ม.รังสิตโดยทีมวิจัยวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ พัฒนาระบบ AI เพื่อการคัดแยกโรค Pneumonia (ปอดบวม) จากภาพฟิล์มเอ็กซเรย์ได้สำเร็จ มีความถูกต้องในการทำนายรอยโรค Pneumonia 87.5 เปอร์เซ็นต์ และทำนายรอยโรคจากภาพเอ็กซเรย์ที่ปอดจากโรค COVID-19 จำนวน 5 ภาพ ได้ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ เดินหน้าวิจัยต่อไปมุ่งเป้าหมายคัดแยกเฉพาะโรค COVID-19 แต่เพียงอย่างเดียว พร้อมประกาศเชิญชวนโรงพยาบาลหรือหน่วยงานร่วมเป็นทีมวิจัยพัฒนาระบบ AI สำหรับการวินิจฉัยโรค COVID-19 จากภาพเอ็กซเรย์
ทีมวิจัยวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต
รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าทีมวิจัยจากวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต ที่ประกอบด้วยคณาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้ทำการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้น ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence ที่เรียกสั้นๆว่าระบบ AI ได้พัฒนาอัลกอริทึมโดยใช้หลักการเรียนรู้แบบ Deep Learning ที่เรียกว่า Resnet-50 Convolutional Neural Network มาใช้ในการพัฒนาอัลกอริทึมในการเรียนรู้เพื่อคัดแยกโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ (Pneumonia) จากฟิล์มภาพถ่ายของฟิล์มเอ็กซเรย์ จากตัวอย่างภาพเอ็กซเรย์ช่วงอกที่เป็นแบบปกติและมีรอยโรค Pneumonia จำนวน 322 รูป จากฐานข้อมูล NIH Clinical Center
จากนั้นทำการทดสอบประสิทธิภาพโดยการนำภาพเอกซเรย์จำนวน 40 ภาพ ในจำนวนนี้มีรอยโรคในปอดของผู้ป่วย Covid-19 จำนวน 5 ภาพ จากข้อมูลนอก Database ของ NIH Clinical Center ให้ระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นมาทำการวินิจฉัยพบว่า อัลกอริทึมของระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นมาสามารถทำวินิจฉัยโรคและแยกโรค Pneumonia ออกมาได้ถูกต้องถึง 87.5% ในจำนวนนี้สามารถทำนายโรค Covid-19 ได้ถูกต้องครบทั้ง 5 ภาพ คิดเป็น 100%
คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เป้าหมายต่อไปของทีมวิจัยคือ การเพิ่มความถูกต้องและความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค และขยายขอบเขตในการพัฒนาระบบอัลกอริทึม เพื่อให้ระบบ AI ของเราสามารถคัดแยกเฉพาะโรค COVID-19 แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในการนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ Data Set ของภาพรอยโรค COVIC-19 จำนวนมาก
“จากความสำเร็จดังกล่าว จึงขอประชาสัมพันธ์ถึงโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีความสนใจเข้าร่วมเป็นทีมวิจัยในการพัฒนาระบบ AI สำหรับการวินิจฉัยโรค COVID-19 จากภาพเอ็กซเรย์ ทางวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิตมีความยินดีร่วมมือด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้กระบวนการวินิจฉัยโรค COVID-19 สามารถทำได้อย่างอัตโนมัติ รวดเร็ว และปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต” รองศาสตราจารย์นันทชัย กล่าวเสริม
รูปที่แสดง สถาปัตยกรรมของ Convolutional Neural Network
รูปที่แสดง สถาปัตยกรรมของ Convolutional Neural Network
รูปตัวอย่าง ของการวินิจฉัยโรค ด้วยระบบ AI ที่พัฒนาขึ้น
รูปแสดงประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ AI โดยทดสอบด้วย รูปภาพเอกซเรย์โรคต่างๆ จำนวน 40 ภาพ
ระบบAIทำนายโรคปอดอักเสบ
การทำนายโรคปอดอักเสบ