แม้ว่าอนาคตคือความไม่แน่นอน แต่ความท้าทายต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น สามารถนำไปสู่สถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าได้หลากหลายรูปแบบ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน และการพักผ่อนหย่อนใจได้มากมาย
เชลล์เป็นผู้บุกเบิกและคิดค้นการวางแผนและออกแบบจำลองสถานการณ์ โดยได้นำทักษะเหล่านี้มาใช้เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนได้ร่วมลับคมความคิดและจินตนาการในการจำลองสถานการณ์อนาคตโดยตอบสนองต่อความท้าทายด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหลายประการ อาทิ พฤติกรรมมนุษย์ทั้งที่ส่งผลกระทบและรักษาสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางและเป็นสากล ตลอดจนความร่วมมือในระดับภูมิภาคและแนวคิดทางสังคม-การเมือง ทั้งนี้ เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในอนาคต บนพื้นฐานการให้ความสำคัญกับพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน ตลอดจนความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ในปีนี้ นิสิตนักศึกษาจำนวน 432 คน จาก 83 ทีม เข้าร่วมการแข่งขัน “Imagine the Future Scenarios Competition 2020”ของเชลล์ ที่ได้ดำเนินมาจนถึงรอบสุดท้ายในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง ต่างนำเสนอความรู้ความสามารถ ผนวกกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อร่วมผลักดันบทบาทพลังงานที่ยั่งยืนกับชีวิตวิถีใหม่ ผ่านสถานการณ์จำลองในอีก 30 ปีข้างหน้า ภายใต้หัวข้อ ‘More and Cleaner Energy in an Asia Pacific or Middle Eastern city in 2050 – How will residents live, work, and play?’ ทีมที่เข้าแข่งขันนำเสนอสถานการณ์จำลองเมืองแห่งอนาคตต่อคณะกรรมการ และทีมผู้ชนะการแข่งขันประจำปีนี้ได้แก่ ทีมจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้นำเสนอสถานการณ์จำลอง Koshi vs Banbo
ปนันท์ ประจวบเหมาะประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เชลล์ขอแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ สำหรับทีมเยาวชนไทยผมมีความภูมิใจและหวังว่าน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนมิตรภาพในระดับภูมิภาคนี้ ไปต่อยอดทางความคิดและส่งต่อพลังงานที่สร้างสรรค์ของพวกเขา เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและดียิ่งขึ้นจากความคิดที่สร้างสรรค์และความร่วมมือของทุกคนในสังคม”
“พวกเราขอแสดงความยินดีกับทีมสิงคโปร์ที่ชนะการแข่งขันในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าพวกเราจะไม่ได้อันดับหนึ่งในรอบภูมิภาค แต่พวกเราก็รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน Imagine the Future ที่ได้เข้ามาช่วยยกระดับและขยายมุมมองโลกทัศน์ของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ความสำคัญของพลังงาน การพัฒนากระบวนการคิดและการจำลองสถานการณ์ที่ถูกต้องและครอบคลุม นอกจากนี้ การเข้าแข่งขัน Imagine the Future ยังเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและหาที่อื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทีมเวิร์ค การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์จากเชลล์ ซึ่งล้วนสำคัญทั้งต่อการใช้ชีวิตและการทำงานของเราในอนาคต”ทีม Good Night Consultingจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมตัวแทนประเทศไทยเปิดเผยความรู้สึกหลังการแข่งขันรอบสุดท้าย
ดร. วาเลอรี โชวที่ปรึกษาและประธานกรรมการตัดสินการแข่งขัน Imagine The Future ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา เชลล์ ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมการออกแบบและจำลองสถานการณ์เมืองแห่งอนาคตในทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง ปีนี้ ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ของ Shell Scenarios ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างแบบจำลองสถานการณ์อนาคตของเชลล์ ทั้งนี้นับเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษแล้วที่เชลล์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเครื่องมือแบบจำลองสถานการณ์อนาคตเพื่อการวางนโยบาย การออกแบบเมืองและผังเมือง เครื่องมือแบบจำลองนี้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยจัดให้คำนึงถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบในอนาคต และแน่นอนว่าสถานการณ์รูปแบบต่างๆ ในอนาคตนั้นถูกประมวลผลและออกแบบมาให้ท้าทายกระบวนการทางความคิดของเรา ตลอดจนขยายกรอบความเป็นไปได้ต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคต
"อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือ หลักการออกแบบจำลองสถานการณ์นี้กำหนดให้เราต้องเริ่มลงมือทำสิ่งที่คิดว่าควรทำในปัจจุบัน โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะเป็นไปตามที่ออกแบบไว้”ดร.โชวกล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข้อมูลรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/imaginethefuturecompetition
ค.ศ. 2050 ในมุมมองเยาวชนรุ่นใหม่
สถานการณ์จำลอง Honeybee vs Lazy Sloth โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทย
ทีมประเทศไทยจำลองสถานการณ์โดยใช้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวแปรหลัก อย่างการตั้งคำถามว่าภัยธรรมชาติจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคม พฤติกรรมมนุษย์ และเทคโนโลยีอย่างไร ในสถานการณ์ “Honeybee” ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ทำให้ผู้คนต้องรวมตัวกันเพราะตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ส่งผลให้หลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกิจประกันภัยเติบโตสอดคล้องกับสถานการณ์ ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องมีการออกแบบใหม่
ในสถานการณ์จำลอง “Lazy Sloth” ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่แทบจะไม่เกิดขึ้น ผู้คนมักมีแนวคิดปัจเจกนิยม ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ขณะที่มุ่งหน้าเพื่อก้าวไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สถานการณ์จำลอง Koshi vs Banbo โดยมหาวิทยาลัย Nanyang Technological ประเทศสิงคโปร์
ตัวแปรหลักที่ทีมสิงคโปร์นำมาจำลองสถานการณ์คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยได้เลือกจำลองสถานการณ์ 2 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพราะโตเกียวเป็นเมืองที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ อาทิ สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) การใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และความเหลื่อมล้ำทางรายได้
สถานการณ์แรก “Koshi” (広至) ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล เปรียบเสมือนภาพของโลกที่เชื่อมต่อรวมกันในยุคโลกาภิวัตน์และเต็มไปด้วยความคิดแบบเสรีนิยมในเรื่องการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้มีการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย อาทิ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ เมืองลอยได้ การรับประทานพืชเป็นหลัก การดัดแปลงทางพันธุกรรม และการควบคุมสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยในโลกแบบ “Koshi”
สถานการณ์ที่สอง “Banbo” (万保) หมายถึง ความมั่นคงและปลอดภัย จะตรงข้ามกับสถานการณ์จำลองแรกแบบ “Koshi” ด้วยแนวคิดชาตินิยมและอนุรักษ์นิยม ทำให้มีการคุ้มครองผู้คนจากอิทธิพลภายนอก ดังนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจึงแตกต่างจากสถานการณ์จำลองแบบแรก อาทิ การใช้เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์เพื่อคาดการณ์อนาคต อย่างเทคโนโลยีสื่อเสมือนจริง (Augmented Reality - AR) และเทคโนโลยีโลกเสมือน (Virtual Reality - VR) ในการจำลองสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการในการใช้พลังงานและภูมิอากาศโลก เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีการใช้เทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและมีประโยชน์สูงสุดก่อนนำมาใช้จริง
สถานการณ์จำลอง A Diamond in the Rough vs For Mother Africa! โดยมหาวิทยาลัย University of Science and Technology at Zewail City ประเทศอียิปต์
ทีมจากอียิปต์นำความร่วมมือในภูมิภาคแอฟริกาและอุดมกาณ์ทางสังคมและการเมืองมาเป็นตัวแปรสำคัญ เพื่อนำเสนอสถานการณ์จำลอง 2 สถานการณ์ โดยสถานการณ์จำลองแรก “A Diamond in the Rough” เมืองอัสวาน ประเทศอียิปต์ เป็นการดำเนินความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างจำกัด มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ปรับตัวเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และศึกษาวิธีการทางการเกษตรที่ยั่งยืน รวมไปถึงการเกษตรที่ยังเป็นข้อโต้แย้ง อย่างการเพาะปลูกแบบไร้ดิน ทำฟาร์มแมลง และการดัดแปรพันธุกรรม
ในทางกลับกัน เมืองอัสวาน ในสถานการณ์จำลองแบบ “For Mother Africa!” จะเป็นเมืองที่มีความร่วมมือระดับภูมิภาคสูง และมีอุดมการณ์สังคมและการเมืองที่เน้นความก้าวหน้า และส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ในสถานการณ์นี้ เมืองอัสวานกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นประตูสู่ภาคพื้นทวีปและจุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงภูมิภาค