xs
xsm
sm
md
lg

ย้ายแล้ว!! สายสื่อสาร-สายไฟลงใต้ดิน "จุฬาฯ" นำร่อง“สยามสแควร์”โฉมใหม่“ไร้สาย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ - สยามสแควร์ ก่อนและหลังย้ายสายไฟ
“สยามสแควร์” เป็นแลนมาร์คสำคัญด้านการท่องเที่ยวที่อยู่ใจกลางเมือง เป็นศูนย์กลางการ Shopping แหล่งรวมร้านค้าแฟชั่น ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการกว่า 280,000 คนต่อวัน ในอนาคตจะมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็น Walking Street เพื่อรองรับการเดิน Shopping อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

ความสวยงามของทัศนียภาพกับความปลอดภัยของคนในชุมชนและผู้ใช้บริการในพื้นที่โดยรอบรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งของ Smart Living ในโครงการ CHULA SMART CITY ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และพันธมิตรด้านโทรคมนาคม โดยบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยเริ่มนำร่องดำเนินการให้ “สยามสแควร์” เป็นพื้นที่ไร้สายไฟฟ้าและสายสื่อสารอย่างแท้จริงภายในปี 2563 นี้ จากนั้นจะเดินหน้าสานต่อขยายพื้นที่ไร้สายต่อเนื่องไปยังพื้นที่ “สวนหลวง-สามย่าน” ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้โครงการ CHULA SMART CITY

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาฯ กล่าวถึงนโยบายที่เปิดให้พันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (Chula Smart City) เพื่อร่วมกันศึกษา พัฒนารูปแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ในการดูแลของจุฬาฯ และพัฒนาชุมชนเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้ง การปรับปรุงทัศนียภาพ ความสวยงาม และความเรียบร้อยของสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร

ภาพ - สยามสแควร์ ก่อนและหลังย้ายสายไฟ
ที่ผ่านมา พื้นที่ “สยามสแควร์” เต็มไปด้วยสายสื่อสารและอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ สายทองแดง และสาย Fiber Optic ตลอดจนเครื่องส่งสัญญาณ Wi-Fi โดยสายสื่อสารทั้งหมดถูกพาดบนเสาไฟฟ้า กันสาด และผนังอาคาร อย่างไม่เป็นระเบียบมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้ง ยังมีสายสื่อสารบางส่วนที่ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ปลดออก ส่งผลต่อทัศนียภาพที่ไม่สวยงามสะอาดตา รวมถึงเมื่อสายสื่อสารอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เกิดความร้อนภายในสายไฟ ก่อให้เกิดอันตราย

ดังนั้น เพื่อทัศนียภาพที่สวยงาม และความปลอดภัย ทางสำนักงานฯ จึงดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารดังกล่าว ด้วยการนำลงใต้ดิน โดยได้มีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมด้วยการติดตั้งโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสง Fiber Optic Cable (FOC) ฝังในระดับใต้ดิน เพื่อใช้ทดแทนสายสื่อสารเดิมทั้งหมด โดยบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ภาพ - ชัญญา ตั้งจิตวินัย นิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  กับผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศ
ภาพ - สยามสแควร์ ก่อนและหลังย้ายสายไฟ

การนำร่องดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่สยามสแควร์ บนเนื้อที่ขนาด 63 ไร่ ประกอบด้วย อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ตึกสูง และร้านค้าจำนวนมาก ขณะนี้ ดำเนินการไปกว่า 90% แล้ว จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2563 นี้นอกจากนี้ กิจกรรมการประกวดการออกแบบลวดลายบนฝาท่อ Fiber Optic Cable ของสยามสแควร์ เกิดขึ้นเพื่อให้นิสิตจุฬาฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเอกลักษณ์ให้สยามสแควร์ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวชัญญา ตั้งจิตวินัย นิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยฝาท่อดังกล่าวนำมาผลิตและใช้จริงรวม 11 จุด บนพื้นที่ทั่วสยามสแควร์อีกด้วย

ในการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้า โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อรองรับโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (Chula Smart City) ครอบคลุมทั้งพื้นที่การศึกษาและพื้นที่พาณิชย์ รวม 1,153 ไร่ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยถนนพระราม 4 – ถนนพระราม 1 – ถนนบรรทัดทอง – ถนนอังรีดูนังต์ มีการพัฒนาโครงการต่างๆ ประกอบด้วย

ภาพ -“สยามสแควร์”โฉมใหม่“ไร้สาย”
“การปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดิน” เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย ให้มีทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมสวยงามภายในปี 2562 และครอบคลุมทั้งพื้นที่จุฬาฯ ภายในปี 2564

“การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์” ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งในพื้นที่จุฬาฯ มีศักยภาพในการติดตั้ง Solar rooftop ประมาณ 20 เมกะวัตต์

“การติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน” (Energy storage System) ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่สถานีไฟฟ้าย่อยปทุมวัน ภายในปี 2563

“การพัฒนาระบบมิเตอร์อัจฉริยะ” (AMI) ภายในปี 2564 สามารถเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ซึ่งหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงและบริหารจัดการพลังงาน ในพื้นที่ Smart City

“การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ” (Smart Grid) ภายในปี 2564 ควบคุมและแก้ไขระบบไฟฟ้าขัดข้องอย่างอัตโนมัติ อาทิ คุณภาพไฟฟ้า เช่น แรงดันไฟฟ้า ให้อยู่ในมาตรฐานการให้บริการ และผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าได้ในปัจจุบัน

ภาพ -“สยามสแควร์”โฉมใหม่“ไร้สาย”
ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่ภายใต้โครงการ CHULA SMART CITY มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่จุฬาฯ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาให้เป็นย่านนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น