เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารระดับสูง นำโดยสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้เข้าเยี่ยมชมโรงเรียนโนนสะอาดพิทยาและโรงเรียนบ้านโนนทันวิทยา อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็น 2 จาก 12 โรงเรียนในอุปถัมภ์ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) เพื่อติดตามพัฒนาการและผลสัมฤทธิ์ในด้านต่างๆ ปรากฎว่าสร้างบรรยากาศการเรียน-การสอนที่มีความสุข เพิ่มขีดความสามารถครูให้เต็มศักยภาพ
โรงเรียนทั้งหมดเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของโรงเรียนทั่วประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำหรับปัญหาที่โรงเรียนเหล่านี้ประสบแต่แรก ก็คือ ขาดแคลนสื่อและครุภัณฑ์ในการสอน อัตรากำลังครูไม่เพียงพอ และขาดโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสอนที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย
นอกเหนือจากสิ่งจำเป็นอย่างห้องเรียนและวัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อให้เกิดคุณภาพในการเรียน-การสอนแล้ว บ้านปูฯ ยังได้จัดสรรงบประมาณกว่า 20 ล้านบาทเพื่อยกระดับคุณภาพด้านการศึกษา พัฒนาทักษะอาชีพและทักษะชีวิต โดยมอบความรู้ให้แก่บุคลากรของโรงเรียนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครูในระดับปฐมวัยด้วยรูปแบบการสอนแบบ RIECE High Scope โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เน้นให้เกิดพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาอย่างสมดุล การพัฒนาครูระดับประถมและมัธยมต้น ผ่านการจัดอบรมถ่ายทอดเทคนิคการสอนและการใช้สื่อการสอนที่น่าสนใจและได้มาตรฐานในรูปแบบการเรียนรู้ที่เรียกว่า Active Learning โดยวิทยากรจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และฝ่ายมัธยม, การอบรมเชิงปฏิบัติการครูนักออกแบบประสบการณ์ (Experience Designer for Educator) โดยวิทยากรจากโรงเรียนดรุณสิขาลัย, การสร้างเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community) โดยครูในโรงเรียนที่บ้านปูฯ ให้การสนับสนุน จัดฝึกอบรมถ่ายทอดเทคนิคการสอนให้กับเพื่อนครูจากโรงเรียนใกล้เคียงที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ และโครงการเสริมสร้างความรู้ด้านอาชีพและฝึกทักษะด้านนันทนาการ เป็นต้น
สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู กล่าวว่าหลังการให้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียน-การสอน งบประมาณในการจัดกิจกรรมด้านต่างๆ ตลอดจนวางแผนและบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนมาเป็นระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560) ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของบ้านปูฯ ที่ต้องการมีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยในชนบทให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ด้วยการเติมทักษะครูให้มีวิธีการสอนที่ทันต่อยุคสมัย เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณค่าให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมต้น
เป้าหมายของบ้านปูฯ คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคณะครู นักเรียน รวมไปถึงชุมชนโดยรอบ ซึ่งผลลัพธ์นั้นเห็นได้จากสองโรงเรียนที่มาเยี่ยมในครั้งนี้ คือ พลังบวกของครูและนักเรียนระหว่างการเรียน-การสอน เทคนิคการสอนที่มีคุณภาพ ผลการสอบระดับชาติอย่าง O-NET (Ordinary National Educational Test) และ RT (Reading Test) ที่ไต่ลำดับสูงขึ้นเทียบกับโรงเรียนในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและระดับศูนย์เครือข่ายการศึกษา ตลอดจนความสามารถพิเศษและทักษะอาชีพต่างๆ ที่นักเรียนสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในชีวิตได้
การเดินทางมาเยี่ยมชมครั้งนี้ ทางโรงเรียนโนนสะอาดพิทยาและโรงเรียนบ้านโนนทันวิทยา จ.ขอนแก่นได้นำเสนอผลงานที่โรงเรียนภาคภูมิใจ เช่น บรรยากาศการเรียน-การสอนที่มีชีวิตชีวา การมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียนในชั้นเรียน ตามมาด้วยรายงานการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ได้รับการสนับสนุนจากบ้านปูฯ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังเห็นว่ามีพัฒนาการด้านวิชาชีพของนักเรียนที่บ้านปูฯ สนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปอบรมพัฒนาทักษะที่ต่อยอดจากพื้นฐานการประกอบอาชีพของครอบครัวและชุมชนของเด็กนักเรียน เช่น งานช่างตัดผม งานถักและทอพรมเช็ดเท้า งานสานหวด รวมถึงการแสดงทักษะด้านนันทนาการของนักเรียนที่เกิดจากแนวคิดของครูนักปั้น เช่น การเล่นดนตรีโดยเด็กพิเศษ การแสดงคีตะมวยไทย เป็นต้น
สมฤดี กล่าวอีกว่า“ในเวลา 37 ปีที่บ้านปูฯ ขยายการเติบโตในธุรกิจพลังงานจนถึงปัจจุบัน เราดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่ไปด้วยกันตลอดมา และภายใต้แนวคิดที่ว่า “พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา” เราจึงดำเนินโครงการด้านการศึกษาและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปีแล้ว ส่วนในโครงการ CONNEXT ED บ้านปูฯ เน้นเสริมสร้างทักษะความสามารถให้แก่บุคลากรของโรงเรียนทั้ง 12 แห่ง เริ่มตั้งแต่ผู้อำนวยการไปจนถึงครูประจำรายวิชาต่างๆ เพราะเรามองว่าพลังบวกและพลังความรู้ที่ครูได้รับไปจะผลักดันศักยภาพของครูให้กลายเป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ มีความสุขกับทั้งการเรียนให้ห้องเรียน และภูมิใจในทักษะชีวิตที่จะติดตัวพวกเขาไปได้อีกยาวนาน”
ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการฯ ของบ้านปูฯ มีครูจำนวนทั้งหมด 178 คน ที่ได้เข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการเรียน-การสอน ตามแนวคิดของวิทยากรจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีนักเรียนรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 คน ที่ได้รับประโยชน์ ขณะเดียวกัน พนักงานจำนวน 14 คนจากหลากหลายแผนกของบ้านปูฯ ได้อาสาสมัครเป็น School Partner ที่คอยวางแผนและประสานงานกับแต่ละโรงเรียนอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯ การมีส่วนร่วมของพนักงานนับเป็นภารกิจที่สอดคล้องกับ Banpu Heart (บ้านปู ฮาร์ท) วัฒนธรรมองค์กรที่มีค่านิยมครอบคลุมถึงการทำด้วยใจ การห่วงใยแบ่งปัน การผนึกกำลังสร้างเครือข่าย และการมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนและสังคม
ปัจจุบัน 7 โรงเรียนจาก 12 โรงเรียนในอุปถัมภ์ของบ้านปูฯ ได้รับการยอมรับและกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดเทคนิคการสอนออกแบบและผลิตสื่อการสอนให้แก่คุณครูในโรงเรียนใกล้เคียง ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2562 บ้านปูฯ ได้คัดเลือก 3 โรงเรียนเข้าร่วมในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปีการศึกษา 2566 โดยยังคงให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานการศึกษา พร้อมขยายศักยภาพของโรงเรียนให้เป็นแหล่งสร้างและพัฒนาบุคลากรอย่างยั่งยืนต่อไป