xs
xsm
sm
md
lg

อู่ฮั่น “เส้นทางใหญ่สู่เก้ามณฑล” และจุดยุทธศาสตร์การเมืองการทหาร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในตัวเมืองอู่ฮั่น มองไปทางไหนก็เห็นแม่น้ำทะเลสาบ สมกับฉายามณฑลหูเป่ยที่มีหลายชื่อ ได้แก่ “ดินแดนแห่งสายน้ำ” “ดินแดนแห่งทะเลสาบพันแห่ง”และ “เมืองข้าวเมืองปลา” (แฟ้มภาพ MGR ONLINE)
มณฑลหูเป่ยตั้งอยู่ช่วงกลางของแยงซีเกียงบริเวณตอนกลางของประเทศจีนโดยมีอู่ฮั่นเมืองเอกนั้นมีรากประวัติศาสตร์เก่าแก่ถึงกว่าสามพันปี เป็นยอดจุดยุทธศาสตร์ของบรรดานักวางแผนการทหารมาแต่ยุคโบราณ และมีแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสามก๊กที่เลื่องลือ

สำหรับอู่ฮั่นผ่านช่วงการพัฒนาเมืองอย่างมีแบบแผนมานับร้อยปี จนปัจจุบันกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่เทียบชั้นมหานครที่สง่างามทันสมัย เป็นจุดศูนย์กลางของ“เส้นทางใหญ่สู่เก้ามณฑล”

เป็นเรื่องที่น่าใจหาย ณ เวลานี้ อู่ฮั่นกลับกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของเชื้อโรคไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และทำให้ชื่อ “อู่ฮั่น หูเป่ย” กระฉ่อนไปทั่วโลก ขณะนี้หลายๆคนและผู้เขียนขอส่งกำลังใจให้ “อู่ฮั่นหลุดพ้นจากโรคภัยพิบัติครั้งนี้ และฟื้นตัวกลับมาเป็นมหานครที่งามสง่า เป็นแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม และดินแดนประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษา”

สำหรับผู้เขียนได้ไปเยือนมณฑลหูเป่ยเมื่อสองปีที่แล้ว ในทริปรายงานข่าวการพัฒนามณฑลในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญในแผนการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน

อู่ฮั่นห่างจากกรุงปักกิ่ง 1,052 กิโลเมตร ด้วยอัตราเร็วของขบวนรถไฟความเร็วสูง เราสามารถเดินทางจากปักกิ่งมาถึงอู่ฮั่นภายในเวลาเพียงราว 4 ชั่วโมง

เมื่อเหยียบย่างเข้าไปในตัวเมืองอู่ฮั่น มองไปทางไหนก็เห็นแม่น้ำทะเลสาบ สมกับฉายามณฑลหูเป่ยที่มีหลายชื่อ ได้แก่ “ดินแดนแห่งสายน้ำ” “ดินแดนแห่งทะเลสาบพันแห่ง”และ “เมืองข้าวเมืองปลา”

มณฑลหูเป่ยมีประชากรทั้งสิ้นกว่า 61 ล้านคน เฉพาะในอู่ฮั่นมี 11 ล้านคน ภายในมณฑลซึ่งมีพื้นที่ 185,900 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำไหลผ่านถึง 1,193 สาย ความยาวรวมกันทั้งสิ้น 59,200 กิโลเมตร โดยมีลำน้ำแยงซีเกียงที่จีนเรียกฉังเจียง(长江)ไหลผ่านเมืองอู่ฮั่นจากทิศตะวันตกถึงตะวันออก และแม่น้ำฮั่นไหลผ่านจากทิศเหนือสู่ใต้ แม่น้ำฮั่นไหลเข้าสู่ลำน้ำใหญ่แยงซีเกียงบริเวณเมืองอู่ฮั่นซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบเจียงฮั่น

เกียรติภูมิของ “เส้นทางใหญ่สู่เก้ามณฑล”
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของมณฑลหูเป่ยนั้นเป็นชัยภูมิในการพัฒนาเนื่องจากเป็นสะพานเชื่อมจากตะวันออกสู่ตะวันตก-เชื่อมใต้สู่เหนือ และได้ชื่อเป็น “เส้นทางใหญ่สู่เก้ามณฑล” อู่ฮั่นเป็นจุดศูนย์กลางเครือข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่สุดของโลก ภายในรัศมี 1,200 กิโลเมตรจากเมืองอู่ฮั่นนั้นครอบคลุมกลุ่มเมืองขนาดใหญ่และเมืองขนาดกลางถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเมืองไซด์ดังกล่าวในจีน รวมจำนวนประชากรที่อาศัยภายในรัศมีฯนี้ ราว 400 ล้านคน อู่ฮั่นยังถูกบูรณาการเข้ากับเขตเศรษฐกิจใหญ่สองแห่ง ได้แก่ สามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซีที่มีศูนย์กลางอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง และสามเหลี่ยมแม่น้ำไข่มุกที่มีศูนย์กลางที่กว่างตง ฮ่องกง และมาเก๊า ก่อรูปขึ้นเป็น “วงกลมเศรษฐกิจสามชั่วโมง” (ดูภาพกราฟฟิกประกอบ)

กราฟฟิกในห้องแสดงนิทรรศการการพัฒนาเมืองในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย: แสดงการบูรณาการอู่ฮั่นเข้ากับสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซี และสามเหลี่ยมแม่น้ำไข่มุก ก่อรูปขึ้นเป็น “วงกลมเศรษฐกิจสามชั่วโมง” ภายในรัศมี 1,200 กิโลเมตรจากเมืองอู่ฮั่นนี้ครอบคลุมกลุ่มเมืองขนาดใหญ่และเมืองขนาดกลางถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเมืองไซด์ดังกล่าวในจีน (แฟ้มภาพ MGR ONLINE)
สนามบินเทียนเหอของอู่ฮั่นมีเที่ยวบินตรงจากเมืองสำคัญๆอย่าง ปารีส มอสโค โรม ดูไบ ซาน ฟรานซิสโก โตเกียว เป็นต้น

ภายใต้แผน “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จีนได้ยึดอู่ฮั่นเป็นชัยภูมิผุดเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าสองสายที่จินตนาการเสมือน “มังกรคู่เหินข้ามพรมแดน” ทะลุทะลวงพรมแดนเมืองต่างๆถึงสามภาคพื้นทวีป ได้แก่ เส้นทางสายใต้ “ฮั่นซินโอว” (汉新欧) และเส้นทางสายเหนือ “ฮั่นหมั่นโอว” (汉满欧)เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจากอู่ฮั่นไปยุโรประยะทางราว 12,000 กิโลเมตรนี้ ใช้เวลาเดินทางถึงเป้าหมายปลายทางเมืองต่างๆระหว่าง 14-17 วัน ซึ่งประหยัดเวลากว่าการขนส่งสินค้าทางเรือถึง 30 วัน

สำหรับการขนส่งสินค้าทางเรือจากท่าเรือในอู่ฮั่นล่องไปตามลำน้ำแยงซีเกียงและออกสู่ทะเลไปยังเป้าหมายปลายทางในยุโรปได้ โดยขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือหยางซันที่นครเซี่ยงไฮ้ จากนั้นถ่ายตู้สินค้าให้แก่บริษัทขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ใช้เวลาเดินทางถึงยุโรปทั้งสิ้น ราว 45 วัน

การขนส่งสินค้าทางเรือจากท่าเรือในอู่ฮั่นล่องไปตามลำน้ำแยงซีเกียงและออกสู่ทะเลไปยังเป้าหมายปลายทางในยุโรปได้ โดยขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือหยางซันที่นครเซี่ยงไฮ้  (ภาพ MGR ONLINE)
มณฑลหูเป่ยยังมีชื่อและทรงอิทธิพลในด้านแหล่งการศึกษาและวิทยาศาสตร์ โดยเป็นศูนย์การศึกษาใหญ่อันดับที่สามของประเทศจีน เป็นฐานสำคัญทั้งการวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยบริสุทธิ์ (fundamental research) และการวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีการพัฒนาที่ล้ำหน้าในด้านออปโตอิเล็กทรอนิกส์ (optoelectronics information) วิศวกรรมชีวเวช (biology engineering) และวัตถุดิบใหม่ต่างๆ

มณฑลหูเป่ยมีมหาวิทยาลัยมากกว่า 120 แห่ง มีจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยถึง 1.4 ล้านคน อีกทั้งสถาบันการวิจัยและพัฒนา (R&D) 1,700 แห่ง และนักวิจัยจำนวนมากเป็นอันดับสามของประเทศจีน หูเป่ยตั้งเป้าว่าพลังด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นพลังหนุนหลังที่แข็งแกร่งในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่เขตตอนกลางจีน

ความสำคัญในด้านอุตสาหกรรม หูเป่ยได้ชื่อว่า เป็น “เมืองข้าวเมืองปลา” เป็นแหล่งผลิตพืชผลอาหาร ฝ้ายและผลผลิตจากน้ำจืด และเป็นฐานการผลิตระดับชาติภาคยานพาหนะและเหล็ก เป็นต้น และแน่นอนก้าวต่อไปคือการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

กลุ่มก่อการ “การลุกฮือ ณ เมืองอู่ชาง” และธงสัญลักษณ์การลุกฮือฯ บริเวณหน้าตึกบัญชาการรัฐบาลทหารแห่งหูเป่ยในนครอู่ฮั่น  (แฟ้มภาพ วิกิพีเดีย)
อู่ฮั่นก่อร่างสร้างเมืองมานับร้อยปี
สำหรับการพัฒนาเขตเมืองอู่ฮั่น จากภาษิต “กรุงโรมมิได้สร้างเสร็จในวันเดียว” อู่ฮั่นก็เช่นกัน มีการพัฒนาเขตเมืองอย่างมีแบบแผนมานับร้อยปี จากยุครอยต่อปลายราชวงศ์ชิงและเริ่มต้นของสาธารณรัฐจีนหลังจากยุคราชวงศ์ฮ่องเต้ล่มสลายในปีค.ศ.1911 (พ.ศ. 2454) จนกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่หรือมหานครอู่ฮั่น “Great Wuhan” ต่อมาในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งขณะนั้นจีนใช้ระบบเศรษฐกิจที่วางแผนจากส่วนกลาง ผู้นำจีนได้ทุ่มเทให้กับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอู่ฮั่น ต่อมาในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ที่จีนใช้ระบบเศรษฐกิจตลาดผสมผสานลัทธิสังคมนิยม อู่ฮั่นได้ซึมซับการพัฒนาตามแนวคิดอุทยานนคร (Garden City) ที่รายล้อมไปด้วยแถบสีเขียว ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาชุมชนเมืองที่ยั่งยืน และในปี 2017 ยูเนสโกได้บรรจุอู่ฮั่นเข้าในทำเนียบ Creative Cities Network ซึ่งเป็นโครงการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มเมืองที่ได้ผ่านการรับรองความสังสรรค์ในการพัฒนาเขตเมือง

จากความโดดเด่นที่สาธยายมาข้างต้น การที่อู่ฮั่นโดนเชื้อโรคระบาดเล่นงานสาหัสอยู่เช่นนี้ ผลกระทบอาจส่งแรงกระเพื่อมต่อเขตต่างๆที่อยู่ในรัศมีเครือข่ายคมนาคมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อู่ฮั่น ความเสียหายครั้งนี้มหาศาลอย่างที่ไม่กล้าคิดประมาณเลย...

“อู่ฮั่น บ้านเกิดการปฏิวัติซินไฮ่” โค่นล้มราชวงศ์ฮ่อ่งเต้จีน

ดังที่ได้กล่าวในย่อหน้าเกริ่นของบทความ มณฑลหูเป่ยเป็นยอดจุดยุทธศาสตร์การศึกสงครามมาแต่โบราณ จึงขอเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญที่สุดที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ที่เกิดในขึ้นในเมืองอู่ฮั่น นั่นคือ “การลุกฮือ ณ เมืองอู่ชาง” (武昌起义/Wuchang Uprising) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการโค่นล้มราชวงศ์ชิงและปิดฉากยุคสมัยราชวงศ์จักรพรรดิจีนที่สืบทอดมากว่าสองพันปี

“อู่ฮั่นยุคปัจจุบัน” เกิดจากการผนึกรวมเขตเมืองสามเมืองเข้าด้วยกัน ได้แก่ อู่ชาง ฮั่นหยางและฮั่นโข่ว โดยอู่ชางเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดและเป็นสถานที่ประกาศ “การลุกฮืออู่ชาง” ของกองกำลังกบฏต่อต้านราชนึกชิงที่มีซุนยัตเซนเป็นผู้นำที่โดดเด่นคนหนึ่ง การลุกฮือฯเปิดฉากในวันที่ 10 ตุลาคมและจบลงในวันที่ 1 ธันวาคม 1911 แม้เป็นศึกสั้นๆหากทรงความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่จีนโดยเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติซินไฮ่ ที่นำไปสู่การโค่นล้มราชสำนักชิง (ค.ศ.1644-1911) ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของยุคจักรพรรดิฮ่องเต้จีน และสถาปนาสาธารรณรัฐจีนโดยมีซุนยัตเซนเป็นประธานาธิบดีคนแรก เหตุการณ์ “การลุกฮืออู่ชาง”นี้เอง ทำให้อู่ฮั่นได้ชื่อได้เกียรติภูมิว่าเป็น “สถานที่เกิดของการปฏิวัติซินไฮ่” สำหรับชื่อการปฏิวัติ “ซินไฮ่” เป็นชื่อเรียกปี “ค.ศ. 1911” ตามปฏิทินจีน

ในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อปี 1927 อู่ฮั่นเคยเป็นเมืองหลวงศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของกลุ่มฝ่ายซ้ายของพรรคก๊กมินตั่งนำโดยหวังจิงเว่ยซึ่งไม่ลงรอยกับเจียงไคเช็ค และต่อมายังเป็นเมืองหลวงเป็นเวลา 10 เดือนระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุนครั้งที่สองที่อุบัติในระหว่างปี 1937-1945

สำหรับยุทธการรบที่สำคัญในยุคโบราณกว่าพันปีสมัยสามก๊กนั้นอุบัติขึ้นในเมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย ผู้เขียนขอกล่าวในตอนต่อไปที่จะนำเสนอในสัปดาห์หน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น