การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อวิถีชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก รวมทั้ง วิถีการทำงาน สถาบันต่างๆ ออกมาวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตว่าจะเป็นเช่นไร ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและบริหารจัดการคนได้ให้คำแนะนำองค์กร และมองถึงวิถีใหม่หรือความปรกติใหม่ (New Normal) ในประเทศไทย เพื่อให้เห็นภาพและสามารถเตรียมความพร้อมเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายหรือยุติลง
แนวโน้มการเปลี่ยนไปของรูปแบบการทำงานยุคหลังโควิด-19 “รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข” นักวิชาการระดับอินเตอร์ และที่ปรึกษาการบริหารคน กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมขององค์กรเพื่อรับมือกับโควิด-19 เป็นความสำคัญอย่างยิ่งของทุกองค์กร โดย Harvard Business Review มองว่า Social Distancing จะยังต้องเกิดขึ้นต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ หลายบริษัทเริ่มเห็นว่า Work From Home การทำงานที่บ้านน่าสนใจ เมื่อ Performance ในการทำงานยังเป็นไปด้วยดี ขณะที่บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนของสำนักงานลงได้ และอินเทอร์เน็ตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนอาจจะเป็นปัจจัยที่ห้าที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล หลังจากที่โควิด-19 ทำให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นความจำเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแน่นอนว่า คนทำงานจะต้องมีความรู้และทักษะในด้านดิจิทัล เพราะองค์กรต่างๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงานมากขึ้น Future Workforce ที่มีการมองว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในปีค.ศ.2025 แต่วันนี้ถูกเร่งกระบวนการให้เกิดขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมเป็นสิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญ เป็นเหมือนการซ้อมรบเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่มีการวาง Roadmap จัดองคาพยพ และจัดทำหลักสูตรออนไลน์ เป็นต้น เพราะเห็นได้จากตัวอย่างในอดีตเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจะทำให้องค์กร เช่น โตโยต้า เป็นบริษัทที่มีการจัดอบรมภายในองค์กรในตอนนั้น จึงมีความพร้อมที่จะก้าวต่อไป ส่วนบริษัทต่างๆ ที่ปลดพนักงานจำนวนมากและไม่มีการเตรียมตัว เมื่อวิกฤตจบลง จึงไม่มีความพร้อมเพียงพอ ดังนั้น จึงแนะนำองค์กรต่างๆ ที่ต้องชะลอตัวในวันนี้ ต้องคิดว่าต่อไปจะก้าวอย่างไร และมองภาพธุรกิจในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
Harvard Business Review ยังมองอีกว่า ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หากโควิด-19 คลี่คลายลง องค์กรต่างๆ จะรีดไขมันส่วนเกิน Lean Organization อย่างมาก ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าจะทำให้เกิด Virtual Organization เพราะองค์กรมองเห็นแล้วว่ากำลังคนบางส่วนไม่มีความจำเป็น และสามารถใช้เทคโนโลยีทำงานแทนได้
ภาพ - “รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข” นักวิชาการระดับอินเตอร์ และที่ปรึกษาการบริหารคน
สำหรับผู้นำสิ่งที่ต้องทำคือ ต้องสร้าง Confident ความมั่นใจ ต้องมีเป้าหมายชัดเจน และสื่อสารให้กับพนักงานได้รับรู้ หลังจากองค์กร Rebrand และ Remarketing ไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเป็น Personalised Service หรือ Customised Service เช่น เทสโก้ ให้บริการปรุงอาหารตามที่ลูกค้าต้องการ เป็นต้น ดังนั้น องค์กรต้องเข้าใจผู้บริโภค และปรับให้เป็น Customer Centric ไม่ใช่ Operation Centric ซึ่งทำในแบบที่คนทำงานต้องการทำ
ที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น แมคเคนซี่ฯ , ดีลอยท์ , ฮาร์วาร์ด และฟอร์บส์ มองไปในทิศทางเดียวกันว่า “Service Mind” ต้องมีเพิ่มขึ้น ต้องเอาใจลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากการบริการพิเศษต่างๆ ที่ธุรกิจมอบให้กับลูกค้าในช่วงโควิด กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับลูกค้า ขณะที่ลูกค้ามีความต้องการมากขึ้น และมีทางเลือกมากขึ้นด้วย องค์กรต่างๆ ต้องทำให้ลูกค้าพอใจ
สำหรับผู้นำ ผู้บริหาร และหัวหน้า จำเป็นต้องมีความสามารถในการสื่อสารอย่างมาก ต้องมีความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการและเครื่องมือสื่อสารระยะไกล เพราะมีการทำงานในสำนักงานน้อยลง นอกจากนี้ ยังต้องทบทวนการใช้เวลาในการประชุม เนื่องจากโดยส่วนใหญ่พบว่ามักจะเสียเวลามากถึง 30% ไปกับการประชุมที่ไม่มีเนื้อหาสาระ แต่การประชุมผ่าน Video Conference จะเปลี่ยนไป จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะไม่ค่อยมีการพูดนอกเรื่อง ในส่วนของการติดตามงาน จะต้องมีการจัดระบบให้มีการรายงานสรุปทุกวันเพื่อไม่ให้ Performance ในการทำงานของพนักงานลดลง ทั้งนี้ หลักการทำงานของ Virtual Organization จะต้องมีการพบตัวกันเป็นระยะเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทีมงาน
โดยสรุป การรับมือกับโควิด-19 ขององค์กรต่างๆ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก รักษา Mood อารมณ์ความรู้สึกไม่ให้ตื่นตกใจกับเหตุการณ์โควิด ช่วงที่สอง เตรียมพร้อมเหมือนเป็นการซ้อมรบ Maneuvering และช่วงที่สาม สร้าง Mobility มีความเคลื่อนไหว เพื่อสร้างให้เกิดความยืดหยุ่น Agility ในการทำงาน ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ