xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานฯ หวั่น ‘เลียงผา’ สุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์! ถูกไล่ล่าจากไฟป่า และใช้ทำน้ำมันรักษาโรค

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไฟป่า ซึ่งมีสาเหตุหลักจากน้ำมือคนลักลอบเผา จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม นอกจากทำให้สัตว์ป่าสงวนอย่าง “เลียงผา” สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ยังมีเหตุจากความเชื่อที่ต้องการล่าเพื่อนำไปขายแก่พ่อค้า หมอยาที่นำไปใช้เป็นยารักษาโรค
เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตือนนักล่าว่าการล่าสัตว์สงวนนั้นผิดกฎหมาย ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่มโทษหนักจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท ส่วนกรณีส่งออกเจอหนักสุดปรับ 1.5 ล้านบาท แถมจำคุกสูงสุด 15 ปี
ล่าสุดมาจากกรณีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่ากาญจนบุรี กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำด่านฯ ร่วมกับทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองร้อยทหารพรานที่ 1406 และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ จ.กาญจนบุรี จับกุมชาวพม่า 2 คน พร้อมซากเลียงผา มีเขา 2 คู่ ซากชิ้นเนื้อ จำนวน 2 ชิ้น กีบเท้า 4 ชิ้น ขา 6 ชิ้น ซากชิ้นหนัง 10 ชิ้น
การกระทําดังกล่าวถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 17 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 92 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
และ มาตรา 22 ฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ป่าสงวน โดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 จำคุก 3-15 ปี ปรับ 300,000 - 1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ฐานพยายาม รับโทษ 2 ใน 3)



ความเชื่อที่นำหัวและกระดูกของเลียงผาไปต้มกับน้ำมันมะพร้าว ทำเป็นน้ำมันเลียงผา
ในอดีตเลียงผาถูกล่าเป็นจำนวนมาก แต่ละตัวสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการขายน้ำมันเลียงผาได้อย่างมหาศาล ด้วยกระบวนการนำหัวและกระดูกของเลียงผาไปต้มกับน้ำมันมะพร้าวแล้วใส่ขวดขนาด 100-150 ซีซี รายได้ขึ้นอยู่กับปริมาตรน้ำมันมะพร้าวที่ใส่ลงไป
เพราะด้วยความเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ใช้น้ำมันในการรักษาบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกเขา หรือบาดแผลจากการถูกยิง หรือสมานกระดูกที่หักได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
นอกจากการล่าแล้ว การไปทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย และการบุกรุกป่าของคนเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ทำให้หลายพื้นที่ที่เลียงผาเคยอยู่อาศัยถูกไล่ต้อนให้อยู่ตามภูเขาสูงโดยเฉพาะภูเขาหินปูน นอกจากนี้การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณชายเขาหินปูนที่เลียงผามักจะลงมาหาน้ำและอาหารในที่ต่ำทำให้พื้นที่หากินลดลงและถูกล่าได้ง่ายขึ้น เลียงผาจึงลดจำนวนประชากรลงอย่างมาก นอกจากนี้การระเบิดภูเขาเพื่อการผลิตปูนซีเมนต์และเพื่อการผลิตหินคลุก ก็เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยของเลียงผาโดยตรง
เลียงผา เป็นสัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) ในวงศ์มหิงสา (Bovidae) เช่นเดียวกับ วัว ควาย แพะ แกะ อยู่ในวงศ์ย่อยแพะแกะ (Caprinae) และเป็นสัตว์โบราณที่สุดของวงศ์ย่อยแพะแกะ มีรูปร่างคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขอยาว มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี แต่อาจยาวสุดเพียง 32 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ออกหากินตอนเย็นและตอนเช้ามืด กินพืชต่างๆ เป็นอาหาร และชอบอาศัยตามหน้าผาสูงชัน




กำลังโหลดความคิดเห็น