมิได้อย่างยั่งยืน

ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าเก้าตาม แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรหลายรูปแบบ อาทิ การทำนาแบบดั้งเดิม การเลี้ยงปลาในนาข้าว การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การทำปศุสัตว์ รวมไปถึงการจัดทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบน้ำเพื่อการเกษตร และระบบการกักเก็บน้ำในสระไม่ให้ไหลซึมหายไปในช่วงหน้าแล้ง

อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวว่า “กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ มีอาสาสมัครมาร่วมกันสร้างโคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน กิจกรรมที่ทำ ได้แก่ การขุดคลองไส้ไก่ ทำแปลงผักแสนดี (ปลูกผักในกระบะ) โรงปุ๋ยแสนขยัน (ปุ๋ยจากมูลวัว) หนองปลาโตไว (แซนด์วิชปลา สร้างแหล่งอาหารครบวงจร) ดำนาอินทรีย์ และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

กิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบให้ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบในการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและคนมีใจต่าง ๆ ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้ศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาในพื้นที่ ชุมชน จังหวัดได้อย่างยั่งยืน และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติและถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ ต่อไป”

ด้าน นพ.นรุตม์ อภิชาตอำมฤต (หมอนิค) นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลหนองบัวระเหว ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติหนองบัวระเหว ต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ และศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม กล่าวว่า ในชัยภูมิมีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัญหาความยากจนที่ผลักดันให้คนหนุ่มสาวออกไปทำงานที่อื่นแล้วส่งลูกกลับมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เกิดเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่ในบ้านมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก จึงตัดสินใจศึกษาและลงไปพัฒนาชุมชนด้วยศาสตร์พระราชา เนื่องจากตอบโจทย์ 3 ประการคือ เรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน และเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่น

โดยร่วมกับจิตอาสาจากหลายภาคส่วน ต่อมาได้มาร่วมก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันทำ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับเรียนรู้และจัดฝึกอบรม ที่ผ่านมามีผู้มาเข้ารับการอบรมไปแล้วหลายรุ่น การเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ จะมีการปรับพื้นที่ใหม่ให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการออกแบบพื้นที่ให้ศูนย์ฯ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และเหมาะสมกับกำลังคนที่มีอยู่น้อยเพราะทุกคนมีงานประจำ

ด้าน ปราณี ชัยทวีพรสุข ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม และเจ้าของ “สวนฝันสานสุข” จ.ชัยภูมิ กล่าวถึงความเป็นมาจากอาชีพพยาบาลมาเป็นประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียงบอกเล่าก้าวตาม กล่าวว่า การทำงานส่งเสริมสุขภาพชุมชนทำให้พบว่า การรักษาพยาบาลเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากปัญหาสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต เช่น การใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมีผลกับสุขภาพ ปัญหาครอบครัวแหว่งกลางส่งผลให้ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้า

ต่อมาได้มาเรียนรู้เรื่องศาสตร์พระราชาและแนวทางกสิกรรมธรรมชาติจากอาจารย์ยักษ์และอาจารย์โจน จันใด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จึงรวบรวมคนมีความรู้มาทำงานร่วมกัน แจกจ่ายความรู้เรื่องสุขภาพ หยิบเรื่องสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ รวบรวมสูตรยาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย นำเรื่อง “สมุนไพรอินทรีย์” มาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต

นอกจากขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ฯ บอกเล่าก้าวตามแล้ว ยังทำ ‘สวนฝันสานสุข’ ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งอาหาร ให้คนมาเรียนรู้ จ้างชาวบ้านมาช่วยงานเพื่อสอนเขา ซึ่งเขาเอาความรู้กลับไปทำที่บ้าน ในการทำศูนย์ฯ บอกเล่าก้าวตาม มีหน้าที่รวบรวมคนจากหลากหลายอาชีพ เป็นผู้ต่อจิ๊กซอว์ที่นำไปสู่การสร้างเครือข่ายเข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ