xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ออกมาตรการจัดการเรียนการสอน เนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ให้นิสิต-บุคลากร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศเรื่อง แนวทางการจัดการเรียนการสอนกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ อันเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19

วันนี้ (5 มี.ค.) ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง แนวทางการจัดการเรียนการสอนกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ อันเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2563 ระบุว่า ตามที่มหาวิทยาลัยได้มีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของเชื้อโรค COVID-19 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 นั้น เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนและการสอบใน ภาคปลาย ปีการศึกษา 2562 ของมหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรประกาศ แนวทางปฏิบัติกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้


ข้อ 1. การจัดการเรียนการสอนหลังการสอบกลางภาคปลาย ปีการศึกษา 2562 อาจารย์ผู้สอน สามารถพิจารณาปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผลได้ โดยขอให้แจ้งนิสิตให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับรูปแบบการเรียนการสอนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แล้วจัดการเรียนการสอนไปในแนวทางที่มีการตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ ขอให้ยังคงความครบถ้วนของเนื้อหา สมรรถนะ และผลลัพธ์การเรียนรู้ตามคำอธิบายรายวิชาที่ปรากฏ อยู่ใน มคอ.2 สำหรับวิธีการวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้น ขอให้คำนึงถึงการวัดและประเมินผลลัพธ์การ เรียนรู้ตาม Program Learning Outcomes ( LO ) ที่ระบุไว้เป็นสำคัญ ซึ่งอาจารย์ผู้สอนสามารถพิจารณาปรับวิธีการ จัดการเรียนการสอน ตามความเหมาะสมได้ดังนี้

(1) ปรับการจัดการเรียนการสอนให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาที่เร็วกว่ากำหนดการเดิมได้ โดยอาจใช้การเรียนการสอนในรูปแบบปกติ หรือร่วมกับรูปแบบอื่น เช่น การมอบหมาย (Assignment) หรือการสอนแบบออนไลน์ (Online Teaching)
(2) ใช้รูปแบบระบบโมดูล (Modular System)
(3) จัดทำไฟล์ภาพและเสียงแบบดิจิทัลไว้ล่วงหน้าเพื่อให้นิสิตสามารถศึกษาและทบทวนด้วยตนเอง
(4) จัดการสอนระบบออนไลน์ เช่น Echo360, MyCourseille, Microsoft Team, Blackboard Collaborate หรือในรูปแบบผสมผสาน (Blended Learning)
(5) ปรับการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบการมอบหมายงาน (Assignment - based) โดยไม่จำเป็นต้องมีการเข้าชั้นเรียน เช่น โครงงาน (Project - based), กรณีศึกษา (Case Study) เป็นต้น และ/หรือใช้ ระบบออนไลน์บูรณาการร่วม

ข้อ 2. การสอบภาคปลาย ปีการศึกษา 2562 อาจารย์ผู้สอนสามารถพิจารณาการสอบปลายภาค ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการจัดสอบในรูปแบบเดิม หรือรูปแบบอื่นที่สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ หรืออาจพิจารณาใช้การวัดและประเมินผลด้วยวิธีการอื่นๆ แทนการจัดสอบ เช่น การมอบหมายงาน (Assignment), การทำรายงาน (Report) หรือการนำข้อสอบไปทำนอกห้องสอบ (Take - home Exam) เป็นต้น

ข้อ 3. กรณีการสอบ Qualifying Exam ( QE ) หรือ การสอบหัวข้อ / ป้องกันวิทยานิพนธ์ ในระดับ บัณฑิตศึกษา สามารถใช้ระบบออนไลน์หรือบูรณาการร่วมกับระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ได้

ข้อ 4. ในการดำเนินการปรับวิธีการสอนหรือการประเมินผลกรณีนอกเหนือจากวิธีที่ระบุไว้ใน ประกาศนี้ ให้เป็นดุลพินิจของหัวหน้าส่วนงาน

อนึ่ง มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมระบบสนับสนุนและรองรับการจัดการเรียนการสอนทุกระบบ ทุกรูปแบบที่กล่าวข้างต้นไว้แล้ว อาจารย์ผู้สอนสามารถติดต่อประสานขอใช้บริการได้ที่ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานวิทยทรัพยากร หรือติดต่อฝ่ายวิชาการของส่วนงาน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะติดตาม และประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 อย่างใกล้ชิด หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ ดังกล่าวอย่างไร มหาวิทยาลัยจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

อธิการบดี








กำลังโหลดความคิดเห็น