xs
xsm
sm
md
lg

อว.สร้างคน-สร้างงาน ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อว.เดินหน้า 3 โครงการ เพื่อสร้างคน สร้างงาน และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ เผยลุยติดตามผลงาน“โครงการยุวชนอาสา” พร้อมขับเคลื่อนต่อเนื่อง“โครงการ อว.สร้างงาน” และตอบโจทย์ล่าสุดด้วย“โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงความคืบหน้าของการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ภารกิจของกระทรวงฯ ว่า งานของกระทรวง อว. ในด้านการสร้างคน สร้างงานนั้น เริ่มขึ้นหลังจากที่ท่านนายกฯได้ kick off “โครงการยุวชนสร้างชาติ” ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมี “โครงการยุวชนอาสา” เป็น 1 ในโครงการหลัก ที่อาศัยพลังจากนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ในหลากสาขาวิชา จำนวนประมาณ 800 คนจาก 7 มหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกับชุมชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยจะมีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามผลงานของนักศึกษา

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการต่อเนื่องของงาน พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทางกระทรวง อว. ได้ริเริ่ม “โครงการ อว.สร้างงาน” ผ่าน 39 มหาวิทยาลัยรัฐ และ 3 หน่วยงานวิจัย ในการจ้างงานประมาณ 10,000 ตำแหน่ง เป็นเวลาประมาณ 4-5 เดือน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท มาทำงานจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยจ้างงาน ที่สำคัญจะได้รับการฝึกพัฒนาทักษะที่จำเป็นในด้านต่างๆ ทั้ง Digital/ Financial/ Social/ English literacy ซึ่งขณะนี้ได้มีผู้เข้าร่วมโครงการเต็มจำนวน

จากที่ “โครงการ อว.สร้างงาน” ระยะที่ 1 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จึงเกิดการขยายผลมาสู่โครงการ อว.สร้างงานระยะที่ 2 โดยเพิ่มหน่วยจ้างงานเป็น 70 หน่วยงาน ครอบคลุมมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งจะจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กว่า 32,000 คน เพื่อเข้ามาทำงานในชุมชนร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยวิจัย และผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งการจ้างงานในระยะที่ 2 นี้จะทำงานเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. 2564


ล่าสุดกระทรวง อว. ได้เตรียมออก “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” หรือ ที่เรียกว่า “โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” เพื่อมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน (Targeted Poverty Alleviation) มีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ในระดับตำบลแบบบูรณาการ โดยในแต่ละตำบลจะมี 1 มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ ร่วมกับการจ้างงานประชาชนไม่น้อยกว่า 20 คนต่อตำบล เพื่อนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมโดยเฉพาะด้าน Area base BCG economy ลงไปพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น smart farmer การพัฒนาพืชสมุนไพร การพัฒนาสินค้าและบริการ การพัฒนาการตลาดและสิ่งอํานวยความสะดวก การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน การส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยในโครงการนี้ในระยะแรกจะครอบคลุม 3,000 ตำบล และจะขยายให้ครบ 7,900 ตำบลทั่วประเทศ โดยจะใช้งบประมาณจาก พรบ.เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจะมีการจ้างงานในเฟสนี้ 200,000 กว่าคน

ที่มา - เฟซบุ๊ก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์