"เมื่อก่อนพื้นที่แถวนี้ เรียกว่า ดอนหอยแครง แต่ในช่วงหลายสิบปีมานี้ หอยแครงหาได้น้อยมาก เรือดุน เรืออวน ต้องออกจากฝั่งไปไกลๆ เพื่อจับกุ้ง หอย ปู ปลา ถึงจะจับได้ แต่หลังปี 2561 เมื่อป่าชายเลนได้รับการฟื้นฟู มีต้นไม้เพิ่มขึ้น ป่ากลับมาสมบูรณ์ เห็นได้ชัดเจนว่าสัตว์หลายชนิดที่เคยหายไปก็กลับมา เช่น หอยแครง ปลากระบอก แมงดาจาน ทำให้สามารถจับสัตว์น้ำได้ใกล้ๆแนวป่าใหม่ โดยไม่ต้องออกไปไกลเหมือนที่ผ่านมา"
คำบอกเล่าจาก "น้าเหลิม" หรือ เฉลิมศักดิ์ ชินชำนาญ ชาวตำบลบางหญ้าแพรก ที่ยึดอาชีพประมงชายฝั่ง เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพป่าชายเลนในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หลังจากที่มีโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าฯ เข้ามาดูแลและส่งเสริมให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการรักษาป่าให้คงอยู่ ผลที่เกิดขึ้น คือ จำนวนต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น สัตว์น้ำต่างๆ กลับเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นด้วย
ก่อนปี 2557 ผืนป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก เป็นบริเวณที่ต้นไม้เติบโตได้ยาก อัตราการรอดของต้นไม้มีน้อย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่อ่าวตัว ก. ที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งสูง มีปัญหาขยะที่ลอยมาติดชายฝั่ง เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของต้นไม้ แต่หลังจาก “โครงการปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กำหนดเป็นหนึ่งพื้นที่เป้าหมายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสมดุลธรรมชาติป่าชายเลนในระยะ 5 ปี (2557-2561) ทำให้วันนี้ ผืนป่าบริเวณนี้มีต้นแสมขึ้นเขียวครึ้มเต็มพื้นที่
ด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้ความร่วมมือดำเนินโครงการในลักษณะ 3 ประสาน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ที่มีเป้าหมายร่วมกันเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ประกอบกับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ ปักไม้ไผ่ ล้อมอวนเพื่อป้องกันขยะ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การปลูก การดูแล รวมถึงกระบวนการจัดการป่าชายเลนอย่างมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกมีอัตรารอดเพิ่มขึ้นและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลับมาเป็นผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางบกและทางทะเล นำมาสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน
"พลายงาม ชาวไร่ " หรือน้าแขก อาชีพรับจ้างงมหอย พื้นเพเป็นคน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เล่าว่า สมัยก่อนไม่มีป่าชายเลน ต้นไม้ยังมีน้อย เมื่อมีคลื่นลมแรงซัดทำให้ดินบริเวณชายฝั่งถูกเซาะพังเข้ามาเรื่อยๆ สัตว์น้ำไม่มีเกราะกำบัง แต่ตอนนี้ป่าชายเลนงอกงามขึ้น ช่วยป้องกันคลื่นและลมที่ซัดเข้าฝั่ง และป้องกันการเซาะพังของชายฝั่ง ทำให้สัตว์น้ำเข้ามาในพื้นที่และอาศัยตามรากต้นแสม เช่น ปลากระบอก กุ้งฝอย แมงดาจาน ปลาตีน หอยชนิดต่างๆ ทั้งหอยแครง หอยเสียบ หอยพิม หอยกระปุก ชาวบ้านที่มีอาชีพทำประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น
"โทน อินกลับ " วัย 57 ปี อาชีพประมงชายฝั่ง ชุมชนบางหญ้าแพรก บอกว่า ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่อายุ 20 ปี ส่วนใหญ่หาปูแสม ซึ่งเมื่อก่อนหาได้วันละ 3-4 กิโลกรัม แต่ในช่วง 2-3 ปีนี้หลังจากที่มีโครงการอนุรักษ์ป่า มีปูแสมเพิ่มขึ้นเยอะมาก บางวันหาปูได้ถึง 10 กิโลกรัม หรือหอยพิมที่หายไปจากพื้นที่หลายปีกลับมา สัตว์น้ำต่างๆเข้ามาเยอะขึ้น เพราะป่ามากขึ้น ปูแสมที่อาศัยตามต้นแสมและกินใบแสมเป็นอาหาร ป่ามากขึ้น ก็ทำให้ชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงชายฝั่งมีรายได้ดีขึ้น
“กุสุมา แซ่เล้า” อาชีพทำประมง เมื่อก่อนป่าชายเลนบริเวณนี้ ต้นไม้ตายเกือบหมด เพราะน้ำไม่ดี ดินก็ไม่ดีด้วย หลังจากที่มีโครงการปลุูกป่า ฯ ทำให้ดินและน้ำกลับมาดีขึ้น อยากให้ปลูกป่าอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ชาวบ้านที่มีอาชีพประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น ดีใจที่ในพื้นที่มีป่าชายเลนกลับมาเหมือนเดิม พวกผมและชุมชนจะช่วยกันดูแลและรักษาป่าให้คงอยู่ตลอดไป
สภาพธรรมชาติของป่าชายเลนที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ ไม่เพียงทำให้อาชีพประมงชายฝั่งมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ธรรมชาติที่สวยงามของผืนป่าชายเลนแห่งนี้ ได้รับการพัฒนาสู่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้านและวิถีชีวิตของคนในชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชนจากการท่องเที่ยว นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
นอกจากนี้ รายได้ส่วนหนึ่งจากเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ถูกแบ่งปันเข้ากองทุนอนุรักษ์ป่าชายเลน เพื่อให้ชุมชนมีกองทุนหมุนเวียนสำหรับใช้ในการดูแลรักษาป่าชายเลน และชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบัน ต.บางหญ้าแพรก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์ธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาคร
ป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เป็น 1 ใน 5 ของผืนป่าชายเลนที่ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู ในโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" ระยะที่ 1 (ปี 2557-2561 ) ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จับมือชุมชน และภาคเอกชน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมฟื้นฟูและรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลนที่มีส่วนต่อการรักษาและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นพื้นฐานต่อการสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงให้กับทุกชีวิตอย่างยั่งยืน