xs
xsm
sm
md
lg

‘ปริญญา’ ระดมรุกขกรจิตอาสา สร้างโมเดล “ธรรมศาสตร์เมืองต้นไม้ใหญ่”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผนึก Big Trees โปรเจกต์ และเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ระดมรุกขกรจิตอาสากว่า 70 คน ร่วมตัดแต่งต้นไม้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมคาดหวังให้เป็นโมเดล ‘เมืองต้นไม้ใหญ่’


ตามนโยบายการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของธรรมศาสตร์ หลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 เริ่มคลายล็อก จึงได้จัดกิจกรรม วันจิตอาสาตัดแต่งต้นไม้และลดขยะพลาสติก (23 พ.ค.ที่ผ่านมา) พร้อมฉลองในโอกาสที่ม.ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่ได้รับรางวัลด้าน Cultural Change for Sustainability จาก International Sustainable Campus Network ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต


กิจกรรมครั้งนี้ มีที่มาจาก ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ได้เห็นการตัดต้นไม้แบบผิดๆ ของหลายๆ เขตของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการตัดกุดหัวและการตัดกลางต้น รวมถึง ธรรมศาสตร์เองก็มีรุกขกรอาสาที่ผ่านการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัย ไปแล้วถึง 10 รุ่น จึงได้ชักชวน Big Trees โปรเจกต์ และเครือข่ายต้นไม้ในเมืองมาก่อนหน้านี้แล้วว่าเมื่อมีการคลี่คลายการล็อกดาวน์แล้ว ควรมีการระดมรุกขกรจิตอาสา มาช่วยกันลงมือตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ให้เป็นตัวอย่าง โดยใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ เพราะมีการดำเนินการมาพอสมควรแล้ว



ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า เป็นการกลับมารวมตัวของรุกขกรที่ผ่านการฝึกอบรม เพื่อลงมือทำ ทำให้เห็นว่าต้นไม้ใหญ่สามารถอยู่ได้ในเมือง คนจำนวนมากไม่ทราบว่ามนุษย์นั้นขาดต้นไม้ไม่ได้ เพราะต้นไม้เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออกมาให้กลับเป็นออกซิเจนให้เราหายใจเข้าไปใหม่ “ต้นไม้ดูดซับฝุ่น PM2.5 และมลภาวะต่างๆ และเป็นความร่มรื่นให้กับเมือง โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ทั้งกรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นก็จะร้อนน้อยลงเมื่อมีต้นไม้ใหญ่เพิ่มขึ้น ในเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงการปลูกเพิ่มอย่างเดียว แต่คือการดูแลต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ยาวนานด้วย”


เขากล่าวว่า รุกขกรจิตอาสาทุกคนที่กลับมาช่วย เพราะอยากจะมาช่วยตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ธรรมศาสตร์จะได้ประโยชน์เท่านั้น แต่เป็นผลสำเร็จของส่วนรวม “ถ้าธรรมศาสตร์ทำได้ แปลว่ามันไม่ยาก และทุกที่ก็ย่อมจะทำได้เช่นกัน เหมือนกับตอนโควิด-19 แพร่ระบาด และมีความต้องการโรงพยาบาลสนาม พอมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นมา ก็เป็นตัวอย่างให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ หรือตู้ปันสุขก็เช่นกัน เมื่อมีคนกลุ่มแรกทำขึ้นมา คนเห็นว่าดี ก็เกิดตู้ปันสุขขึ้นมาแทบทั้งประเทศแล้ว สิ่งที่เราทำในวันนี้จะเป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่า ต้นไม้สามารถอยู่ได้ในเมือง ต้นไม้สามารถอยู่ได้กับถนน ต้นไม้สามารถอยู่ได้กับผู้คน โดยทุกคนช่วยกันทำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ดูก่อน”


“ตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มนโยบายดูแลต้นไม้ใหญ่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไม่เคยมีครั้งใดที่จะมีรุกขกรมาช่วยกันตัดแต่งดูแลพร้อมกันมากถึง 70 คน



อาจารย์ปริญญา เข้าร่วมในการตัดแต่งต้นไม้ด้วยตัวเอง กล่าวทิ้งท้าย “วันนี้เชื่อว่าจะมีต้นไม้ใหญ่ในจุดสำคัญได้รับการตกแต่งมากถึง 200 ต้น แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นไม้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่นี่คือการกระตุ้นคนที่ชอบตัดต้นไม้ใหญ่แบบผิดๆ ให้หันมาหาวิธีการที่ถูกต้อง และเชื่อว่าในที่สุดประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้สำเร็จในที่สุด”


นอกจากกิจกรรมตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้เห็นเป็นโมเดลแบบอย่างในการสร้างความรู้ความเข้าใจการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี เพราะต้นไม้ช่วยให้คนเมืองมีสุขภาพดี ลดมลพิษทางอากาศ และบรรเทาความเครียดได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด มหาวิทยาลัยฯ ยังคงจัดอาคารเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยโควิด พร้อมกับมีมาตรการลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวด้วย โดยส่งเสริมให้บุคลากรใช้ภาชนะส่วนตัวที่ใช้ซ้ำได้ ผ่านการฆ่าเชื้อด้วย UV และใช้ชุด PPE แบบซักแล้วใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง ใช้ผ้าและการตัดเย็บที่กันน้ำและเชื้อโรคได้ เทียบเท่ามาตรฐาน EN14126 class 2 จากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรมวิทยาศาสตร์บริการ รวมทั้งมีแคมเปญสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาและบุคลากรลดขยะที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นแนวทางที่สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากเดิมที่เป็นการพัฒนาแบบทำลายล้างธรรมชาติ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น