xs
xsm
sm
md
lg

‘มอนเดลีซ’ ชูนโยบายมุ่งสู่ความยั่งยืนทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีกหนึ่งนโยบายสำคัญของบริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายขนมและของว่างแบรนด์ชั้นนำระดับโลก อาทิ ลูกอมฮอลล์ หมากฝรั่งเดนทีน คุกกี้โอรีโอ แคร็กเกอร์ริทส์ คือการดำเนินธุรกิจขององค์กรด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

ยิ่งในช่วงที่ชุมชนต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ มอนเดลีซจึงมุ่งเน้นการดำเนินงานตามเป้าหมายด้านนโยบายเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนแก่ผู้บริโภคและชุมชนต่างๆ

มร. เดิร์ก แวน เดอ พุท ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า “ในขณะที่เราต่างกำลังจัดการกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ทำให้การทำสิ่งที่ถูกต้องและขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในวงกว้างมีความสำคัญยิ่งกว่าแต่ก่อน สำหรับมอนเดลีซ วิธีดำเนินงานตามเป้าหมายในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนคือ ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจในการเป็นผู้นำด้านการบริโภคของว่างอย่างเหมาะสม ตามแนวคิด ‘Right Snack, for the Right Moment, Made the Right Way’ เราภูมิใจกับความคืบหน้าของการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญที่เราสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2562 และเชื่อมั่นว่าเป้าหมาย ‘Snacking Made Right’ ภายในปี พ.ศ.2568 เป็นเป้าหมายที่สำคัญและถูกต้อง”

ข้อมูลจากรายงานนโยบายด้านความรับผิดชอบสังคมประจำปี พ.ศ.2562 (Snacking Made Right 2019 Report) ระบุว่ามอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีการควบคุมปริมาณบริโภคต่อหน่วยเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด และปรับการแสดงข้อมูลโภชนาการไว้ที่ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐานระดับโลก นอกจากนี้ ยังได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานเพื่อสร้างซัพพลายเชนด้านวัตถุดิบที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ดังนี้

1)ซัพพลายเชนด้านวัตถุดิบที่ยั่งยืน
•63 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณโกโก้ซึ่งเป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตมาจากโครงการโกโก้ ไลฟ์ (Cocoa Life) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ
•65 เปอร์เซ็นต์ของข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์บิสกิตในยุโรปได้จัดซื้อมาด้วยวิธีการที่ยั่งยืนผ่านโครงการฮาร์โมนี่ วีท (Harmony Wheat) ของบริษัทฯ
•สามารถรักษามาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil Goal หรือ RSPO) ไว้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

2)ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
•สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากขั้นตอนการผลิตถึง 15 เปอร์เซ็นต์
•สามารถลดการใช้น้ำในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำถึง 27 เปอร์เซ็นต์
•สามารถลดปริมาณขยะจากขั้นตอนการผลิตได้ถึง 21 เปอร์เซ็นต์

3)นวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์
•93 เปอร์เซ็นต์ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด (ทั้งที่ทำและไม่ได้ทำจากพลาสติก) ถูกออกแบบให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้

มร. เดิร์ก แวน เดอ พุท
มอนเดลีซ ประเทศไทย ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างไร

ในประเทศไทย มอนเดลีซได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมด้านความยั่งยืนเช่นกัน โดยโรงงานผลิตลูกอมและหมากฝรั่งในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ประสบผลสำเร็จสู่การเป็นโรงงานสีเขียวด้วยการลดใช้พลังงานผ่านโครงการต่างๆ ส่งผลให้โรงงานแห่งนี้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวจากกระทรวงอุตสาหกรรมในปี พ.ศ. 2558 และได้รับการรับรองว่าเป็นโรงงานที่สามารถกำจัดขยะให้เหลือศูนย์โดยใช้ประโยชน์จากของเสียได้ทั้งหมด (Zero Waste to Landfill Certificate) นอกจากนี้ โรงงานลาดกระบังยังสามารถลดการใช้ทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก อาทิ

•ลดการใช้พลังงานลง 36 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2562 ช่วยลดมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15,321 ตันต่อปี ซึ่งมีค่าเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 1.92 ล้านต้น
•การเปลี่ยนแหล่งพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า และใช้พลังงานไอน้ำ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 40 เปอร์เซ็นต์
•สามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 37 เปอร์เซ็นต์
•สามารถลดปริมาณขยะได้ถึง 62 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการลดวัสดุที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ไปแล้วกว่า 221 ตันต่อปี

นอกจากนี้ โรงงานอีกแห่งของมอนเดลีซที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งการผลิตเครื่องดื่มชนิดผง ได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2 พันตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันลดการปล่อยมลพิษไปแล้วถึง 3,000 ตัน คิดเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 2.8 แสนต้น อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2562 โรงงานขอนแก่นยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวจากกระทรวงอุตสาหกรรมจากการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

•จัดการของเสียจากกระบวนการผลิตเพื่อนำไปใช้ใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่
–ของเสียประเภทบรรจุภัณฑ์ถูกนำไปเผาเพื่อหมุนเวียนเป็นพลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์
–ของเสียประเภทวัตถุดิบถูกนำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ 100 เปอร์เซ็นต์
–ของเสียประเภทหีบห่อบรรจุภัณฑ์จากวัตถุดิบในการผลิต สามารถนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์
–สามารถลดปริมาณขยะได้ถึง 57 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการลดวัสดุที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ไปแล้วกว่า 400,000 กิโลกรัม
•สามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 38 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงบริหารจัดการน้ำเสียให้หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในบริเวณโรงงาน

พสิษฐ์ อัครนันท์กรณิศ
มอนเดลีซ ประเทศไทย ยังได้ร่วมส่งเสริมการบริโภคขนมและของว่างอย่างเหมาะสม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ

•ออกผลิตภัณฑ์แบบไม่มีน้ำตาล เช่น ลูกอมฮอลล์ เอ็กซ์เอส (Halls XS) เม็ดอมคลอเร็ท มินต์ แท็บ (Clorets Mint Tab)
•เพิ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น แคลเซียม วิตามินดี และวิตามินอี ในแคร็กเกอร์ริทส์ (Ritz)
•ปรับเปลี่ยนส่วนผสม โดยยกเลิกการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ซึ่งก่อให้เกิดไขมันทรานส์ ออกจากผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศไทย ทั้งหมดของบริษัท

นอกจากการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์แล้ว บริษัทฯ ยังจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โครงการโรงเรียนสุขหรรษา (Joy Schools) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมโภชนาการที่ดีผ่าน 3 แนวคิดหลัก ได้แก่ การเรียนรู้หลักโภชนาการที่ถูกต้อง การรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย และการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ได้ดำเนินโครงการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ในการสนับสนุนโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 14 แห่ง รวม 26 ทุน และได้มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เยาวชนกว่า 3,525 คน ด้วยงบประมาณทั้งหมดกว่า 10 ล้านบาท

และเมื่อเร็วๆ นี้ มอนเดลีซ ประเทศไทย ยังได้ดำเนินงานเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการบริจาคเงินสมทบทุน พร้อมมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัท และชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment หรือ PPE) รวมมูลค่ากว่า 4.3 ล้านบาท โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และมูลนิธิไอแคร์ ประเทศไทย สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาล 14 แห่ง สถานสงเคราะห์ 14 แห่ง โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 2 แห่ง รวมถึงชุมชนที่มีผู้ยากไร้และผู้ว่างงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 อีก 2 แห่ง

มอนเดลีซ ประเทศไทย ยังมุ่งเน้นให้พนักงานภายในองค์กรคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของตนเองเป็นอันดับแรก โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอนการผลิตด้วยมาตรฐานระดับโลก และปฏิบัติตามข้อกำหนดและคำแนะนำด้านสาธารณสุขของหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังทำงานร่วมกับคู่ค้าอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้แน่ใจว่าขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่ายยังสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พสิษฐ์ อัครนันท์กรณิศ ผู้อำนวยการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในประเทศไทย เราได้สานต่อนโยบายเพื่อสังคมระดับโลกผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนสู่โรงงานสีเขียวและการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการผลิต การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น และการดำเนินโครงการโรงเรียนสุขหรรษา (Joy Schools) ที่มุ่งเสริมสร้างและให้ความรู้ด้านโภชนาการที่ดีแก่เยาวชน เมื่อเร็วๆ นี้ เรายังได้ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในวงกว้าง และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานภายในองค์กร ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานเหล่านี้จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนแก่พนักงาน ผู้บริโภค และชุมชนต่างๆ ได้อย่างแท้จริง”

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล จึงกำหนดเป้าหมายระดับโลกสำหรับโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนที่จะต้องบรรลุภายในกรอบเวลาที่กำหนด อาทิ

•ขยายการดำเนินงานของระบบการตรวจสอบการใช้แรงงานเด็กและการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ของชุมชนที่อยู่ภายใต้โครงการโกโก้ ไลฟ์ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ภายในปี พ.ศ. 2568
•ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ.2568 โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า
•100 เปอร์เซ็นต์ของบรรจุภัณฑ์จะต้องถูกออกแบบให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และระบุข้อมูลเกี่ยวกับการรีไซเคิลบนบรรจุภัณฑ์ ภายในปี พ.ศ. 2568
•สนับสนุนความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและองค์กรพันธมิตรต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมกันจัดการปัญหาขยะพลาสติก
•เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีการควบคุมปริมาณบริโภคต่อหน่วยเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ภายในปี พ.ศ.2568