จากผลการตอบรับ “ศาสตร์พระราชา” จนเกิดการขยายผลแตกตัวทั่วไทย ของโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่ดำเนินการมาจนถึงปีที่ 7 แล้วนั้น ไม่เพียงแต่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนในอาชีพเกษตรกรเท่านั้น ยังส่งแรงกระเพื่อมโดยตรงถึงคนในอาชีพอื่นๆ ที่มีความฝันอยากเดินตามรอยพ่อของแผ่นดิน
จากจุดมุ่งหมายแรกที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ร่วมกันผนึกกำลังรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนให้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหา “หยุดท่วม-หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน” วันนี้ความมุ่งหวังให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็น “ต้นแบบ” ในการจัดการดิน น้ำ ป่า กลายเป็นความจริง มีเครือข่ายที่สืบสานศาสตร์พระราชาครอบคลุมครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำของประเทศ หนึ่งในลุ่มน้ำที่เป็นกองกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงาน คือ ลุ่มน้ำเพชรบุรี ซึ่งมีผู้นำกองกำลังเป็นถึงอดีตรองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.
ต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม และรองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดีกรีปริญญาโทด้านการออกแบบอุตสาหกรรมจาก เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ คอลเลจ ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์ (Central Saint Martins College of Arts and Design) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อาจารย์หนุ่มอนาคตไกลในวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ผู้นำศาสตร์และศิลป์มาออกแบบชีวิตให้อยู่กับธรรมชาติตามรอยศาสตร์พระราชาอย่างมีสุนทรียะ ริเริ่มการรวมกลุ่มทำงานเป็นทีมในกลุ่มชุมชนกสิกรรมธรรมชาติตามลุ่มน้ำเพชรบุรี (ชตพ.) เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านไร่ยายลิ้ม มุ่งมั่นสืบสานศาสตร์พระราชาให้เป็นทางรอดอย่างยั่งยืน
พื้นฐานเชี่ยวชาญงานออกแบบ
“พ่อแม่ผมเป็นคนนครศรีธรรมราช พ่อรับราชการย้ายบ้านไปหลายจังหวัด จนมาปักหลักอยู่ที่เพชรบุรี พ่อเลี้ยงลูกแบบให้อิสระทางความคิด แต่จะคอยเตือนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม โตขึ้นผมเข้ามาเรียนกรุงเทพที่ ร.ร.อำนวยศิลป์ ชอบวิชาเขียนแบบและทำได้ค่อนข้างดี สอบได้ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เรียนการออกแบบทุกอย่างตั้งแต่ ไม้จิ้มฟัน ยันของชิ้นใหญ่ๆ จากวัสดุทุกประเภท ซึ่งผมเลือกเรียนด้านเฟอร์นิเจอร์ พอจบมีองค์กรใหญ่มาทาบทาม แต่ผมคิดว่าเราจะได้เรียนรู้งานเฉพาะจุด จึงเลือกไปทำงานกับบริษัทเล็กๆ ที่เพิ่งเปิดใหม่ ได้ทำทุกอย่างจริงๆ ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการกับเขา ทำให้ผมได้เรียนรู้ทั้งด้านการบริหาร การตลาด จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ และทุกๆ อย่าง รวมถึงการออกแบบให้สวยงามมีศิลปะ และตอบโจทย์ลูกค้าด้านการใช้งาน จนถูกปลูกฝังด้านความคิดว่า ทำอะไรก็ตามต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อกำไรสูงสุด
สร้างชื่อให้ศิลปอุตสาหกรรม แต่เริ่มเป็นเกษตรกรวันหยุด
ผมทำงานจนรู้สึกว่าเราต้องมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า เลยอยากเรียนเพิ่มเติม แต่ไม่มีทุน จึงกลับไปปรึกษาอาจารย์ที่ลาดกระบัง ท่านให้มาช่วยสอนหนังสือก่อนทั้งๆ ที่ผมเพิ่งจบมาปีเดียว โชคดีที่ได้ครูดีช่วยแนะนำ สอนหนังสือได้ 4 ปี จึงได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบอุตสาหกรรมจาก เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ คอลเลจ ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ วิทยาลัยเก่าแก่ด้านศิลปะของยุโรป
กลับมาผมได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากต่างประเทศมาถ่ายทอดให้ศิษย์ ซึ่งผมเข้าใจว่าผมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาควิชาการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เป็นที่นิยมมากขึ้น มีคนเลือกเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งของคณะสถาปัตย์ฯ และทำให้เกิดเงินทุนให้คณะฯ สูงถึง 20 ล้านบาท เป็นหัวหน้าภาควิชาอยู่ 6 ปี เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะ ผมก็ถอยกลับมาอยู่ในฐานะอาจารย์ผู้สอนและทำงานด้านวิชาชีพเสริมเพื่อหาประสบการณ์เพิ่มความรู้ควบคู่ไปด้วย ช่วงนั้นเองที่ผมได้เริ่มกลับมาที่ของยายลิ้มคุณยายของภรรยา ที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี สมัยก่อนถือว่าเป็นพื้นที่กันดารไกลปืนเที่ยงมากๆ ก็เริ่มสร้างบ้านด้วยหลักการสร้างบ้านไทย ซึ่งผมว่าทันสมัยเหมาะกับสภาพอากาศบ้านเราจริงๆ บ้านผมจึงไม่ต้องติดแอร์ และเริ่มทำตัวเป็นเกษตรวันหยุด คือทุกเย็นวันศุกร์ก็จะขับรถกลับมาอยู่ที่นี่
เพิ่งรู้ซึ้งศาสตร์พระราชา เมื่อพบอาจารย์ยักษ์
ผมวางแผนภาพชีวิตตัวเองในอนาคตเอาไว้คร่าว ๆ ว่า อยากเกษียณตอนอายุ 50 และอยากมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อยากชิลล์อยากลั้ลลานั้นเอง ยังไม่ได้ใส่ใจจริงจังกับเรื่องศาสตร์พระราชาเลย พออาจารย์โก้ (ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุลอดีตคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.) เพื่อนร่วมรุ่นที่เราได้ร่วมทำงานกัน บอกกับผมว่าเขามีวิธีคิดในการทำงาน คือ ‘ใช้ศาสตร์พระราชา’ ทำให้ผมจำไม่ลืม
แล้วยิ่งพอผมมีโอกาสได้พบกับ อาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก ที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ซึ่งอาจารย์โก้เชิญมาเป็นที่ปรึกษาของคณะฯถึงรู้ว่าตัวเราไม่รู้อะไรลึกซึ้งเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาเลย จึงปราวณาตัวขอเป็นศิษย์ เพราะตอนนั้นคนเริ่มพูดถึงศาสตร์พระราชากันเยอะ แต่ผมเลือกแนวทางกสิกรรมตามอาจารย์ยักษ์ เพราะคนคนนี้ที่มีแนวคิดแบบนี้ คือ คนที่เดินตามพระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 มานานถึง 16-17 ปี แล้วมีหน้าที่จดบันทึกสรุปรายงานถวายเกือบทุกวัน โดนแก้ไขขัดเกลาตรวจทานให้เข้าใจว่าที่ตรัสไว้คืออะไร อาจารย์ยักษ์จึงถือว่าได้รับการสอนโดยตรงจากพระราชา และอาจารย์ก็ลงมือปฏิบัติ เริ่มทำที่ของตนเองให้เห็นก่อนจะไปช่วยทำให้คนอื่น เป็นตัวอย่างที่ทำจับต้องได้
ทิ้งเงินเดือนเรือนแสน มาเดินตามศาสตร์พระราชา ที่สร้างสุนทรียะให้ชีวิต
ผมเริ่มเดินตามอาจารย์ยักษ์เวลาทำงานอยู่ 2 ปี เรียนรู้ ลงมือทำ กลับมาจดสรุปเป็นมายด์แมปว่า คุยกับยักษ์ ได้อะไร ทั้งศาสตร์พระราชา หลักกสิกรรม ดิน น้ำ ป่า คน ข้อธรรมะ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นทางออก ผมลาออกตอนอายุ 46 ปีเลย ก่อนเป้าหมายที่วางไว้ ท่ามกลางความแปลกใจของคนรอบข้าง ทิ้งรายได้เกือบแสนต่อเดือน เหลือเงินบำนาญ 9,300 แทน
เพราะอาจารย์ยักษ์ทำให้ผมตระหนักในความรู้มากขึ้น ถ้าย้อนกลับดูวิชาที่เราเรียนมา เป็นวิชาที่ว่าด้วยศิลป์และศาสตร์ คนเรียนดีไซน์จะต้องผสมทุกอย่างให้อยู่ด้วยกันได้ เป็นศิลปะของการประณีประนอม แล้วสิ่งที่พระราชาทรงทำมาตลอดทั้งหมด จริงๆ แล้ว คืองานศิลปะ การทำความเข้าใจ พื้นที่ ภูมิประเทศ ดิน ฟ้า อากาศ ให้สอดคล้องกัน นี่คือศิลปะ คือความงามแล้ว ต้นไม้ตามธรรมชาติอาจจะรูปทรงไม่สวยแบบประดิษฐ์แต่ทำให้เราอารมณ์ดี ทำให้เราปิติ นี่คือ สุนทรียะของศิลปะ มีมิติทางอารมณ์และจิตใจ ทำให้คนจิตใจดีมีความสุข ผมว่านี่แหละชีวิต ผมได้ประโยชน์ได้ความสุข ทุกอย่างเหมาะเหม็งเข้าทาง ส่วนผสมทุกอย่างกลมกล่อม ชีวิตผมก็เลยอร่อย
เกิดเครือข่ายชุมชนลุยงานจิตอาสา
ทุกวันนี้ ผมยังไม่ได้ทิ้งหน้าที่เดิม ยังคงเป็นครู เพราะที่นี่กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ชื่อ บ้านไร่ยายลิ้ม มีเนื้อที่ 3 ไร่เศษ อาจารย์ยักษ์ช่วยมาดูและให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าควรปรับพื้นที่อย่างไร ขุดหนอง ขุดคลองไส้ไก่ สร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ ปลูกพืชผสมผสาน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง อาจไม่สวยงาม แต่มีเสน่ห์ และผมเชื่อว่าคนทุกวันนี้โหยหาชีวิตแบบนี้ สภาพแวดล้อมแบบนี้ ที่ทำให้ชีวิตเราอยู่ได้อย่างมีความสุข
ตอนนี้ ผมรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่ทำเกษตรผสมผสาน บางคนทำเกษตรท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชา บางคนเป็นปราชญ์ชาวบ้าน หมอดิน หลายคนเป็นเกษตรกรมือใหม่ ข้าราชการ ผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการ แพทย์แผนไทย กราฟฟิคดีไซเนอร์ เกิดเป็น ‘ชุมชนกสิกรรมธรรมชาติตามลุ่มน้ำเพชรบุรี (ชตพ.)’ครอบคลุมพื้นที่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สมุทรสงคราม ไปจนถึง กาญจนบุรี เราดึงวิถีการช่วยเหลือกันแบบดั้งเดิม คือ ร่วมกันเอามื้อเดือนละครั้ง นอกเหนือจากการไปเข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อของโครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ทุกครั้งนับตั้งแต่รวมกลุ่มกันมา สิ่งที่คาดหวัง คือ รูปแบบการทำงานแบบจิตอาสา เราจะทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งจะมีพลังมากขึ้น จากเดิมผมมีเครือข่าย 20 แปลง เชื่อว่าปีหน้าโซนนี้จะมีมากกว่า 40 แปลง
เห็นผลจากการผลักดันของโครงการตามรอยพ่อฯ
ผมเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ตั้งแต่ปีแรกๆ ตอนที่ยังทำงานที่ สจล. ได้เห็นวิธีการกระบวนต่างๆ ในการทำงาน จึงค่อนข้างเห็นว่าได้ชัดว่า โครงการฯ มีความสำคัญในการสร้างการขยายผลศาสตร์พระราชาเป็นอย่างมาก ช่วง 3 – 4 ปีแรก อาจจะยังไม่เห็นผลในเชิงปริมาณ แต่เราเห็นผลในเชิงคุณภาพ มีตัวอย่างความสำเร็จที่เรานำมาเป็นแนวทางได้ หลายคนจุดประกายได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการนี้ และสิ่งสำคัญคือการมีพลังมาช่วยกันผลักดัน ยิ่งทำให้การเคลื่อนที่เร็วขึ้น นับวันผมยิ่งเห็นพลังที่มากขึ้น และเชื่อมั่นว่าพลังคนสร้างสรรค์โลกได้จริงๆ ถ้าเราสามัคคีกัน ผมประทับใจมากครับ เพราะผมได้ประโยชน์จากงานนี้ทุกปี
ความฝันต่อยอด งานออกแบบที่ใช้ศาสตร์พระราชา
ความฝันอีกอย่างหนึ่งของผมคือ ผมอยากจะเขียนตำราสักเล่มนึง เป็นตำราการออกแบบที่เอาศาสตร์พระราชาเข้ามาประกอบ ตั้งแต่วิธีคิด หลักการของพระราชา ไปจนถึงระบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำเพื่อสังคม เข้ามาผสมผสานกับงานออกแบบ งานดีไซน์ งานสร้างสรรค์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนว่า Our loss is our gain การให้ไม่มีทางขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการให้ในรูปแบบใด ผมเชื่อว่าจะเป็นการสร้างสรรค์แบบทวีคูณ น่าจะเกิดมุมมองใหม่ มิติใหม่ของการออกแบบเกิดผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่สะท้อนความเป็นศาสตร์พระราชา และจะทำให้สังคมดีขึ้นอีกเยอะเลย
เพราะผมเชื่อมั่นและศรัทธาเสมอว่า ศาสตร์พระราชาคือทางรอดอย่างยั่งยืนของคนไทยอย่างแท้จริง”