จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างรวดเร็วและมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ปรับการเรียนการสอนทุกรายวิชาให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ ตั้งแต่ 16 มีนาคม เป็นต้นมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และลดความเสี่ยงของนิสิตและประชาคมจุฬาฯ ในการสัมผัสโรคโดยไม่ได้ตั้งใจ
ซึ่งจากการทดสอบระบบการเรียนการสอนออนไลน์แล้วพบว่า แม้ระบบจะมีติดขัดบ้าง แต่ก็สามารถทำการเรียนการสอนออนไลน์ได้อย่างราบรื่น สนุกสนานทั้งผู้เรียนและผู้สอน ถือเป็นก้าวสำคัญในการเรียนรู้เพื่อก้าวสู่ Digital Transformation ด้านการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ
รศ.ดร.กุณฑินี มณีรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ซักซ้อมการใช้ Zoom ทำงานกลุ่มย่อยในวิชา “ท่องโลก” ซึ่งเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไป นิสิตที่เรียนเป็นนิสิตปี 1 จำนวน 400 คน 6 ห้อง จากการสำรวจพบว่าอุปกรณ์พร้อม ที่มีปัญหาคือระบบไวไฟและอินเทอร์เน็ตสำหรับการดำเนินการจริง สรุปว่านิสิตสามารถตั้งกลุ่มทำงานได้เร็วกว่าอาจารย์
“เด็กอินเตอร์ปี 1 ใช้ Zoom ดีมาก แชร์ Powerpoint ก็ง่าย ที่สำคัญการมีส่วนร่วมดีมาก ขาดเรียนน้อย และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี” อ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์บางท่านยังได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนออนไลน์ของนิสิตด้วย เพื่อประโยชน์สำหรับการตัดสินใจของอาจารย์ หรือการวางแผนเชิงนโยบาย
อ.ดร.อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สำรวจกลุ่มตัวอย่างนิสิตจุฬาฯ 198 คน (ร้อยละ 90 เป็นนิสิตปริญญาตรี) พบว่า อุปกรณ์ที่นิสิตใช้ในการเรียนมากที่สุดคือ มือถือกับ tablet นิสิตส่วนใหญ่มีทางเลือกในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 2 ช่องทาง โดยอินเทอร์เน็ตมือถือ และอินเทอร์เน็ตที่บ้าน/หอพัก เป็นนิยมมากที่สุด นิสิตจะต้อง log in เข้าสอง platform สำหรับคลาสออนไลน์ของนิสิต โดย Platform ที่ใช้กันมาก 3 อันดับแรกคือ Blackboard, Zoom และ Google Hangout/Meet/Classroom ปัจจุบันนิสิตสามารถเรียนออนไลน์ได้แล้ว 50% ของวิชาที่นิสิตลงทะเบียน นิสิตย้ำว่าถ้าไม่เรียนออนไลน์ทั้งหมดก็ยังมีต้นทุนและภาระที่จะต้องมามหาวิทยาลัย