xs
xsm
sm
md
lg

คลายล็อกโควิด แต่อย่าคลายล็อก ESG

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรคโควิด-19 เป็นประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญทางการเงิน (Financially Material Topic) ของธุรกิจ ซึ่งสร้างผลกระทบในช่วงหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงให้ธุรกิจก้าวต่อ

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังไม่จบ ปัจจุบันกระจายตัวไปหลายประเทศทุกภูมิภาคของโลก ถึงแม้ว่าไทย เป็น 1 ใน 4 ประเทศในโลกที่มีอัตราการแพร่ระบาดและเสียชีวิตค่อนข้างน้อย แต่บนโลกธุรกิจดิจิทัลที่ไร้พรมแดน ประเด็นด้าน ESG ของธุรกิจ คงเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นที่องค์กรต้องหามาตรการรับมือ เนื่องจากส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ไม่ว่าด้านความปลอดภัยของพนักงาน พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์ ความไม่ต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน และการหยุดชะงักของธุรกิจที่ส่งผลต่อรายได้ของกิจการ

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ESG เป็นหลักการขับเคลื่อนที่สำคัญของโลกธุรกิจในยุคนี้ ซึ่งจะเห็นว่า ด้าน ‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นการดูว่ากระบวนการทำงานของบริษัทส่งผลกระทบต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากน้อยเพียงใด ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ด้าน ‘สังคม’ เป็นการดูแลสวัสดิภาพของพนักงาน ความปลอดภัยในการทำงานไปจนถึงการให้ความเท่าเทียมกันระหว่างพนักงานที่มาจากต่างสังคมกัน เป็นต้น และ ‘ธรรมาภิบาล’ ให้ความสำคัญที่ผู้บริหารบริษัท เช่น ด้านความซื่อสัตย์ นักลงทุนสามารถไว้ใจได้มากน้อยเพียงใด หากบริษัทใดมีการจัดการเรื่องดังกล่าวได้ดี ย่อมถือว่าเป็นบริษัทที่ดี มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถทำธุรกิจและสร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืน

ESG เป็นหลักการให้องค์กรธุรกิจดำเนินแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยสหประชาชาติให้นานาประเทศ นำไปใช้เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการ ภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทจดทะเบียน ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ในสัดส่วนที่สูง ส่วนบริษัทขนาดย่อมลงมาที่ได้รับผลกระทบจากยอดรายได้ก็อาจจะปรับลดงบประมาณในแต่ละด้าน แต่ ESG นั้นต้องเป็นหลักการที่คงอยู่ของทุกองค์กร

“สถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ยังสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์ เช่นเดียวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการเหยียดผิวที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ส่วนผลกระทบของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อธุรกิจในช่วงหนึ่ง ดังนั้นธุรกิจควรวางแผนกลยุทธ์ในการรับมือให้ได้ดีที่สุด”


กลยุทธ์ภาคธุรกิจเพื่อต่อกรกับโควิด

ดร.พิพัฒน์ แนะนำว่า กลยุทธ์ภาคธุรกิจเพื่อต่อกรกับโควิด ควรออกแบบให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในแต่ละระยะ ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์โดยทันทีหรือในช่วงสั้น (Response) กลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย (Recovery) และกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience)

กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์ (Response) จะเกิดขึ้นโดยทันทีหลังการเกิดการแพร่ระบาดและทอดระยะเวลาไปได้หลายสัปดาห์ จุดมุ่งเน้นอยู่ที่การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในหน่วยงาน การเพิ่มความตระหนักถึงความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ การตรวจคัดกรองพนักงานและผู้มาติดต่อ การสำรวจผู้ร่วมงานที่อยู่ในข่ายสัมผัสโรคเพื่อกักกันและสังเกตอาการ การพิจารณาปิดบริเวณหรือสถานประกอบการชั่วคราว เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสถานประกอบการในการโทรแจ้งและติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่พบพนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องยืนยันติดเชื้อโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการ ตลอดจนมาตรการในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home)

กลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย (Recovery) จะมุ่งเน้นที่การฟื้นสภาพการดำเนินงานทางธุรกิจให้กลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ รวมทั้งการฟื้นตัวของยอดขาย การเข้าถึงตลาด การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่องทางการจัดจำหน่าย โลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้า โดยสิ่งท้าทายสำคัญของกลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คือ การดำเนินต่อไปได้ของสายอุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งมอบหลักที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนสายการผลิตหลักของกิจการ การปรับปรุงข้อตกลงทางธุรกิจที่เกื้อหนุนผู้ส่งมอบและคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจที่ถูกกระทบ และการเชื่อมโยงไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระยะยาวและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในห่วงโซ่ธุรกิจ

กลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) จะมุ่งไปยังการปรับตัวทางธุรกิจให้กลับคืนสภาพ ด้วยมาตรการที่คำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน โดยหลีกเลี่ยงการสร้างกลไกที่ต้องอาศัยการพึ่งพาจากภายนอกเป็นหลัก เนื่องเพราะประเด็นความยั่งยืนถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การปรับตัวคืนสู่สภาพปกติเกิดผลสัมฤทธิ์ การให้ความมั่นใจแก่บุคลากรในส่วนของอาชีพและรายได้ การดำเนินการประเมินอุปสงค์ใหม่หลังสถานการณ์แพร่ระบาดสิ้นสุด เนื่องจากสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของกิจการที่มีโอกาสปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินกลยุทธ์ในช่วง Response และช่วง Recovery จะมีส่วนสำคัญต่อการรับมือกับสถานการณ์ เพื่อมิให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่เกิดความชะงักงัน โดยอาศัยแก่นธุรกิจและทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ เป็นหัวใจหลักของการทำงาน เป็นตัวกำหนดทิศทาง และการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ส่วนการดำเนินกลยุทธ์ในช่วง Resilience จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการพัฒนาใหม่ๆ ทางธุรกิจ ที่จะต้องดำเนินตามในเวลาต่อมา และนำกลับเข้าสู่วิถีทางที่ประกอบด้วยเสถียรภาพ การเติบโต และการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยทั่วไป กรอบเวลาของระยะการรับมือ (Response) จะเป็นหลักสัปดาห์ ส่วนระยะการฟื้นฟู (Recovery) จะอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งปี และเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงของการปรับตัว (Resilience) โดยใช้เวลาสามปีขึ้นไป สืบเนื่องจนเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาในระยะยาว